February 25, 2021

ชีวิตสังคม ตอนเรียน ป เอก

(รูปรวม เด็กไทยใน UIUC ปีแรกที่เข้าไป)

ผ่านไปประมาณ 7 ปีกว่าๆ ตั้งแต่เราเริ่มเรียน ป เอก
ตอนนี้จบแล้วดีใจมาก

ถ้าย้อนกลับมาถามตัวเองว่า สิ่งที่มึค่าอันดับต้นๆจากการเรียน ป เอก คือ อะไร
ก็คงต้องตอบว่าการได้กลายเป็นคนที่ดีขึ้นแหละ

หลังจากลองคิดถึงเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมาตอนเรียนเอก
เหตุผลที่ใหญ่ที่สุดที่กลายเป็นคนที่ดีขึ้นก็คือ ชีวิตสังคม ตอนเรียน ป เอก เนี่ยแหละ

โพสนี้เลย จะพยายามเขียนถึงชีวิตสังคม ตอนเรียน ป เอก
ว่ามันเป็นยังไงบ้าง เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง ฯลฯ


เกี่ยวกับเรา


ย้อนกลับไปสมัยเด็กๆ เราเป็นเด็ก รร เซนต์ดอมินิก (ตัวย่อ ซด) นะ
นอกจาก มาริโอ้ เมาเร่อ หรือ เคน ธีรเดช ไม่ค่อยแน่ใจว่า รร เราดังเรื่องอื่นไหม
แต่ที่แน่ๆช่วงที่เราอยู่นี่
ซด ไม่ได้ดังเรื่องการเรียนเลย

สำหรับเรา ในวันๆหนึ่งนี่ หัวมีแต่เรื่องว่าตอนพักเที่ยงจะเล่นกีฬาอะไรดี
ตอนหยุดคริสมาสหรือสงกรานต์ จะชวนใครมาเล่นเกมที่บ้านบ้างดี
สุดสัปดาห์นี้จะเก็บเลเวลเพิ่ม หรือ จะลุยเนื้อเรื่องต่อดี สำหรับเกมที่กำลังเล่นอยู่

ต้องขอบคุณ คุณพ่อคุณแม่ ที่บังคับ (ขอใช้คำว่าบังคับนะ อิอิ)
ให้อ่านหนังสือ ท่องตำรา วันละ 1 ชั่วโมงในวันเสาร์อาทิตย์
เราคิดว่า ผลพวงจากสิ่งเหล่านี้มันทำให้เราไม่มีปัญหาเรื่องการเรียน
ในหัว เลยมีเรื่องของการเรียนเข้ามาน้อยมาก

ในส่วนตัว สิ่งที่สนใจ นอกจากการมีความสุขและบ้าไปวันๆ ก็คือ ทักษะเรื่องเพื่อน
สำหรับช่วงอายุตอนนั้น เพื่อน คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดอันดับต้นๆของชีวิต
มันนำมาซึ่งความสุขทุกอย่าง

(ตอนนี้มันก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่แหละ แต่มันก็ไม่ได้ขาวดำขนาดนั้น
แล้วเราก็ขยายคำว่าเพื่อน เป็นคำว่า "คนที่เรารัก" แทน)

ถ้าให้เลือกว่าอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไหน
เราอยากมากๆ ที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเพื่อนเนี่ยแหละ
อยากรู้ว่า คนที่มีเพื่อนเยอะๆเค้าทำยังไง (เมื่อก่อนคิดว่า เพื่อนเยอะ คือ สิ่งที่ดี)

จนมาถึงตอนนี้คำถามมีการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย
กลายอยากรู้ว่า คนที่ล้อมรอบไปด้วยเพื่อนที่ดีมากๆ เค้าต้องทำยังไงบ้าง

หลังจากจบมัธยมก็ผ่านสังคมมาหลายที่ใช้ได้เลย
หลังเรียน ป ตรี ก็ทำงาน
หลังจากทำงานก็ย้ายไปเมกา เพื่อเรียน ป โท
จบโท ก็ทำงานในเมกาเนี่ยแหละ

สุดท้ายก็มีโอกาสมาเรียนต่อ ป เอก
ที่มหาวิทยาลัย university of illinois urbana champaign (UIUC)
ซึ่งถือว่า ทางด้านวิทย์คอม เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีมากๆเลย
ก็ตั้งใจจะเรียน ป เอก เพื่อความรู้และประสบการณ์วิจัยระดับโลกว่ามันเป็นยังไง

ตอนเข้า ป เอก ได้ก็อายุ 30 ต้นๆแล้วแหละ
แถมก็แต่งงานแล้ว แค่ว่า ระหว่างเรียนจะต้องอยู่แยกกับเดียร์ (ภรรยา)
ส่วนตัวก็ไม่คิดว่าชีวิตสังคมจะไปต่อจากนี้ได้มากนัก

แต่สุดท้าย ประสบการณ์ที่มีค่าที่สุดตอนเรียน ป เอก ก็คือ เรื่องชีวิตสังคมซะงั้น
เลยจะมาเล่าให้ฟังนะ ว่ามันผ่านอะไรมาบ้าง


ก่อนเข้า


ก่อนที่เราจะเลือกเข้า UIUC

เราก็พยายามหาข้อมูล
พยายามติดต่อคนหลายๆคน เพื่อถามข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย

ก็เจอคนไทยที่เรียน วิทย์คอม ป เอก สองคนนะ
คนนึงยังเรียนอยู่ ชื่อ ส้ม
คนนึงจบแล้ว ชื่อ ทีม

ก็ได้คุยกับส้มกับทีม ถามข้อมูลนิดหน่อย คร่าวๆอย่างน้อยก็พอรู้ว่า UIUC การศึกษาดี
และมีสมาคมคนไทยอยู่ที่นั่นเหมือนกัน

จากนั้นเราก็ได้ไปแอบส่อง facebook ต่อ ดูว่ามันมี group ไหม
ปรากฏว่ามี แล้วก็มีรูปจากการรับน้องปีเก่าๆด้วย
ซึ่งตอนนั้นก็ไม่แน่ใจหรอกนะว่าจะไปเจอคนไทยที่ UIUC ดีไหม
แต่รู้ไว้ก่อนก็ดี


