June 10, 2018

เปรียบเทียบประสบการณ์ฝึกงานที่ google กับ huawei

(ไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็ตาม ถ้ามารัฐ california ต้องกินเบอร์เกอร์ in-n-out)



ใน 3 ปีที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสไปฝึกงาน software engineer
ที่ google สาขาใหญ่ใน silicon valley ปีละครั้ง
แต่ละครั้งก็ประมาณ 3 เดือน รวมกันได้ 9 เดือนละ

ส่วนในปีที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสไปฝึกงาน research ที่ huawei
สาขาใน silicon valley
ตอนนี้ก็รวมกันเป็นเวลา 9 เดือนแล้ว

มีน้องนักเขียนคนนึง ชื่อสมมติว่า น้องพีท
มีเพจสมมติชื่อว่า เก่งอังกฤษชีวิตเปลี่ยน
(ไป like ซะนะ ท่านผู้อ่าน ของดีทั้งนั้น)

แนะนำว่า

ไหนๆก็ทำงานสองที่ใหญ่ๆใน silicon valley
ทั้งวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก
ในฐานะเด็กฝึกงานคล้ายๆกัน
เป็นเวลาเท่าๆกัน

เขียนเปรียบเทียบประสบการณ์น่าจะน่าสนใจเนอะ



โพสนี้เราจะมาเล่าประสบการณ์แต่ละที่แบบสรุปๆ
แล้วก็จะเปรียบเทียบให้ฟังว่า
การทำงานทั้งสองที่นี้มันมีความคล้ายความต่างกันยังไง

เพื่อความกระชับ เราจะใช้ศัพท์ programmer บ้าง
(คาดว่าคนที่เข้ามาอ่านน่าจะเป็น programmer ส่วนนึง)
แต่จะพยายามไม่ให้มันเยอะ หรือน่ารำคาญเกินไป สำหรับผู้อ่านที่ไม่แคร์เรื่อง IT เท่าไร


Google




ประสบการณ์ Google ซัมเมอร์แรก (3 เดือน)


(อ่านประสบการณ์สัมภาษณ์ที่นี่ และ ประสบการณ์ฝึกงานละเอียดได้ที่นี่)

อยู่อเมริกามานาน ทำงานไป 2-3 ที่แล้ว
แต่อันนี้เป็นครั้งแรกเลย ที่จะได้ทำงานบริษัทใหญ่ใน silicon valley

โปรเจคที่ทำเกี่ยวกับ continuous integration

ถ้าเกิด software ของ google ใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการ compile และ run test
ซึ่งทำให้สามารถ compile และ run test ได้ชั่วโมงละครั้ง (แทนที่จะทำทุก commit แบบ CI ทั่วไป)

ทำยังไงถึงจะรู้ได้เร็วที่สุดว่า commit ของใคร break build 

หัวหน้า: คณลุงฝรั่ง software engineer รุ่นใหญ่ เก๋าเกมส์ expert java
โค้ดโคตรสวย design สวย แต่หาตัวยาก
ใช้เวลารีวิวโค้ดนาน แต่เวลารีวิวที ได้เรียนรู้ design ดีๆเยอะ 

รองหัวหน้า: พี่แขก ช่วยรีวิวโค้ดให้นิดหน่อย ไม่ได้ทำงานด้วยกันเท่าไร

ผลงานตอนจบ

ส่งงานได้ใช้ทันการพอดี
มี commit อันนึง break build แล้วโค้ดของเราจับได้
ตอน present เลยออกมาดูดี


Google ซัมเมอร์ที่สอง (3 เดือน) 


 (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่)

โปรเจคที่ทำเกี่ยบกับ database query engine ภายในของ google

ภาษา query มีความซับซ้อนกว่า sql ทั่วไป
ระบบยังค่อนข้างใหม่อยู่
ถ้ามี error คือ ต้องลอง run query และส่ง request ให้ server ต่างๆนั้นถึงจะรู้ว่ามี error

ทำยังไงถึงจะรู้ว่า query มีปัญหาได้ โดยไม่ต้อง run query

หัวหน้า: เจ๊อินเดีย software engineer กำลังอยู่ในช่วงเลื่อนขั้นเลยขยัน
วิธีทำงานชอบให้ส่งงานทีละชิ้นใหญ่ๆ (ไม่หั่นงานให้เล็ก)
อยมาช่วยเหลือถามทุกข์สุข ติดตรงไหนไหม ฯลฯ ทุกวัน
หาตัวง่าย รีวิวโค้ดค่อนข้างเร็ว 

รองหัวหน้า: พี่ฝรั่ง ชอบวิ่งมาราธอน
เป็น senior software engineer
พูดน้อย แต่ให้ feedback ดีและเยอะเวลาทำโค้ดรีวิว

ผลงานตอนจบ

ส่งงานตามเป้าหมาย สิ่งที่ทำเป็นประโยชน์กับทีม
Impact กับบริษัทไม่เยอะเท่าฝึกงานครั้งแรก
แต่มีความสนิทและได้ทำงานใกล้ชิดกับหัวหน้า มากกว่าคราวที่แล้ว 


Google ซัมเมอร์ที่สาม (3 เดือน)


โปรเจคที่ทำเกี่ยวกับ service ตัวนึงใน google

Request ที่เข้ามาแต่ละอัน ใช้เวลาประมวลผลนาน (หลายวินาที-เป็นนาที)
แต่พฤติกรรมของผู้ใช้ค่อนข้างจะคาดเดาได้ (เช่นตื่นมาเปิดพยากรณ์อากาศทุกวัน)

ทำยังไงถึงจะเดา request ของ user มา cache ไว้ล่วงหน้าก่อนที่ user จะ request ได้

หัวหน้า: ลุงแขก software engineer รุ่นใหญ่
ดูท่าทางงานเยอะตลอดเวลา
แต่ใจดี มีเวลาให้ตลอด
รีวิวโค้ดเร็วมาก
ให้อิสระการทำงานเต็มที่ มาเลท กลับดึก ต้องเดินทาง ทำงานชดเชย จัดการเวลาเอาเอง
(จริงๆ คนอื่นก็ไม่ว่า แต่ลุงเป็นคนเดียวที่พูดออกมาเลยว่า โอเค)

รองหัวหน้า: พี่จีน senior software engineer ได้ทำงานด้วยกันนิดหน่อย ไม่มีอะไรพิเศษมาก
แต่ได้กินไอติมฟรีด้วยกันทีนึง