เพื่อนสองคนแรก


หลังจากเข้า UIUC มา เราก็ไม่มีสังคมนอกคณะทั้งนั้น

เราเจอ เพื่อนวิทย์คอม ที่เข้ามาพร้อมกันนิดหน่อย ซึ่งมีบุคลิกที่แตกต่างกัน
ก็ไม่ได้ถึงขึ้นสนิทมาก แต่ก็อย่างน้อยได้คุยกัน พอถึงเวลาวิชาการ

แล้วทีนี้ UIUC มันมีสิ่งที่เรียกว่า quad day


ซึ่งถ้าเทียบกับที่ไทย มันเหมือนวันที่เค้าเปิดชมรมอะ

แบบชมรมต่างๆจะมาแสดง ให้คนดู เรียกร้องความสนใจ เผื่อจะมีคนรุ่นถัดมาสมัครเข้าชมรม

ตอนนั้นเราก็อยู่อเมริกามาได้แบบ 5 ปีแล้วแหละ
ไม่ได้มีความต้องการที่จะเปิดโลกทัศน์แบบตอนเพิ่งมาอเมริกาใหม่ๆ
และก็เริ่มค้นพบตัวเองว่า เพื่อนสนิทส่วนใหญ่นี่คนไทยทั้งนั้น

แทนที่เราจะพยายามสมัครเข้าชมรมที่ทำกิจกรรมที่เราสนใจ
เราก็เดินตรงไปหา ชมรมคนไทยใน UIUC เลย

เจอน้องคนไทยคนนึง ชื่อ แรคคูน
วิ่งไปวิ่งมาอยู่ในสนามหญ้า ถือ ธงชาติไทยอยู่ ยังจำภาพนั้นได้
เราก็ไปลงชื่อนะ เพราะ ถ้ามีกิจกรรมอะไรเผื่อจะไปร่วมได้

แรคคูนก็บอกว่า เออ เย็นนั้นคนไทยจะมีกินข้าวกันนะ ถ้าเราว่างก็ให้เราไป

สุดท้ายเราก็ไปนะ มีคนไปกันประมาณ 30 คนมั้ง
โต๊ะใหญ่ 2-3 โต๊ะ

สิ่งที่เห็นที่โต๊ะเราก็มีเด็กใหม่นั่งติดกันเงียบๆ
และเด็กปัจจุบันนั่งติดกันคุยกันเอง
เราก็คิดในใจว่า เออ สงสัย คงไม่ได้คุยกับใครเท่าไร

ตอนหลังมีน้องคนที่นั่งโต๊ะเดียวกันฝั่งตรงข้าม ชื่อ ซัน
มาบอกเราว่า ตอนมันเห็นเราครั้งแรก มันคิดว่าเราเป็นพวก socially awkward
แต่สุดท้าย ซัน ก็กลายเป็นน้องคนที่สนิทแรกๆที่นี่เลย

กลับมาเรื่องโต๊ะกินข้าวที่มีการแบ่งกลุ่มคุยอย่างชัดเจน
โชคดีอย่างนึง ก็คือ เรานั่งข้างน้องสองคน ชื่อ บิ๊วกับเทว
สองคนนี้ถือเป็นเพื่อนกลุ่มแรกใน UIUC เลย
ได้คุยกันนิดหน่อย แล้วก็แลกไลน์กัน ตั้งกรุ๊ปไลน์ที่ชื่อว่า "เผื่อนัดเจอกัน uiuc"

อย่างที่บอกตอนด้านบนนะเราเริ่มเรียนตอนอายุ 30 ต้นๆ
เราก็ไม่ได้ชัวร์ว่าเราจะเข้ากับคนที่อายุต่างกันมากๆได้ไหม
การแฮงเอ๊ากันช่วงแรกๆ ก็จะเป็นรูปแบบการนัดกินข้าวกัน
แล้วก็ตีปิงปอง ประมาณสัปดาห์ละครั้งเนี่ยแหละ


การขยายกลุ่มเพื่อน


หลังจากที่อย่างน้อยมีเพื่อนสองคนที่สามารถนัดเจอได้เรื่อยๆ
เราก็คิดว่าเรารอดละ

เวลาผ่านไปเราก็ได้รู้จักเพื่อนเพิ่มขึ้นจากหลายๆอย่างนะ

อย่างแรกก็คือ กิจกรรม public ของคนไทยที่โพสอยู่ใน facebook group

อย่างเช่น
งานรับน้อง
งาน potluck
งานดูหนังผี halloween
ไปเที่ยว cornmaze
ลอยกระทง
แข่งกีฬาสี ฯลฯ

งานพวกนี้ก็เพิ่มโอกาสในการเจอเพื่อนสนิทมากขึ้น

ซึ่งเราอยู่มา 7 ปีนี่ แต่ละปีมันมีความจริงจัง กับความ inclusive ที่ต่างกัน
ขึ้นอยู่กับ ประธานนักเรียน และ คณะกรรมการ ปีนั้นเลย

ปีที่ดีเป็นพิเศษ ก็คือ ปีที่มีกิจกรรมเยอะ ประชาสัมพันธ์ดี และกิจกรรมจัดในเวลาเหมาะที่คนไปร่วมได้เยอะ

เรารู้สึกโชคดีที่เราเข้าไปในปีที่กิจกรรมเยอะ
(ต้องขอบคุณประธานรุ่นนั้น ชื่อ อุ้ย ซึ่งก็กลายมาเป็นน้องคนสนิทอีกคนนึง)
แต่หลังเราเข้าไป รุ่นถัดมาก็มีกิจกรรมลดลงมาเรื่อยๆอยู่ช่วงนึงเลย

อย่างที่สองก็คือการเล่นกีฬาและทำกิจกรรม

เนื่องจากว่า จังหวะนี้ การหาเพื่อนสำคัญกว่าการทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ
ถึงแม้ว่ากีฬาที่ชอบที่สุด คือ เตะบอล
แต่ก็จะเล่นทุกอย่าง ตั้งแต่ปิงปอง เล่นบาส เทนนิส ตีแบต

ต้องบอกว่าการเล่นบาส คือ uncomfortable มาก
คนที่เล่นมีแต่น้องๆ ป ตรี ซึ่งดู intense ใช้ได้
แถมมันเป็นกีฬาที่มีฝั่งละ 2-5 คน (แล้วแต่ว่าเล่นครึ่งหรือเต็มสนาม)
สำหรับคนเล่นไม่เป็นอย่างเรา ถ้าต้องไปเล่นกับคนไม่รู้จัก คือ เกร็งมาก
ถ้าทำผิดนี่คือรู้เลยว่าใครผิด

แต่มีน้องคนนึงที่คอยให้กำลังใจ ชื่อ คอม
มันบอกว่า "พี่ไม่ต้องห่วง มีคนเล่นไม่เป็นเหมือนกัน มาเหอะ"
อีกคนนึงที่ต้องขอบคุณ คือ อุ้ย ที่ช่วยสอนเล่นบาสด้วย

ก็ฝืนตัวเองไปเล่นอยู่หลายครั้ง กว่าจะเริ่มชิน (ซึ่งก็ไม่ชิน) กับคนหน้าเดิมๆที่เล่นด้วยกัน
แต่สุดท้ายก็เก็บเบสิกที่ไม่ควรผิดได้
ตั้งแต่การยืนขวางเส้นทาง lay up ของคู่แข่ง
การกระโดดที่ไม่คาดหวังว่าจะ block ได้ แต่อย่างน้อยก็บัง
แล้วก็การไม่ปล่อยให้คนที่เราประกบอยู่ว่าง

อีกกีฬาคือตีแบตนี่เป็นอีกอารมณ์นึงเลย
เต็มไปด้วยเด็ก ป โท และ ป เอก
(ถ้าจำไม่ผิด มีคนอายุมากกว่าเราด้วยตอนนั้น)
ตีแบตนี่ทุกคนก็จะใจดี ด้วย mindset ที่ว่า ถ้าคนที่เข้าไปเล่นไม่เก่ง
ก็จะพยายามจับคู่ให้มัน balance แล้วก็จะพยายามฝึกคนที่เล่นไม่เก่งให้

คนลากเราเข้าไปตีแบตก็คือ บิ๊ว เนี่ยแหละ
ถึงได้เข้าไปรู้จักคนในกลุ่มนั้นเยอะขึ้น

แล้วก็มาถึงเรื่องเตะบอลซึ่งเป็นกีฬาที่เราชอบที่สุด
แต่คนไทยใน UIUC (ในปีที่เราเข้าไป) ถือว่าขาดแคลนคนเล่นบอลอย่างรุนแรง
เราก็จะเล่นกันแบบกิ๊กๆก๊อกๆ ไปแข่งกับใครก็แพ้ 100%
แต่การเล่นกิ๊กก๊อกไปเรื่อยๆ มันก็เป็นความสนุกไปอีกแบบนึง

จุดเริ่มต้นทุกอย่างของการเตะบอล ก็คือ น้องที่ชื่อว่า ภาพ

เราเคยได้นั่งรถเมล์คันเดียวกัน ภาพ (ตอนนั้นนั่งไปเล่นบาสกัน)
เลยได้คุยกันเรื่องเตะบอล
มึวันนึง ภาพ ทักมาว่าสนใจไปเตะบอลด้วยกันไหม
จำได้ว่าวันนั้นคือวันที่แฮปปี้มากกกกกกกก


อีกอย่างนึงที่ทำแต่ไม่เคยทำมาก่อนคือเล่น บอร์ดเกม

มีน้องคนนึง ชื่อ เฟิร์ส
ที่บ้านเฟิร์ส จะมีบอร์ดเกม ทุกอันในโลก
เราก็จะไปบ้าง แล้วทุกครั้งที่เราไป
เฟิร์สก็จะช่วยเลือกบอร์ดเกมง่ายๆที่ไม่ต้องใช้ความคิดเยอะมาเล่น (ขอบคุณนะะะ)
นี่ก็เป็นอีกกิจกรรมนึงที่ไม่ใช่อะไรที่ทำเป็นประจำ แต่ชอบสังคมคนเล่นบอร์ดเกม

อย่างสุดท้ายที่ทำให้ได้ขยายกลุ่มเพื่อน ก็มาจากเพื่อนของเพื่อนเนี่ยแหละ

จากการที่แค่รู้จักกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆกลุ่มนึง
เป็นจุดเริ่มต้นของการได้เปิดโลก ไปเจอกับคนอื่นมากขึ้น
โดยเฉพาะสำหรับสังคมคนไทยใน UIUC
มันก็รู้จักกันเอง แต่ขยายวงไปเรื่อยๆเนี่ยแหละ

กิจกรรมหลายๆที่บอกไปมันทำให้ได้รู้จักกันก็จริง
แต่เรารู้สึกว่า คนเรามักจะได้คุยกันก็ตอนกินข้าวเนี่ยแหละ
มันก็เลยต้องมีการกินข้าวแซมๆอยู่บ้าง

การกินข้าวกับน้องๆก็มักจะมาจากการชวนแล้วชวนต่อๆกัน
พอเราเจอกับน้องกลุ่มที่บุคลิกเข้ากัน
เราก็เริ่มขอให้เค้าชวนเราบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
และสุดท้ายเราก็กล้าเป็นฝ่ายชวนคนอื่นกินข้าว


เพื่อนลงตัว


หลังจากลองผิดลองถูก ทำทุกกิจกรรมที่ขวางหน้า
สุดท้ายก็ได้เจอกลุ่มเพื่อนที่ลงตัว
หลังจากนี้ก็รู้สึกว่าชีวิตลงตัวละ

เราก็สนิทกับ ซัน ละ มีการเล่นเกมกันเป็นประจำ
มีน้องที่เข้ามาเรียนแค่ปีเดียว แต่ก็สนิทก็มี

แล้วก็มีกลุ่มที่สนิทและที่รู้ว่าน่าจะอยู่กันอีกนาน เพราะ ก็มีคนเรียน ป เอก ในกลุ่ม
(ขอเรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่ม นอธ เพราะ หนึ่งในเด็ก ป เอก ในกลุ่มก็คือ นอธ เนี่ยแหละ)

ก็จะเจอกันทุกสัปดาห์
สามารถคุยได้ทุกเรื่อง และเป็นตัวของตัวเองได้

ที่เหลือก็คือ ใช้เวลาที่เหลือให้เหมาะสม
แล้วก็ไม่ลืมเพื่อนที่สนิทน้อยกว่า
หรือน้องที่เข้ามาใหม่แต่ยังไม่รู้จัก

พอถึงตรงนี้ นานๆครั้งเราก็มักจะไปเล่นกีฬาอื่นบ้างถ้ามีเวลา
ไปเล่นบอร์ดเกมบ้าง
หรือ นัดคนที่ไม่เจอกันนาน ไปกินข้าวบ้าง
เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ตรงนั้นมันหายไป