ผลงานตอนจบ

ทำไม่ได้ตามที่หวังไว้เท่าไร
เพราะโปรเจคถือว่าค่อนข้างจะฝันไกลเกินตัวไปหน่อย

ขนาดหัวหน้าก็ยังไม่ชัวร์เลยว่าทำยังไงผลลัพธ์ถึงจะออกมาดี
แต่เอาตัวรอดมาได้เพราะเพิ่ม cache hit rate ได้นิดหน่อย
และวิเคราะห์ข้อมูลออกมาให้ทีมว่า
ถ้าจะให้ hit rate สูงกว่านี้จะต้องแก้ตรงไหนบ้าง

ปรากฏว่ารอบนี้ เหมือนแบบผลลัพธ์และ impact แย่สุด
แต่รู้สึกว่าเข้ากับหัวหน้าได้ที่สุด
และได้ evaluation ปากเปล่าที่โคตรดีเทียบกับครั้งก่อนๆ


Huawei

(ลืมถ่ายรูปตึก แต่มีรูปของที่ให้พนักงานใหม่)


Huawei เดือน 0-4


โปรเจคที่ได้คือช่วยเขียน compiler ตัวนึง ที่เฉพาะทางด้านการคูณ matrix 

(สวยปะ เราวาดเอง รูป tensor)

หัวหน้า: เด็กจบเอกจากมหาลัยที่เราเรียนอยู่
มีความเป็นหุ่นยนต์ ไม่แสดงอารมณ์มาก
แต่เก่งเลยแหละ

เขียนภาษา haskell เป็นหลัก เราเลยได้เรียน functional programming ของแท้ๆก็ตอนนี้

ผลงาน

ได้ publish paper อันนึง (second author)
ได้ความรู้ค่อนข้างเยอะ 

แตตตตตต่

ช่วงนี้เริ่มมีอาการความเครียดขึ้นมา
บางทีผลลัพธ์ของโปรเจคไม่ค่อยน่าพอใจเลยรู้สึกกดดัน

มีตั้งแต่อาการนอนไม่หลับกังวลว่าจะโดนว่าเรื่องงาน
คลื่นไส้เวลานึกถึงงาน
หน้าบึ้ง ยิ้มยาก
เริ่มดูหนังดาร์ค เริ่มศึกษาเรื่องโรคซึมเศร้า เพราะกลัวเป็น

จบสี่เดือนแรก เป็นช่วงบินกลับไทยปีใหม่พอดี
คิดว่าการกลับไปเจอที่บ้าน และเพื่อนเก่าจะช่วยให้ความเครียดหายไป
เลยปล่อยให้มันเครียดไปจนถึงปีใหม่


Huawei เดือน 4-5


โปรเจคที่ทำตอนนี้ค่อนข้างคลุมเครือ
เหมือนทั้งทีมพยายามลองไอเดียวิจัยใหม่ๆอยู่
ยังไม่มีทิศทางชัดเจน

สิ่งที่เราทำ คือ เขียน python script อ่าน input
และส่งสิ่งที่อ่านได้ ไปให้ component อื่นๆ

ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้มีความตื่นเต้นอะไรเลย

หัวหน้า: director แลบ คนจีน
เวลาทำงานลงรายละเอียดค่อนข้างเยอะ
มีอะไรอยากได้ก็จะบอกเดี๋ยวนั้น
เป็นนักวิทยาศาสตร์จ๋า เชี่ยวชาญเรื่อง compiler เก่งในเรื่องสร้างผลงานวิจัย
ในฐานะหัวหน้าก็ manage ทีมแบบตะวันออก
(คำสั่งมาจากเบื้องบน และถ้าทุกคนทำตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานจะออกมาเร็ว และถูกใจเจ้านาย)
และไม่เชี่ยวชาญเรื่องการเขียนโปรแกรม

สภาวะหลังเวลาผ่านไป

อาการเครียดกลับมาแบบเร็วมาก
เพราะ ไม่เข้าใจว่า ไอ้การทำแบบนี้มันจะช่วยให้จบ เอก ได้ยังไง
(เกริ่นนิดนึง ตอนแรกที่มาทำงานที่นี่เพราะอยากทำงานวิจัยที่จะได้จบเอกเร็วขึ้น)

แถมมีความกดดันเพิ่มขึ้นมาอีก 

ช่วงนี้พยายามประคองชีวิตด้วยการหาเพื่อนคนไทยกินข้าวด้วยตอนเที่ยงๆ
อย่างน้อยจะได้พักความเครียดตอนกลางวันบ้าง
ก่อนกลับไปเครียดใหม่ช่วงบ่าย
(ขอบคุณทุกคนที่กินข้าวเป็นเพื่อนนะ ถ้าได้เข้ามาอ่าน)

แต่ก็สรุป ทนไม่ไหว

ตั้งใจจะลาออกนะ แต่ก็ยังเกรงใจอาจารย์ที่ปรึกษา
ไม่อยากทำอะไรโดยไม่ปรึกษาก่อน

ก็โทรไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา
จากนั้นก็คุยกับหัวหน้าอย่างเปิดใจ

พอคุยกันจริงๆ หัวหน้าก็เห็นใจและพยายามแก้ปัญหา

หลังจากคุยกันแล้ว
หัวหน้าก็พยายามเลือกอะไรที่เกี่ยวกับงานวิจัยให้เราได้ทำมากขึ้น

 สรุปว่าคุยตรงๆตั้งแต่แรกก็จบแล้ว
คิดว่า หัวหน้าคงยังไม่เคยเจอ คนเครียดง่ายอย่างเรา มาร่วมทีม



Huawei เดือน 5-9


โปรเจค คือ ออกแบบ programming language และสร้าง compiler
เพื่อตอบโจทย์พนักงานที่เขียน algorithm ภายใน huawei

ในที่สุดก็ได้รู้สึกว่าทำอะไรที่รู้สึกมีคุณค่าหน่อย
รู้สึกตื่นเต้นกับงานแล้ว และความเครียดก็หายไป

มีแค่ความเหนื่อยกายและปวดกล้ามเนื้อคอไหล่ข้อมือ
จาก deadline ที่กระชั้นและการทำงานหนักติดต่อกันนานๆ

(ถ้าไม่มี keyboard นี้ คงได้ไปหาหมอแน่)

แต่โดยรวม คือ เห็นคุณค่าของงานและน่าจะได้เอาไปใช้ในวิทยานิพนธ์ ป เอก
ก็เลยไม่มีปัญหาอะไร สู้ได้อยู่ 

ตอนนี้ก็ยังทำงานอยู่ และคงทำงานต่อไปอีกซักพัก
ถ้ามีอะไรน่าสนใจคงเอามาแชร์อีก


เปรียบเทียบประสบการณ์




ก่อนอื่นอยากจะบอกว่า
นี่เป็นประสบการณ์ส่วนตัว
กับทีมๆที่เฉพาะ
กับโปรเจคที่เฉพาะ 

ไม่อยากให้คนอ่านตีความหรือสรุปแค่ว่า “huawei ดีกว่า google”
หรือ “การทำงานแบบจีนแย่กว่าแบบฝรั่ง”