เพื่อนนอก UIUC


มีหน้าร้อน 3 รอบ ที่เราไปทำ internship ที่ google (อ่านได้ที่นี่ 1 2 3)
ชีวิตสังคมก็จะเป็นอีกรูปแบบนึง

เดียร์ก็อยู่แถวๆนั้นแหละ ก็เลยอารมณ์เหมือนได้กลับบ้าน
ชีวิตครอบครัว มันก็คือชีวิตครอบครัวที่สงบสุขนะ
ไม่มีอะไรหวือหวา คนมีครอบครัว ก็คือมีครอบครัวอะ

ก็เลยขอเขียนถึงสังคมนอกเหนือจากเวลาที่อยู่บ้านกับครอบครัวบ้าง

เวลาหลังเลิกงานบางวัน
เราก็จะเล่นกีฬา หรือ ทำกิจกรรมกับคนไทยที่ทำงานอยู่แถวนั้น
ซึ่งก็คล้ายๆกับการเริ่มต้นในสังคมใหม่แบบตอนเข้า UIUC เลย

แต่สิ่งที่ต่างกับเด็กๆที่ UIUC คือ พวกนี้เป็นวัยทำงานแล้ว
รู้สึกว่า energy มันคนละแบบ ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นการเจอกันหลังเลิกงาน
ซึ่งไม่เหมือนกับการเจอกันหลังเลิกเรียน
เพราะว่า สำหรับชีวิตนักศึกษามันจะมีกลุ่มที่เข้ามาพร้อมๆกัน
เหมือนกับมีความทรงจำในการร่วมทุกข์ร่วมสุขกันรุนแรงกว่า

ส่วนใหญ่กิจกรรมก็จะอยู่ในรูปแบบการเล่นกีฬากับการเล่นดนตรีนะ
จะเห็นว่า ไม่มีการกินข้าวกันเท่าไร ที่ได้เพิ่มโอกาสพูดคุย
และคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว ก็เกาะกลุ่มกัน
คิดมันไม่มีความรู้สึกแบบมหาวิทยาลัย ว่าจะต้องมาต้อนรับคนใหม่ขนาดนั้น

จากหน้าร้อนทั้ง 3 รอบที่เราไป
หน้าร้อนที่รู้สึกอบอุ่นและสนุกที่สุด
คือ หน้าร้อนที่มีคนไทยไปฝึกงานที่เดียวกันหลายคน (มีคนร่วมทุกข์ร่วมสุข)
และหน้าร้อนนั้น คนอื่นในบริษัทก็ดึงเข้ากรุ๊ปแชทด้วย เลยมึความรู้สึกเหมือมีการต้อนรับคนใหม่

(เรื่องการต้อนรับคนใหม่นี่เราเขียน blog ไว้โพสนึง อ่านได้ที่นี่)

จากการ hangout กับคนวัยทำงาน
ส่วนตัวรู้สึกว่าน้องคนที่เราเข้ากันได้ที่สุด ชื่อ นัตตี้
ถึงแม้ว่าจะเป็นน้องคนที่วัยทำงานแล้ว
แต่ก็ยอมเปิดเผย vulnerability คุยเรื่องส่วนตัวได้เต็มที่
เราเลยรู้สึกว่าสนิทกันได้ดี

(อีกอย่างนัตตี้เป็นคนเส้นตื้น
เวลาเราปล่อยมุกแล้วขำง่าย
ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเราเอง เวลาอยู่กับนัตตี้ 5555)


จุดเปลี่ยน


จุดเปลี่ยนมันมาถึงตอนที่เราจบ ปี 4
นั่นก็คือ การที่ อ ที่ปรึกษาพัก sabbatical (ลาพัก ไม่สอน ไม่วิจัยอะไรทั้งสิ้นทั้งเทอม หรือ หลายเทอม)

อาจารย์ก็ให้เราไปทำวิจัยที่หัวเหว่ย เพราะ เค้ามีศิษย์เก่าเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ที่นั่น
เดิมทีสัญญาจ้าง คือ ไปทำงานเทอมเดียว เขียน paper เดียวแล้วก็กลับ UIUC
แต่เนื่องจากว่าทางนั้นงานเยอะมาก เค้าเลยจ้างเราต่อจนครบปี

ระหว่างที่ทำงานที่นั่น ไม่ได้มีสังคมนอกบ้านมากเทียบกับตอนทำ internship ที่ google
สาเหตุเพราะว่างานที่หัวเหว่ยค่อนข้างเครียด และเลิกงานค่ำ หมดเวลา หมดพลังงานไปเจอกับผู้คน
(อ่านเปรียบเทียบประสบการณ์ได้ ที่นี่)

สิ่งที่ทำบ้างก็คือ นัดกินข้าวเที่ยงกับเพื่อน แต่ก็กดดันต้องรีบกลับมาทำงานต่อ
หรือเล่นบาสเล่นแบตบ้าง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกสนุกเหมือนทุกครั้ง

ส่วนใหญ่ก็คือกลับบ้านมาเติมพลังโดยการได้เจอเดียร์ ซะส่วนใหญ่

หลังทำงานครบปี เราก็กลับมาที่ UIUC อีกครั้ง
ตอนนั้นก็คือขึ้น ปี 6 และเวลาช่วง ปี 5 หายไปในหลุมดำ
ซึ่งอันนี้กระทบชีวิตสังคมค่อนข้างรุนแรง

อย่างแรกคือ น้องกลุ่มนอธ ก็จบกันไปเยอะ
ในนั้นมีคนนึง ชื่อ โอ๊ค
ปกติมันจะเปิดบ้าน ให้ทุกคนกินข้าว hangout กันทุกสุดสัปดาห์
แต่โอ๊คก็จบไปแล้ว
คนที่ยังเหลืออยู่ในกลุ่ม ก็ ป เอก ซึ่งเวลางานเยอะ งานน้อย มักจะไม่ตรงกับเราเท่าเมื่อก่อน

แล้วช่วงปีนึงที่หายไป เราก็ไม่ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่เลย
ต้องมาเหมือนเริ่มต้นสร้างเพื่อนใหม่ กับน้องที่เด็กกว่าเราประมาณครึ่งนึง