บางอย่างนี่น่าจะชัดเลยว่าไม่เกี่ยวกับ
จีน vs ฝรั่ง
google vs huawei

แต่เกี่ยวกับทำเล ทีมและโปรเจคที่ทำอยู่ล้วนๆ 

อยากให้อ่านแล้ว เอาไปคิดประมาณว่า 
หลังจากอ่านประสบการณ์พวกนี้ มันมีอะไรบ้างที่คล้ายกับประสบการณ์ของเรา
และจะเอาอะไรไปใช้ได้บ้าง”


การสั่งงานและอัพเดท status


มีบทความนึงเคยอ่าน

ลองเอาไปอ่านดูนะ

สรุปคือ การทำงานแบบเอเชียกับแบบตะวันตกมันต่างกัน

แบบเอเชียเน้นเจ้านายสั่งลูกน้อง
แบบตะวันตกให้อิสระในความคิดเยอะ 

มันไม่มีอะไรถูก แค่ต้องใช้ให้เหมาะกับทีม
เพราะการบริหารงานแต่ละแบบมันดีกว่าอีกแบบนึงในคนละสถานการณ์

ที่ google รู้สึกค่อนข้าง free style เลยแหละ
เจ้านายให้โปรเจคมาแล้วก็บอกทิศทางคร่าวๆ
ปล่อยเราไปทำงาน
แล้วติดอะไร นานๆทีก็จะถามไป 

ที่ huawei เราไม่เคยติดอะไรแล้วถามหัวหน้า
เพราะว่า หัวหน้าถามมาก่อนตลอดว่าถึงไหนแล้ว
หลังจากนี้มีอะไรทำอีกไหม
มีอะไรที่คนอื่นในทีมรอเราอยู่ไหม 

ซึ่งบุคลิกของเรา ชอบแบบ google มากกว่า ไม่ชอบความกดดันเครียดง่าย
แต่ในทางกลับกัน ผลงานที่ huawei เราผลิตออกมาได้มากกว่าตอนทำงาน google ค่อนข้างเยอะ


การแบ่งข้อมูลระหว่างทีม


อันนี้เห็นได้ชัดว่า google เปิดมาก ทุกคนแชร์โค้ดกันหมดยกเว้นมัน sensitive จริงๆ (https://www.wired.com/2015/09/google-2-billion-lines-codeand-one-place/)

ข้อดีคือแบบ
เราสามารถใช้อะไรที่คนอื่นเสียเวลาสร้างมาได้เลย
ไม่ต้องมาสร้างอะไรใหม่ตลอด
ค่อนข้างชอบตรงนี้
และที่สำคัญเราสามารถเข้าไปเรียนรู้การเขียนโค้ดของคนอื่นได้ด้วย 

ในทางกลับกันที่ huawei เราไม่รู้เลยว่าทีมข้างๆทำอะไร
เหมือนทุกอย่างจะเป็นความลับระหว่างทีม
เราเดาว่าน่าจะมีการแข่งขันระหว่างทีมด้วย

ข้อดีก็มีนะ คิดว่าทำให้เรามุ่งมั่นทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด
เพราะต้องดีกว่าทีมอื่น 

ข้อเสียก็คือ สำหรับทั้งบริษัทน่าจะมีการทำอะไรซ้ำซากเยอะ
และเราก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
เช่น ต้องมานั่งทำ dev ops ของทีมตัวเอง
ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่มีใครทำเป็นเท่าไร ต้องเรียนรู้ใหม่ไปด้วยกันหมด


การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ


ตอนอยู่ google สิ่งหลักๆที่เรียนรู้ คือ วิธีการเขียนโค้ดที่ดี มีคุณภาพ
หลักๆที่ใช้ก็ C++ กับ Java ก็จะเป็นการเขียนโค้ดแบบ object oriented ให้ดีซะส่วนใหญ่

ถ้าโชคดีก็จะได้จับเรื่องการออกแบบระบบนิดนึง
แต่ในฐานะเด็กฝึกงาน มันก็จะเป็น scope ที่เล็กอยู่ 

ตอนอยู่ huawei เนื่องจากโปรเจคที่ทำมันเป็นการวิจัย
ไม่ใช่การพัฒนาโปรแกรม
เป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ ทดลองสมมติฐานให้เร็วที่สุด
และโชว์ผลงานให้คนอื่น

มันก็จะมีทีมที่เต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งสาขาของตัวเอง
แต่ไม่จำเป็นต้องแกร่งเขียนโปรแกรม

แต่เพื่อให้มีผลงานเร็วที่สุด
ถึงแม้ว่าบางคนเขียนภาษานี้ไม่เป็น บางคนเขียนภาษานั้นไม่เป็น
ต้องพยายามแบ่งงานกันและให้ทุกคนช่วยกันเป็นทีมให้ได้

เรามีประสบการณ์เขียนโปรแกรมมากกว่าการวิจัย เลยได้ฝึกการรีวิวโค้ดคนอื่น
ได้ฝึกการ design ระบบ ฯลฯ

อันนี้ให้ความรู้สึกคล้ายๆตอนที่เคยทำงานใน start up
เพียงแต่ว่าที่นี่มีนักวิทยาศาสตร์เยอะกว่า
ส่วนที่ start up มี software engineer ซะเยอะกว่า
เป้าหมายมันต่างกันนิดหน่อย แต่สิ่งที่เรียนรู้มหาศาลเหมือนกัน

ต้องบอกว่า ประสบการณ์ที่ huawei ได้เรียนรู้มากกว่าตอนอยู่ google


อาหารและตัวออฟฟิส


ที่ google มีออฟฟิสที่เปิด มีสีสัน รู้สึกโปร่ง
มีอาหารคุณภาพดีให้กิน
สะดวกมาก รู้สึกน่าทำงาน 

ที่ huawei มีออฟฟิสสีเทาๆ หลอดนีออน
ทำงานในกำแพงสูงๆสีเทา ไม่เห็นดวงตะวัน (ไม่เห็นจริงๆอะ)
มีกาแฟกับชาให้กิน
มีโรงอาหารที่ขายอาหารอยู่ แต่ส่วนตัวชอบออกไปกินข้างนอกมากกว่า

พอมานั่งคิดดีๆ
โดยรวมไม่มีผลกับผลงานเท่าไร
ถ้าบริษัทมีงานที่ทำให้รู้สึกกระตือรือร้น ถึงไม่มีอาการฟรีก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่