ช่วงนั้นก็ค่อยๆ แซมๆเข้าไปทางเด็ก ป โท เหมือนเดิม
มีน้องกลุ่มนึงตีแบตเป็นประจำ (ขอเรียกว่า กลุ่มแพนด้า เพราะ แพนด้าเหมือนเป็นหัวโจกกลุ่มนั้น)
ก็ไปเล่นด้วย แล้วก็กินข้าวด้วยกันหลังตีแบตอะไรงี้

ทางการเล่นบาส ก็เล่นบ้าง แต่ปกติที่ไปเล่น เพราะ อุ้ย ชวน
พอ อุ้ย ไม่อยู่แล้ว เราก็ไม่ค่อยกล้าไปเล่นกับคนไม่รู้จัก ซึ่งมีคนต่างชาติที่เล่นเก่งๆเป็นเยอะด้วย

แต่สิ่งที่คิดว่าดวงดีมากๆและช่วยได้มากที่สุดก็คือ
มีน้องที่เพิ่งเข้าใหม่ที่เตะบอลมากขึ้น
มากแบบ ตอนนี้มีคนเตะบอลเป็นเกือบครบทีม

แถมปีนั้นมีกองหน้าตัวเป้า ชื่อ เติ้ล
ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอดเวลาที่เข้า UIUC

ตอนนี้เริ่มเตะกับต่างชาติชนะมากขึ้นละ แล้วก็มีคนพอที่จะแบ่งทีมเตะบอลกันเองได้ด้วยอีกตะหาก


ถึงตอนนี้อย่างน้อยก็มีกิจกรรมให้ทำเรื่อยๆละ

ถึงจะไม่ได้เจอกลุ่ม นอธ ทุกสัปดาห์ ก็ยังได้เจอเรื่อยๆ โอเคละ
น่าจะรอดไปถึงจบ


ฤดูร้อนที่เจอกับน้องคนนึงทุกวัน


พอจบ ปี 6 มีข่าวเด็ด
ประธานาธิปดีทรัมป์ สั่งแบนหัวเหว่ย
ไอ้งานวิจัย ป เอก ของเราที่ทำกับมัน ก็เลยมลายหายไปต่อหน้า
ฤดูร้อนปีนี้เลยอยู่มหาวิทยาลัย เพื่อหาหัวข้อวิจัยใหม่

ที่ UIUC นี่หน้าร้อน ก็จะเงียบมากๆ
สิ่งนึงที่หายไปแน่ๆคือ การเตะบอล
กลุ่มนอธ ก็ยังอยู่อะนะ แต่ก็งานเยอะทุกคน นานๆถึงจะเจอกันทีนึงเหมือนเดิม

เผอิญมีน้องคนนึง ชื่อ พูม
อยู่ทำวิจัยอยู่กับอาจารย์ ไม่ได้กลับไทยเหมือนน้องส่วนใหญ่
เราก็เลยได้ hangout กับพูมเพิ่มขึ้น
ก็จะกลายเป็นว่า หลังเราทำงานเสร็จ ก็มักจะนัดกินข้าวเย็นแล้วก็นั่งดูทีวี กับพูมแทบทุกวัน

นานๆครั้งก็มีการไปเที่ยวแถวชิคาโกหาของกิน
มีน้องอีกคน ชื่อ เป้ ทำ internship อยู่
ก็เลยกลายเป็นว่าสนิทกับน้องสองคนนี้ ช่วงหน้าร้อนเนี่ยแหละ



ย้อนกลับไปนิดนึง ในช่วงเวลาที่ผ่านมาใน UIUC ปีแรกๆ
เรามักจะเจอกับน้องเด็กทุนทั้งหลาย จบเตรียมฯ จบสวนกุหลาบ จบจุฬา อะไรก็ว่าไป
บุคลิกที่เห็นชัดที่สุดโดยรวม คือ เนิร์ดๆเรียนๆ ฉลาด ไม่มีพิษมีภัย มีความรับผิดชอบสูง

แล้วมันก็จะมีน้องอีกกลุ่มนึง ที่เรียนโรงเรียน inter ในไทย หรือเรียนต่างประเทศมาก่อน
บุคลิกที่เห็นชัดที่สุดโดยรวม คือ เกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่มใหญ่ เฮฮา ทำกิจกรรมหลากหลายร่วมกันเยอะ

ในมุมมองของเรา พูมอยู่กลุ่มเด็ก inter
ซึ่งเราไม่เคยเข้าถึงและไม่เคยใช้เวลาด้วยกันมาก่อน
แต่พอเหลือการ hangout กับพูมคนเดียว (ไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่) เลยรู้สึกว่าเข้าถึงได้มากขึ้น

ก็เจอกันแทบทุกวันจนถึงเปิดเทอม
แล้วพอเปิดเทอม เราถึงได้รู้สึกกล้าที่จะมาเจอน้องกลุ่มเด็ก inter นี้ทั้งกลุ่มมากขึ้น


ต้องเจอเพื่อนทุกวันก่อนที่เรียนจบ


มาถึงตอนนี้ คือ ขึ้นปี 7 แล้ว
แล้วเราก็หาหัวข้อวิจัย มาแทนที่หัวข้อเดิมที่ล้มไป
เราก็เห็นแล้วว่า ใกล้จะถึงเวลาเรียนจบขึ้นทุกที และปีนี้เราอาจจะเป็นปีสุดท้ายที่นี่

เอาจริงๆ เราก็รู้จักตัวเองมาเรื่อยๆแล้วแหละ
ว่าความสุขเรามาจากการใช้เวลากับคนอื่น (เขียนไว้นิดนึง ที่นี่)
ปีนี้เราเลยสัญญาตัวเองว่า จะเจอคนอื่นทุกวัน จะไม่มีวันไหนที่เก็บตัวทำงานอยู่บ้านทั้งวัน

ตอนนี้ กลุ่มเด็ก inter ก็กลับมา UIUC กันหมดแล้ว
แล้วที่สำคัญ ก็จะมี apartment ของน้องในกลุ่มนี้แหละ ชื่อว่า campus center
ซึ่งอยู่กลางมหาลัย ก็จะมีห้องน้องกลุ่มนึง default ซึ่งถ้ามีคนอยู่ก็จะไม่ lock ประตู
ใครเรียนเสร็จ ก็ไปเจอกันได้ตลอด

ต้องขอบคุณพูม ตอนนี้เราก็กล้าไปเจอกลุ่มนี้แล้ว
เราก็เลยได้ไปใช้เวลากับน้องกลุ่มนี้มากขึ้นทุกวัน
จนสนิทกับทั้งกลุ่มใช้ได้ถึงระดับนึงเลย
ขอเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่ม campus center