แต่ก็ไม่แน่
อาจจะมีผล เพราะอาจจะเกิดการเปรียบเทียบ


คุณภาพโค้ด


อันนี้ต้องให้ google เพราะทุกคนเป็น software engineer
ถ้าโค้ดคุณภาพไม่ผ่าน ยังไงก็จะไม่ได้ commit
แบบรักษาคุณภาพงานขั้นสูงสุด

ส่วนที่ huawei ทุกคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ก่อน
เรื่อง software engineer บางคนมีประสบการณ์เยอะ แต่บางคนไม่ค่อยมีประสบการณ์

เรามักจะเจออารมณ์ประมาณว่าคุณภาพโค้ดไม่ผ่าน
แต่เนื่องจากมี deadline ให้ยอม approve ไปก่อน

พอมาคิดดู
เราคิดว่าอันนี้มันเกี่ยวกับเรื่อง เวลานะ

“ถ้าให้เวลา x จะทำยังไงถึงจะใช้เวลาให้คุ้มที่สุด” 

ที่ google เวลา x นี่คือเวลาเป็นเดือนๆปีๆ
การลงทุนเวลาที่ดี คือ ลงทุนในคุณภาพ
ถ้าพนักงานใหม่เข้ามาเห็นโค้ดตัวนี้ จะต้องสานต่อได้ระยะยาว

ที่ huawei เวลา x นี่คือหนึ่งสัปดาห์ หรือ ไม่กี่วัน
การลงทุนเวลาที่ดี คือ ลงทุนในการส่งงานให้ทัน
ถ้ามีงานที่ต้องทำต่อจากอันนี้ต้องส่งภายในอาทิตย์หน้า
ให้ผ่านๆไปก่อนถ้ามันไม่ได้แย่ขนาดนั้น


ความกดดัน


ที่ google เนื่องจากมันเป็นบริษัทที่โตแล้ว
มันมีหลายๆอย่างที่ผ่านสงครามมาเยอะและลงตัวแล้ว
แต่ละทีมที่เราเข้าไปทำ มันก็จะเป็นโปรเจคที่เลือกมาให้เด็กฝึกงานแล้ว
แบบถึงทำอะไรพลาดก็ไม่กระทบคนอื่นเท่าไร 

ที่ huawei ฝั่ง silicon valley เป็นแลบวิจัย
เหมือนยังมีสถานะสู้ทาง HQ ที่ประเทศจีนไม่ได้
การทำอะไรรู้สึกว่าถูกกำหนดมาจากฝั่ง HQ ซะส่วนใหญ่
และทำให้รู้สึกเหมือนโดนกดดันอยู่ตลอดเวลา
ถ้าทำอะไรพลาด อาจจะกระทบกับทีมได้ 

เข้าเรื่องของความกดดันนิดนึง มันคือๆ กับความเครียด

เราเคยคุยในโพสที่ผ่านมา
ว่าความกดดันที่พอควรมันมีประโยชน์
ความกดดันน้อยเกิน ไม่เกิดการพัฒนา
ความกดดันเยอะเกิน ส่งผลเสียกับสุขภาพ

เรารู้สึกว่า google เอียงไปทางความกดดันน้อยเกิน
และ huawei เอียงไปทางความกดดันเยอะเกิน


สรุป



เรารู้สึกว่าเราได้หลุดเข้าไปในที่ทำงานสองที่ที่มีวิธีการทำงานที่ต่างกันมากๆ
ได้เจอข้อดีและข้อเสียของแต่ละที่
ทำให้ได้เห็นหลายๆอย่างเป็นสีเทา
และแก้ปัญหาด้วยการหาสีเทาที่เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์

ที่เขียนนี่คือจากมุมมองของเรานะ 
คนอื่นอ่านแล้วอาจจะมีมุมมองอื่น
อ่านแล้วได้ไอเดีย หรือ ข้อคิดอะไรก็เอามาบอกๆกันบ้างนะ

บรัยยย

May 06, 2018

ทำไมทักแล้วไม่ตอบ

สี่แยกนึงในโตเกียวคนเป็นร้อย
ถ้าเดินสวนกับเพื่อนจะมองเห็นมันหรือเปล่า


เดินสวนแล้วไม่ทัก


เราเคยโดนเพื่อนคนนึงโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเลย
สาเหตุก็เพราะว่าเดินสวนกัน มองหน้าแล้วไม่ทัก

จากมุมมองของเรา คือ คนเยอะ เรามองไม่เห็นมัน แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเราเดินสวนมันด้วย
จากมุมมองของมัน คือ เราสบตามัน รู้ว่าเห็นแน่นอน แต่ไม่ยอมทัก

มันก็โกรธๆๆๆๆ ที่เราไม่ทัก
เราก็โกรธๆๆๆๆ ที่มันกล่าวหา

เวลาผ่านไปก็ลืมๆไป

สุดท้ายตอนนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่ฉุน เสียอารมณ์
โอเค เนี่ยแหละ ดราม่าในชีวิตประจำวัน

มองไปรอบๆตัว
มีรุ่นน้องก็เจอเหตุการณ์คล้ายกัน
เดินสวนกับเพื่อน มองไม่เห็นเลยไม่ทัก
เพื่อนมันบอกว่า สบตากันจะๆ ตอแหล
(คุ้นๆหวะ)
ดราม่ากันจนแทบจะเลิกคบกัน

โห เรื่องเป็นเพื่อนกันทักแล้วไม่ตอบนี่เป็นเรื่องใหญ่นะเนี่ย


seen แล้วไม่ตอบ


แต่ทีนี้ ถ้าย้ายสถานการณ์เป็นการแชทผ่านมือถือ
มันจะมีปรากฏการณ์ seen แล้วไม่ตอบ

ถ้าเป็นกรุ๊ปแชท ก็จะเปรียบเทียบกับการที่หัวหน้าพูดในที่ประชุมว่า
“ใครจะไปกินข้าวพร้อมกันบ้าง”
แล้วบางคนที่ไปก็ตอบ
ส่วนคนที่ไม่ไปก็เมินแล้วก็เดินออกไปนอกห้อง ไม่แม้แต่จะตอบว่า “ไม่”

ถ้าเป็นแชทกันเดี่ยวๆ ก็จะเปรียบเทียบเหมือนเราถามเพื่อนว่า เป็นงัยบ้างไม่เจอนาน
แล้วเพื่อนก็มอง แล้วก็เดินผ่านไปทำกิจกรรมอื่น

จะเห็นว่า พอวิธีการสื่อสารเปลี่ยนไป (จากต่อหน้า กลายเป็นผ่านโทรศัพท์)
คนเราจะคาดหวังกันคนละอย่าง (อาจจะไม่ถึงขั้นดราม่าจนแทบจะเลิกคบ แต่บ่อยๆก็ฉุนได้)

พอการสื่อสารมันมีหลายทาง
มันจะเริ่มมีความไม่เท่าเทียมกันของการสื่อสารแต่ละทาง


การพูด เขียน กระทำ ไม่ตรงกัน


มีเพื่อนที่แบบตอนเจอกัน นี่เงียบจบไม่ชัวร์ว่าจะคุยเรื่องอะไร
พอมาดูเฟสบุคมัน พูดเยอะ เฮฮา โพสรูปสวยๆ เยอะ ฯลฯ

แล้วก็มีเพื่อนที่ทักมันไปทางแชท แล้วกลัวเพราะมันตอบมาเย็นชาตลอด
สั้นๆตลอด อะไรๆก็ตอบ k
แต่พอมาเจอตัวจริง เฮฮา ร่าเริงสนุกสนาน

แล้วก็มีคนประเภทที่ทำงานด้วยแล้วปวดหัว
เพราะ พูดแล้วทำไม่ตรงกัน
บอกจะอัพเดทงานอีกทีวันพรุ่งนี้ แล้วก็หาย

แล้วก็มีคนประเภทที่ควรจะหลบไว้
คือ พวกที่คุยดี เวลาที่เราเป็นประโยชน์กับเค้า (เวลาเค้ามาขอความช่วยเหลือ)
แต่พอเวลาผ่านไปซักพัก เราก็เป็นขี้ โดนเมิน

แล้วก็มีคนที่ปากกับการกระทำไม่ตรงกัน
เห็นเพื่อนกินเหล้า ก็ด่า ซักพัก เห็นมันนั่งกินเหล้าอยู่
งงเลย

มีอีกหลายๆตัวอย่าง แต่หวังว่าผู้อ่านพอจะเห็นประเด็น


เข้าเรื่อง


ก็เลยเป็นที่มาขอโพสนี้
เวลาคนเราสื่อสารสองรูปแบบแล้วมันไม่ตรงกัน
มันมีข้อดีข้อเสียยังไงบ้าง

ขอแบ่งการสื่อสารเป็น 3 แบบนะ
(1) การพูด
(2) การเขียน
(3) การกระทำ


เมื่อความหมายไม่ตรงกัน


ถ้าปากบอกว่าไม่ชอบกินเหล้า
แต่ตัวเองกินเหล้า

หรือเขียนใน resume ว่าตัวเองใช้ word เป็น
แต่ในโลกความเป็นจริงใช้ไม่เป็น

อันนี้ค่อนข้างจะไม่เป็นที่ยอมรับทางสังคมเท่าไร
คิดว่า คนเราอย่างน้อย ควรจะ พยายาม ที่จะทำให้การพูดการเขียนการกระทำตรงกัน
มันมีผลประโยชน์กับตัวเองในระยะยาว ในเรื่องการอยู่รอดในสังคมกับคนอื่น

ก็อาจจะมีบางครั้งที่เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงๆ
เช่น ปากบอกว่ารักสิ่งแวดล้อม แต่เลือกใช้ถุงกระดาษแล้วทิ้ง
แทนที่จะใช้ถุงพลาสติกซ้ำไปเรื่อยๆ
เพราะไม่รู้ว่า กรรมวิธีการทำถุงกระดาษก็มีผลเสียกับสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน

แต่อย่างน้อยถ้าเราพยายาม ทำให้พูดเขียนกระทำ ตรงกัน
มันจะมีผลดีในระยะยาว


เมื่อปริมาณไม่ตรงกัน


อันนี้เป็นเรื่องจำนวนคำพูด ปริมาณเนื้อหาที่สื่อสารในแต่ละช่องทาง

เมื่อเป็นคนที่พูดไม่เก่ง
แต่พอเข้าไปดู twitter feed เขียนได้เยอะมาก

เมื่อเป็นคนไม่พูด ไม่เขียนอะไรทั้งสิ้น
แต่ทำงานเก่งมาก

อันนี้ไม่มีอะไรผิด สังคมก็ไม่ได้ว่าอะไร

แต่อันนี้อาจจะทำให้คนสนิทกันช้าลงได้
เพราะ คนจะไม่รู้จักเราจริงๆจนกระทั่งได้เห็นตัวตนของเราในช่องทางที่เราสื่อสารเยอะสุด

อาจจะทำให้พลาดโอกาสที่คนจะได้ประโยชน์จากผลงานดีๆของเรา

อาจจะทำให้เจ้านายให้ promotion คนที่ทำงานเก่งน้อยกว่าเรา แต่อธิบายงานของตัวเองบ่อยกว่าเรา


เมื่อคุณภาพไม่ตรงกัน


อันนี้เป็นเรื่องการสื่อสารให้อีกฝ่ายรับรู้อารมณ์และสิ่งที่เราต้องการบอกได้ชัดที่สุด

เมื่อตอนนัดเจอกันทางแชท ตอบห้วนๆ เหมือนไม่ได้อยากไป (ไม่ได้สื่อสารอารมณ์ชัดเจน)
แต่ตอนเจอหน้ายิ้มแย้ม บอกว่าดีใจที่ได้เจอ (สื่อสารอารมณ์ชัดเจน)

เมื่อตอนอยู่เฉยๆ ดูไม่ได้รู้สึกดีๆกับเราเท่าไร
แต่พอถึงงานวันเกิดให้ของขวัญที่รู้เลยว่า ใช้ความคิดและนึกถึงเราเยอะ

เมื่อเป็นคนพูดจาเงอะๆงะๆ
แต่เขียนเล่าความคิดออกมาเข้าใจได้ง่ายมาก

อันนี้ก็ไม่มีอะไรผิดเหมือนกัน สังคมก็ไม่ได้ว่าอะไร

แต่ก็มีผลเสียคล้ายๆกับเรื่องการสื่อสารในปริมาณที่ไม่เท่ากันในแต่ละช่องทาง

อาจจะทำให้คนไม่เก็ตประเด็นเรา
หรืออาจจะทำให้คนเข้าใจเราอารมณ์เราผิดได้


เมื่อไม่เสมอต้นเสมอปลาย


เมื่อเพื่อนสนิทกันแล้วพอหลังแยกย้าย
คุยกันอีกที เหมือนไม่สนิทแล้ว

เมื่อเวลามีอะไรให้ช่วยจะคุยเยอะ
พอช่วยเสร็จแล้วก็หายไป

เพื่อนสนิทที่หายสนิท
สาเหตุก็อาจจะเป็นเพราะ
การที่ตัวอยู่ใกล้ ก็เลยเจอเยอะ เลยคุยเยอะ ก็เลยสนิท
พอแยกย้ายตัวอยู่ไกล เลยไม่เจอเยอะ ไม่คุยเยอะแล้ว