อีกหนึ่งนิสัยที่ได้มาหลังจาก hangout กับเด็กๆเยอะ

คือ เวลาคุยกับใคร (โดยเฉพาะเด็กใหม่) เราจะลองหาดูตลอดว่ามีอะไรที่เราจะช่วยคนนั้นได้บ้าง
(ต้องบอกก่อนว่า การช่วยเหลือ นี่ ต่างจากการให้คำแนะนำที่เค้าไม่ได้ขอนะ
แค่เพราะว่าเรามีประสบการณ์เยอะกว่า ไม่ใช่ว่าเราจะมีสิทธิ์อยู่ๆจะไปสอนหรือแนะนำอะไรเค้าได้
ถ้าเค้าไม่ได้เอ่ยปากถาม)

สิ่งที่ช่วยได้ก็มักจะเป็นการขับรถไปส่งนู่นนี่ ช่วยขนของ ช่วยการบ้าน ช่วยเตรียมสัมภาษณ์งาน ช่วยเตรียมกิจกรรม ฯลฯ
ซึ่งมันก็ทำให้สนิทกันได้ง่ายขึ้นไปอีก

ทุกๆอย่างตอนนี้คือลงตัว
กลุ่มนอธก็ยังเจออยู่เรื่อยๆ แล้วก็ได้กลุ่ม campus center มาอีก
คิดว่าเป็นปีที่ทุกอย่างไปได้สวยมากๆ

แล้วโควิดก็มาไง


ชีวิตสังคมหลังโควิด


หลังจากโควิดระบาด
คำสัญญาที่บอกตัวเองไว้ว่าจะเจอเพื่อนทุกวันก่อนเรียนจบก็ย่อยสลายหายไปอย่างสวยงาม

ใช้เวลาปรับตัวซักพัก จนกระทั่ง ผู้คนกล้าที่จะเจอกันมากขึ้น

กลุ่มนอธ นี่พอร้านอาหารไม่เปิดให้กิน ก็เจอกันยากขึ้น เพราะ ไม่มีบ้านคนไหนให้ไป hangout ได้
กลุ่ม campus center พอโควิดมา ก็เหลือประปราย สุดท้ายกลับไทยกันหมด

จะจบอยู่แล้ว แถมมีโควิดอีก
แต่ก็ต้องพยายามใช้เวลาที่เหลือในมหาลัยให้เต็มที่
และพยายามสร้างเพื่อนชุดสุดท้ายก่อนเรียนจบ

สุดท้ายน้องที่ยังเหลืออยู่ ก็คือ กลุ่มน้องๆ ป โท ซะส่วนใหญ่
แล้วก็มีวุฒิอื่นประปรายนิดหน่อย ตั้งแต่ตัวละครลับอาจารย์ที่มาทำวิจัยที่นี่
หรือ เป้ ซึ่งได้งานแถวชิคาโกก็ยังแวะ UIUC มาทักทายอยู่เรื่อยๆ
แล้วก็เด็ก ป เอก ที่เข้าใหม่

กลุ่มสุดท้ายขอเรียกว่ากลุ่มเด็ก grad เพราะ ส่วนใหญ่เป็นเด็ก grad แล้วก็ไม่มีหัวโจกที่ชัดเจน 5555

เนื่องจากว่ามีโควิด กิจกรรมที่น้องเหล่านี้ทำก็คือ ไปวิ่ง outdoor
ซึ่งถ้าให้พูดตรงๆ มันคือ กีฬาที่เราชอบอันดับต่ำๆที่สุดในชีวิต
นอกจากจะวิ่งตามน้องๆไม่ทัน
เวลาเหลือตัวคนเดียววิ่ง มันเป็นอะไรที่น่าเบื่อสุดๆ สำหรับเราอะนะ
(แต่เราเข้าใจว่าคนที่รักการวิ่งเค้าก็มีเหตุผลของเค้า)

ยังดีที่ก็มีน้องบางคนที่ไม่ค่อยวิ่ง เราก็เลยไปเดินข้างนอกเฉยๆ
หรือไม่บางทีก็ไปเดินคนเดียว แต่ก็นัดเจอน้องกลุ่มที่วิ่ง ที่ปลายทางแล้วนั่งคุยกันเฉยๆ

ผ่านไปเรื่อยๆ ทาง UIUC ก็มีการให้นักศึกษาตรวจโควิดผ่านน้ำลาย ฟรี
ทุกๆคนที่ไปตรวจก็ไม่เจอ แล้วก็จะอุ่นใจขึ้น
เริ่มนัดกลุ่มนอธไปกินข้าว outdoor งี้



ส่วนเรื่องที่อยู่ของเรา ก็มีการย้าย apartment จากที่เคยอยู่ไกลๆ
ตอนนี้ก็ย้ายมาอยู่ apartment ใกล้กันหมดแล้ว
ทีนี่เราก็สามารถเป็นเจ้าของบ้าน ชวนเพื่อนกินข้าวได้แล้ว
ช่วงท้ายๆ เราก็ได้กลับมานัดกลุ่มนอธ บ่อยขึ้นทันก่อนเรียนจบ

สุดท้ายถึงแม้จะมีโควิด แต่ก็ยังได้สร้างความทรงจำดีๆ กับมหาวิทยาลัยร้างๆ กับน้องที่เหลืออยู่
ตอนจบรู้สึกดีใจมากที่มีน้องๆมาถ่ายรูปรับปริญญาและฉลองด้วยกัน


ผ่านไป 7.5 ปีที่เราเข้าเรียน รู้สึกว่ามีขึ้นมีลงเยอะใช้ได้ในแง่ของชีวิตสังคม
ตอนเด็กเป็น introvert มาตลอด
แต่โตขึ้นมาค้นพบว่าการเป็น extrovert ทำให้ตัวเองมีความสุขกว่า
ก็เปลี่ยนบุคลิกมาพบปะผู้คนมากขึ้นแล้วก็ extrovert มากขึ้น
ซึ่งสุดท้ายเราคิดว่า (คิดว่านะ) มันลงตัวกำลังดีละ
ไม่ใช่คนเก็บตัว แต่ก็ไม่ใช่สัตว์ปาร์ตี้
เจอผู้คนเยอะๆก็ยังเหนื่อยอยู่ แต่เจอผู้คนกลุ่มที่สนิทก็หายเหนื่อย