ส่วนเพื่อนที่คุยด้วยเฉพาะเวลาที่จะให้ช่วย
ก็อาจจะคล้ายๆเรื่อง demand supply
ที่ว่าพอเรามี supply (ช่วยคนๆได้)
คนที่มี demand (ต้องการความช่วยเหลือ) ก็มาคุยกันเรา
พอ demand น้อยลง (ไม่ต้องการความช่วยเหลือแล้ว) ก็หายไป

ฟังดูเป็นกลไกธรรมชาติ
แต่บางทีมันก็เศร้าๆนิดนึง ในกรณีที่คนที่เคยสนิท หายสนิท
แล้วบางทีก็รู้สึกจ๋อยนิดนึง เวลาเพื่อนติดต่อแต่เวลาที่ต้องการความช่วยเหลือ
แทนที่จะคุยกับเราเพราะอยากคุยกับเรา

อย่างน้อยถ้าเราเสมอต้นเสมอปลายกับคนอื่น
ก็น่าจะลดความเศร้าและความจ๋อยให้คนอื่นได้บ้าง


หมายเหตุ


ไอ้ที่เราแยกเป็นหัวข้อๆข้างบน ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างแยกกันชัดเจน
อย่างเรื่องเวลาพูดถึง ปริมาณและคุณภาพการสื่อสาร
หลายๆอย่างมันก็ฟังดูคล้ายๆกัน เช่น
เป็นคนพูดน้อย แต่ทำงานหนัก


หมายเหตุ 2


ก่อนจะจบโพส อยากหมายเหตุอีกอย่างไว้ก่อน

หลายๆอย่างที่เขียนมา
ก็มีเรื่องบุคลิก ความถนัด ความเป็นส่วนตัว มาเกี่ยวข้องด้วย

เช่น เป็นพวก introvert ถ้าไม่สนิทก็จะไม่เห็นคุย
แต่ถ้าแอบไปส่อง facebook เห็นเขียนเยอะ

หรือ เป็นพวกมีความเป็นส่วนตัวสูง
ไม่เล่น social network อะไรเลย
เชื่อแต่ในโทรศัพท์และการพูดคุยต่อหน้าเท่านั้น

คงจะบ้าเกิน ถ้าบอกว่า คนบุคลิกนี้ ถูก หรือ ผิด
(เอาจริงๆการตัดสินว่าคนนี้ถูกหรือผิด ไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ก็ไม่ค่อยสมควรอยู่แล้ว)

เลยอยากจะบอกว่า โพสนี้หลักๆ คือ
ไม่ได้ตั้งใจที่จะตัดสินคนที่การสื่อสารไม่ตรงกัน

แต่แค่อยากที่จะตั้งข้อสังเกตและเอามาเขียน
และเสนอความเห็นส่วนตัวที่ว่า การที่สื่อสารตรงกันในหลายๆด้าน
มันมีประโยชน์ เท่านั้นแหละ


สรุป


ลองกลับมามองตัวเองดูเล่นๆ

เวลาพูดกับเขียน ทำอะไรเยอะกว่าหรือเปล่า
เป็นคนขี้เกียจพูดมาก แต่ชอบลงมือทำหรือเปล่า

บางทีลองสื่อสารในช่องทางที่ไม่ถนัดดู
มันก็เป็นแบบฝึกหัดที่สนุกดี

จากประสบการณ์
การที่เป็นคนที่สื่อสารดีขึ้นและตรงกันโดยรวมในหลายๆด้าน
ทำให้เพื่อนรับรู้อารมณ์เราได้ดีขึ้น
ทำให้เจ้านายรับรู้ถึงผลงานเราได้ดีขึ้น
และแก้ปัญหาร่วมกับคนอื่นได้ดีขึ้นนะ

March 29, 2018

การสร้างความเดือดร้อนในทางที่ดี


(การยกน้ำหนัก มันก็เหมือนการสร้างความเดือดร้อนให้กล้ามเนื้อนะ)

เรามีเพื่อนหลายคนอยู่ที่ถือคติประมาณว่า
เรื่องแย่ๆของเรา จะเอาไปหนักหัวคนอื่นทำไม
ถ้าคนเสนอช่วยอะไรก็ไม่อยากลำบากเค้ามาก
พยายามจัดการเองดีกว่า

เพื่อนพวกนี้เรานับถืออะ
คือมีจิตใจที่ไม่อยากสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น
ควรคบไว้นะ

ในทางกลับกันก็จะมีเพื่อนที่มักจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น
จนกระทั่งเดือดร้อนและเสียเวลาคนอื่นจริงๆ
ซึ่งพวกนี้เราไม่ค่อยนับถือเท่าไร
เหมือนไม่พยายามทำอะไรเองแล้วหวังแต่จะพึ่งคนอื่น

ประเด็นก็คือ แล้วตรงกลางมันอยู่ที่ไหน

เพื่อนที่แก้ปัญหาทุกอย่างด้วยตัวเอง
อาจจะแย้งว่า เดือดร้อนคนอื่นน้อยเท่าไรยิ่งดี

แต่เรามีความคิดที่ว่า ควรจะเดือดร้อนคนอื่นในประมาณที่กำลังพอดีตะหาก

มันก็เหมือนความเครียดนะ
ความเครียดมากๆ หยุดการเจริญเติบโตของร่างกาย
หยุดภูมิคุ้มกัน และมีผลเสียกับร่างกายและจิตใจเยอะ

แต่ความเครียดที่กำลังพอดีที่เราสามารถเอาชนะได้
มันทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นโดยไม่เสียสุขภาพเกินไป

เช่น การบ้านที่ยากแต่พอทำได้
ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาได้ถ่องแท้มากขึ้น
และได้ความรู้สึกฟินหลังจากสามารถแก้การบ้านข้อนั้นได้

การยกน้ำหนัก
ถ้ายกหนักเกินตั้งแต่แรก อาจจะทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกพัง
แต่ถ้ายกมากกว่าที่ร่างกายปกติยกได้ นิดนึง
เราจะพอฝืนยกได้ และกล้ามเนื้อเราก็จะพัฒนา

เข้าเรื่องการแชร์เรื่องแย่และการรับความช่วยเหลือคนอื่นได้ละ
ทั้งคู่เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น
แต่ถ้าสร้างความเดือดร้อนในขนาดที่พอดีแล้วละก็
“กล้ามเนื้อแห่งความสนิท” (เชรดดดด) ก็จะพัฒนาโดยที่ไม่เดือดร้อนเพื่อนเยอะเกินไป

การที่เราเล่าเรื่องแย่ๆ ให้เพื่อนฟัง เป้นการบอกเค้าว่า เค้าเป็นคนที่เราไว้ใจและอยากคุยด้วย เวลาเกิดเรื่องแย่ๆ

การรับความช่วยเหลือจากเพื่อน
โดยไม่มานั่งเกรงใจเกิน
แปลว่า เรายอมรับความสนิทกับเพื่อนคนนั้น จนเราไม่เอามาคิดเล็กคิดน้อยแล้ว

มันมีประโยชน์ในแง่ของการแก้ปัญหาและการพัฒนาตัวเองด้วย

การเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง ทำให้เราได้ฝึกการเรียบเรียงความคิด ฝึกวิเคราะห์ เพื่อที่จะเล่าเรื่องราวของเราออกไป
นอกจากจะทำให้เป็นคนที่สื่อสารได้ดีขึ้น
บางทีแค่การที่เราสามารถเชื่อมโยงต้นตอและสาเหตุของปัญหา ก็ทำให้ความทุกข์ลดลงแล้ว

เพื่อนสนิททั้งหลายที่เราสร้างมาเรื่อยๆ
เกิดจากการแบ่งปันประสบการณ์แย่ๆ
และทำให้เพื่อนคนนั้น ”เดือดร้อน” ในขนาดที่กำลังพอดีๆมาเยอะแล้ว

ถ้าเป็นคนที่มีความสุขจากการได้สนิทกับคนอื่นๆ
เราว่ามีอะไรแย่ๆ ก็แชร์เพื่อน จะได้สนิทกันขึ้นนะ :)

January 15, 2018

แนะนำหนังสือ thank god it's monday



(หน้าปกหนังสือ thank god it's monday)


พี่รุตม์

งานประจำงานแรกหลังจากเราจบ ป.ตรี ที่ธรรมศาสตร์
ก็คือ การเป็นโปรแกรมเมอร์ที่บริษัท thomson reuters

ปีที่เราเข้าไป ถือว่าเป็นบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่
กินตึกทำงานไปประมาณ 10 ชั้นถ้าจำไม่ผิด

เนื่ิองจากว่าพนักงานเยอะ เลยมีนักดนตรีพอที่จะตั้งวงดนตรีภายในบริษัทได้
และนี่คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง

พี่รุตม์เป็นคนแรกๆ (คนก่อตั้งด้วยมั้ง) ที่อยู่ในวงดนตรีที่นั่น
เป็นนักร้องนำและเล่นกีตาร์เป็นหลัก
เราก็โชคดีนะ ได้มีโอกาสได้เล่นดนตรีกับพี่รุตม์เป็นสิบๆงานเลย


การเล่นดนตรีแต่ละงาน มันก็ต้องมีการประชุมวางแผนอะนะ
แบบว่า ใครจะเล่นอะไร จะเล่นเพลงอะไรบ้าง วันจริง ใครจะขนของกี่โมง ฯลฯ
ทำให้เราได้เห็นความรับผิดชอบและฝีมือการแก้ปัญหาของพี่รุตม์

ถ้าให้หาคำนึงมาบรรยายพี่รุตม์เวลาทำงาน ขอใช้คำว่า effective
คือ พลังงานที่ใส่ลงไปในงาน คุ้มกับผลลัพธ์ที่ได้ทุกครั้ง

ลองนึกถึง การประชุม 1 ชั่วโมงแล้วไม่ได้อะไรดู นั่นคือความไม่ effective
พี่รุตม์เป็นตรงข้ามของสิ่งนั้น

เห็นพี่รุตม์เวอร์ชั่นนั้นแบบ 10 กว่าปีแล้ว
ว่าเป็นคนที่แก้ปัญหาและทำงานร่วมกับคนอื่นเก่ง
ปัจจุบันก็ต้องเก่งกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วอีก

จากนั้นวันนึงเริ่มเห็นพี่รุตม์เขียน blog ชื่อ anontawong’s musing
มีเพจใน facebook ก็รีบเข้าไปกดไลค์และ follow ทันที

จากการติดตามอ่านสิ่งที่พี่รุตม์เขียน ก็ได้เห็นอะไรหลายๆอย่าง หลักๆก็คือ
ความขยันเขียนทุกวัน
ฝีมือการอธิบาย
ความรักการอ่านและความรู้รอบตัวจากการอ่านเยอะ
และความไม่อวดรู้ อะไรที่รู้ก็รู้ อะไรที่ไม่รู้ก็ยอมรับ

ซึ่ง ถ้าเกิดพี่คนนึงที่นับถือ และมีคุณสมบัติข้างบนมาเขียนหนังสือ มันก็คงต้องไปซื้อมาแล้วแหละ

แล้วพี่คนนี้ก็เขียนหนังสือออกมาจริงๆ ชื่อ thank god it’s monday

หลังจากหาอยู่นาน และแม้จะช้ากว่าคนอื่นไปเยอะ
ในที่สุดเราก็ได้อ่านหนังสือเล่มนี้

ในโพสนี้เราอยากจะรีวิว (และแนะนำ) หนังสือเล่มนี้


พนักงานประจำไม่ดีตรงไหน

ดูจากหน้าปกหนังสือและพวกคำนำต่างๆโดยที่ไม่ได้อ่านเนื้อหา
หนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดกับคนอ่านในยุคปัจจุบัน
ที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็ตาม ดูเหมือนว่า
อะไรๆก็พูดถึง การออกตามความฝัน ทำในสิ่งที่รัก เป็นเจ้านายของตัวเอง

เราขอเรียกหนังสือพวกนี้ว่า หนังสือ follow your passion

แล้วเหมือนว่าค่านิยมเหล่านี้มันจะโดนเอามารวมกัน
(ถ้าอยากออกตามความฝัน ทำในสิ่งที่รัก ควรจะเป็นเจ้านายของตัวเอง)

ไม่ใช่แค่นั้น เหมือนคนจะคิดกันไปต่อว่า การเป็นเจ้านายตัวเอง “ดี” กว่างานประจำ

เราเคยลองอ่านซื้อหนังสือ follow your passion พวกนี้ดูดีๆบ้างแล้ว
จริงๆมันไม่ได้ชักจูงอะไรผิดๆนะ

เท่าที่เราอ่าน หนังสือพวกนี้มันบอกว่า
ถ้าอยากมีอิสระทางการเงินและเวลาในอนาคตแนะนำให้เป็นเจ้านายของตัวเอง

มันไม่ได้บอกเลยนะว่า มัน “ดี” กว่างานประจำหรือ “มีความสุข” กว่างานประจำ
แต่ด้วยเหตุผลซักอย่าง คนคิดกันไปอย่างนี้เยอะมาก

สเน่ห์ของหนังสือ thank god it’s monday มันมาจากการสวนทางกับกระแสนี้นี่เอง

พี่รุตม์ (ซึ่งเป็นผู้ที่เหมาะจะเขียนหนังสือเล่มนี้มากๆ)
ก็เขียนออกมาเตือนใจ และมาพูดถึงข้อดีของงานประจำที่คนมักจะมองข้ามไป