สิ่งที่เรียนรู้


อย่างที่เขียนไว้ว่า เป้าหมายอย่างนึงตั้งแต่เด็กของเรา คือ อยากเก่งเรื่องเพื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ
สำหรับการเรียน ป เอก เราว่าเต็มไปด้วยบทเรียนที่ดีเยอะใช้ได้เลย

active vs passive

อย่างนึงที่เราเห็นบ่อยๆ คือ เวลาเข้าสังคมใหม่ เราก็จะ active ในการหาเพื่อนใหม่
แต่พออะไรๆลงตัว มันก็จะอยู่ในโหมด passive ซึ่งคือแบบรอให้มีเหตุการณ์ที่จะรวมตัวกัน
แต่เราว่า พออะไรๆมันลงตัว เราก็ยัง active ได้อยู่ดี

โดยส่วนใหญ่เรามักจะเป็นฝ่ายคนที่ชวนทุกคนกินข้าว หรือ vdo call มากกว่ารอ
นอกจากมันจะทำให้เราได้เจอเพื่อนโดยไม่ต้องมานั่งรอ
เรารู้สึกว่ามันก็ทำให้คนที่ passive ก็ได้เจอเพื่อนไปด้วยเหมือนกัน

positive vs negative

เข้า ป เอก มา มีเรื่องที่ไม่ได้เล่าข้างบน ก็คือเรื่องดราม่า
ไม่ว่าเราจะพยายามหลบหลีกยังไง
มันก็จะมีบางครั้งที่การกระทำของเรา มันไปทำให้คนอื่นไม่พอใจ
แล้วมันก็จะมีดราม่าเกิดขึ้น

โดยเฉพาะถ้าคนที่มีดราม่าด้วยเป็นเพื่อนสนิท จนกลายเป็นคนที่แทบไม่คุยกันเลย
มันก็อดคิดไม่ได้ว่า เสียเวลาชีวิตไปเยอะแค่ไหน กับ มนุษย์สัมพันธ์ที่มันไม่เวิร์ค

โดยรวมเราว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ positive นะ ดราม่ามันเกิดขึ้นเป็นส่วนน้อย
ถ้าเรามีความตั้งใจดี ความสัมพันธ์ประมาณ 95% หรือมากกว่า มันจะออกมาดี
แล้วก็คุ้มค่าที่จะลงทุนเวลาและพลังงานในการพยายามสร้างเพื่อนเหล่านั้น

อีกอย่างที่เรียนรู้ก็คือ ถึงเราเคยมีดราม่ากับใคร
แต่ถ้าเกิดมีเหตุการณ์ positive มากๆเกิดขึ้นซักครั้ง
เช่นห่างหายกันไป แล้ววันนึงเราก็ไปฉลองคริสมาสแล้วเจอคนที่เรามีปัญหาด้วย
แต่ปรากฏว่างานนั้นมันสนุกมาก เราก็มักจะลืมเรื่องลบๆได้อยู่นะ

quantity vs quality

ถ้าต้องเลือกระหว่างมีเพื่อนสนิท 1 คน
กับมีคนรู้จัก 100 คนแต่ไม่สนิทเลย
เชื่อว่าแทบทุกคนน่าจะเลือก เพื่อนสนิท 1 คนนะ

ทีนี้มันจะมีตรงกลาง
แล้วแต่ละคนจะต้องมองตัวเองว่าชอบอยู่ตรงไหน
แล้วจะบริหารเวลาอันจำกัดในชีวิต ด้วยการใช้เวลากับใครบ้าง

พอมา plot มันจะเห็นภาพขึ้นนะ ระหว่างความสนิท กับจำนวนเพื่อนที่สนิทระดับนั้น

บางคนใช้เวลากับเพื่อนสนิทกลุ่มเล็กๆ หรือแฟนคนเดียว แต่ไม่ให้เวลาคนอื่น


หรือถ้าคนที่ใช้เวลาแต่กับ follower บน social media โดยที่ไม่สนิทกับใครเลย
(อันนี้ จริงๆยังไม่เคยเจอ อาจจะไม่มี)


ถ้าเวลาในชีวิตไม่พอ เราก็ใช้เวลากับคนที่สำคัญที่สุด นั่นคือสิ่งที่ดีและถูกต้อง

แต่ถ้ามีเวลาในชีวิตเหลือพอและไม่เหนื่อยเกิน (และบุคลิกเป็นคนที่โอเคที่จะเจอผู้คนได้)
เราว่าน่าจะแบ่งเวลาให้กับคนที่อยู่ไกลๆออกไปบ้างอีก


มันทำให้มี friendship ที่หลากหลายและทำให้ชีวิตเต็มขึ้นนะ

space & time

ถ้ามีสถานที่และเวลา ที่ทำให้เพื่อนรวมตัวกันง่ายขึ้น
มันจะสร้างเพื่อนได้เร็วมาก

ถ้ามีทั้งสถานที่และเวลาให้เพื่อนได้เจอกัน
อันนี้ชัดเจน คือ ดีมาก

ตัวอย่างก็คือ เพื่อนกลุ่ม campus center
ที่มีห้องนึงเปิดตลอดเวลา
ช่วงนั้นเราได้เจอเพื่อนทุกวันและสนิทกันเร็วมาก

ในเรื่องของความสำคัญของสถานที่
ก็มีจังหวะนึงที่ชัดกับกลุ่มนอธ คือ
ตอนแรกก็เจอกันได้เรื่อยๆ เพราะ โอ๊ค เปิดบ้านให้ hangout ได้ ก็เจอกันเป็นประจำง่ายขึ้น

พอ โอ๊ค จบ ประเพณีเจอกันสัปดาห์ละครั้ง นั้นเหมือนจะหายไป
จนกระทั่งเราย้ายเข้า apartment ใหม่ ที่ใกล้บ้านทุกคน
เราถึงได้ชวนคนมากินข้าวที่บ้านทำให้เจอกันเหมือนเดิมได้ตอนช่วงใกล้ๆจบ

ในเรื่องของเวลา ก็รู้อยู่แล้วเนอะ ว่ายิ่งมีให้เวลาให้กันก็ยิ่งมีโอกาสสนิทกันมากขึ้น