เราว่า นี่คือ ประโยชน์สูงที่สุดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้แล้วแหละ



มากกว่าเรื่องของพนักงงานประจำ


จากนั้นก็จะเป็นเรื่องของทัศนคติในการทำงาน เช่น คำแนะนำเมื่อเป็นพนักงานใหม่ ทำยังไงถึงจะทำงานประสบความสำเร็จ

จากนั้นเหมือนว่าเนื้อหาจะเริ่มขยายกว้างขึ้น
มีเทคนิคต่างๆในการเลือกสิ่งที่จะทำ การแบ่งเวลาทำงาน
หรือ เทคนิคที่เจาะจงไปถึงวิธีการเขียนวาระประชุม หรือการทำงานแบบ kanban

สำหรับคนที่ชอบอ่านพวกเทคนิคที่นำไปใช้ได้จริงทันที
แนะนำให้ซื้ออ่านมากๆ
เพราะพี่รุตม์เค้าสรุปเทคนิคพวกนี้มาให้แบบเข้าใจง่ายโคตรๆ

ไม่ได้จบแค่นั้น ยังต่อไปถึงทัศนคติการใช้ชีวิตด้วย เช่น การเป็นตัวของตัวเอง หรือ การดื่มด่ำกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่ามือถือ

ซึ่งอ่านไป ก็รู้สึกว่า ประมาณครึ่งเล่มหลัง
เนื้อหามันใช้ได้กับพนักงานประจำก็จริง แต่มันใช้ได้ในบริบทที่กว้างกว่านั้นอีก
รวมไปถึงการเป็นเจ้านายตัวเองหรือการใช้ชีวิตประจำวันโดยทั่วไปด้วย

เรารู้สึกว่าพี่รุตม์มีของดีมาแชร์เยอะมากกกก
แค่ติดกรอบในเรื่องของการตีพิมพ์และ package
ว่ามันต้องเจาะตลาดคนประเภทหนึ่งด้วยชื่อหนังสือ thank god it’s monday
ไม่งั้นทางสำนักพิมพ์ก็อาจจะขายไม่ออกอีกถ้ากว้างเกิน

แต่สรุปก็คือ ผู้อ่านได้มากกว่าที่หน้าปกสัญญาไว้ ซึ่งเป็นเรื่องดีนะ
และเท่าที่ดูรีวิว เหมือนว่าทำได้ถูกต้องแล้ว
ขายเกลี้ยงจนกระทั่งต้องตีพิมพ์ครั้งที่สอง
และพนักงานบริษัทที่อ่านก็ได้ประโยชน์กันไปถ้วนหน้า

สำหรับเราแล้ว หนังสือนี้คือ สรุปข้อคิดชีวิตพี่รุตม์

มันไม่ใช่แค่หนังสือที่ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการทำงานประจำ
แต่มันคือให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตที่พี่รุตม์ใช้ได้ผลแล้วเอามาแบ่งให้อ่านกัน
ถ้าเป็นเจ้าของบริษัท ก็แนะนำให้เอาหนังสือเล่มนี้ให้ลูกน้องอ่าน (อ่านเองด้วยก็ได้)
ถ้าเป็นพ่อแม่ ก็แนะนำให้เอาหนังสือเล่มนี้ให้ลูกอ่าน
ถ้าเป็นคนที่สนใจเรียนรู้อะไรใหม่ๆตลอดเวลา แนะนำให้ซื้อมาอ่านเอง

ในส่วนสไตล์การเขียน สำหรับคนที่อ่าน blog anontawong’s musing เป็นประจำ
หนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นการเอาบทความเจ๋งๆหลายๆบทความ
มาเล่าเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง ประติดประต่อกันให้อ่านเพลิน
(เราก็เลยอ่านทีเดียวจบอะนะ)

ภาษาที่ใช้ก็มักจะเป็นเหมือนนั่งฟังพี่รุตม์คุยอยู่เก้าอี้ฝั่งตรงข้าม
เรื่องที่เล่าก็จะปนๆกัน ระหว่างประสบการณ์ชีวิตจริงของพี่รุตม์
หรือบทความหรือเทคนิคจากที่อื่นที่น่าเอามาแชร์

ซึ่งส่วนตัวชอบเวลาพี่รุตม์เล่าประสบการณ์ตัวเองมากกว่า
แต่เหมือนว่า การเอาเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญหรือคนดังๆมาแบ่ง อาจจะมีน้ำหนักสำหรับผู้อ่านมากกว่า
(อาจจะเป็นเพราะเรารู้อยู่แล้ว ว่า พี่รุตม์เชื่อถือได้ เลยอยากฟังอะไรที่มันดูใกล้ตัวมากกว่าคำพูดจากผู้เชี่ยวชาญ)

สิ่งที่คิดว่า น่าจะเพิ่มเติมไปได้อีก
น่าจะเป็นส่วนของการเกริ่น หรือหาวิธีประติดประต่อ แต่ละภาคแต่ละบทเข้าด้วยกัน

บางครั้งเวลาอ่านแล้วรู้สึก เหมือน มันเป็นตอนสั้นหลายๆตอนมารวมกัน
ซึ่งแต่ละตอนมันก็จบในตอน แล้วก็ขึ้นเรื่องใหม่

ซึ่ง thank god it’s monday มันก็มี บทนำและการแบ่งภาคชัดเจน ก็ทำให้ตรงนี้มันดีขึ้น
แต่บางครั้งเราก็รู้สึกสะดุดเล็กๆเวลาขึ้นบทใหม่ว่ามันเกี่ยวกับบทที่แล้วยังไง
และตอนนี้เราอยู่ภาคไหนของหนังสือแล้ว จนต้องกลับไปดูสารบัญ

แต่โดยรวมก็ถือว่า อ่านลื่นอยู่ดี



แนะนำให้อ่าน

สรุป คือ หนังสือนี้อ่านสนุก มีข้อคิดดีๆ และเทคนิคดีๆที่นำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันเต็มไปหมด

ถึงแม้ว่าหนังสือจะชื่อว่า thank god it’s monday และดูเหมือนจะเน้นชีวิตพนักงานประจำ
แต่หนังสือเล่มนี้อัดแน่นด้วยอะไรดีๆมากกว่านั้นเยอะ

ไปซื้อซะนะ thank god it’s monday

ขอบคุณครับพี่รุตม์ที่เขียนหนังสือดีๆมาแบ่งกัน
แล้วก็อย่าลืมไป อุดหนุน blog พี่รุตม์น้าาาา
https://anontawong.com/