แต่มีอีกเรื่องเกี่ยวกับสถานที่และเวลาที่อยากพูดถึง
คือ เรื่องของเพื่อนที่ไม่ได้อยู่ใกล้กันแล้ว หรือเพื่อนสนิทที่ไม่ได้ใช้เวลากันเท่าเมื่อก่อน
อันนี้ก็อย่างเช่น พวกเพื่อนสนิทเก่าที่ไทย
หรือน้องสนิทที่จบไปแล้ว แล้วก็ไม่ได้อยู่ใกล้ๆ หรือเจอกันบ่อยๆเหมือนเมื่อก่อน

ก็เป็นอะไรที่ยังต้องรักษามิตรภาพไว้นะ
ไม่ใช่ว่าหาเพื่อนสนิทใหม่ได้แล้วจะจบ มันต้องรักษาเพื่อนสนิทไว้
(ภาษา marketing อารมณ์ประมาณ customer acquisition vs customer retention อะ)

อันนี้ก็เป็นตัววัดที่ดีนะ ว่าเพื่อนเหล่านี้ยังถือว่าสนิทอยู่มากน้อยแค่ไหน
เช่น เค้ายังจำเราได้ไหม เค้ายังทักมาบ้างไหม เวลาเจอกันอีกทีดีใจแค่ไหน
เวลาเจอกันอีกทีเค้าจำเรื่องเก่าๆได้แค่ไหน

compatibility

เท่าที่คิดๆมา กว่าจะสนิทกับคนคนนึงได

  1. มันจะต้องเป็นคนที่เราอยู่ด้วยแล้วเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่
  2. มันมี value ในชีวิตที่คล้ายๆกัน
  3. ต้องมีโอกาสให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดกันที่ deep พอที่ต่างฝ่ายจะเห็น value อีกฝ่ายนึงได้

แบบที่ UIUC นี่ มีคนที่นิสัยดีมากๆค่อนข้างเยอะเลย
แต่ในคนกลุ่มนั้นก็มีคนที่เราไม่ได้สนิทด้วยอยู่เยอะนะ
กลับมาคิดก็เพราะว่าขาดเรื่องใดเรื่องนึงในสามข้อข้างบนไปอะนะ

ยกตัวอย่าง มีน้องคนนึงที่ตอนแรกเราก็ไม่ได้สนิท ชื่อ มิก
คุยด้วยกันรอบแรกแล้วแบบไม่ได้ชอบหน้าขนาดนั้น 5555

แต่มีวันนึงไปอ่านหนังสือกันเป็นกลุ่ม
แล้วมันก็ชวนเราคุยเรื่องว่า ทำไมเพื่อนสนิทที่อเมริกามันไม่เยอะเท่าเมืองไทย
ทำให้เรารู้ว่ามันเป็นคนที่ value เรื่องเพื่อนสนิทเหมือนกัน
เจอกับมันเรื่อยๆ ก็พบว่ามันก็ชอบตบมุกประเภทเดียวกันอีก
สรุปมันก็กลายเป็นเพื่อนสนิท

โดยรวมเรากลับมามองตัวเอง
เรากลับรู้สึกว่าเราเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่เวลาอยู่กับพวกเด็กๆ
(โดยเฉพาะพวกเด็กผู้ชาย อายุช่วง ป ตรี) มากกว่าผู้ใหญ่
ถ้าให้เดาก็คือเด็กกลุ่มนี้ มีความคล้ายเพื่อนมัธยมปลาย ของเราที่สุด
และชีวิตช่วงนั้น คือ ช่วงที่เราเป็นตัวของตัวเองที่สุดอันดับต้นๆในชีวิตเลย

ไอ้เรื่องความ compatible มันก็เป็น spectrum ไม่ใช่ขาวหรือดำอีกนั้นแหละ
มันก็มีสนิทมากสนิทน้อย
บางคนก็เหมาะที่จะชวนทำกิจกรรมประเภทนึงมากกว่าอีกคน อะไรงี้

intensity

ทีนี้มันก็จะมีกิจกรรมที่เราใช้เวลากับเพื่อนได้หลายแบบ
มันมีระดับความเข้มข้นที่ต่างกัน

ตั้งแต่ กินข้าวเร็วๆตอนพักเที่ยง
กินข้าวด้วยกันตอนเย็น
เล่นกีฬา เล่นบอร์ดเกม
ทำอาหารด้วยกัน hangout กันต่อถึงดีกๆ
ไป roadtrip ค้างตามกระต๊อบหลายๆวัน

เพื่อนกลุ่มที่สนิทที่สุดก็จะผ่านกิจกรรมที่มีความเข้มข้นทุกแบบ
เพราะทุกความเข้มข้น มันก็สร้างความทรงจำกับคนเหล่านั้นคนละแบบ
ยิ่งมีหลายแบบก็ยิ่งดีนะ

social media

สำหรับเพื่อนที่สนิทแล้วอยู่ใกล้ๆกัน
เราว่ามันยังไม่มีอะไรสามารถมาแทนที่การเจอกันได้

แต่สำหรับเพื่อนที่อยู่ห่างๆ
เราว่าการใช้ social media ที่ถูกวิธีก็ช่วยได้นะ

เมื่อตอนเราเรียน ป ตรี ไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า social media
เมื่อตอนเราเรียน ป โท facebook ยังเป็นที่ที่มีแต่เพื่อนกลุ่มเล็กๆ
แต่พอมาถึงตอนเรียน ป เอก facebook สำหรับหลายๆคน
ได้กลายเป็นที่ที่เอาไว้แชร์ meme หรือสตรีมการเล่นเกมไปแล้ว

เรารู้สึกว่านอกจากเพื่อน มัธยม กับลุงป้าน้าอา
ก็แทบจะไม่มีคนโพสอัพเดทชีวิตตัวเองเท่าไรแล้ว
เพื่อนใหม่ช่วง ป เอก ก็มักจะใช้ facebook สำหรับ messenger เท่านั้น

ในขณะเดียวกัน เราเห็นเด็กรุ่นใหม่ย้ายไป instagram
ซึ่งเน้นรูป (ไม่ค่อยเน้นเนื้อหา)
แต่ก็โอเค ยังได้เรียนรู้ชีวิตเพื่อนบ้างผ่านรูป
ถึงแม้ว่าบางทีการเขียนก็สื่อสารอะไรได้มากกว่ารูป

แต่เราคิดว่ามันมีการโพสบน social media และการเสพ การไถ feed ที่เหมาะสมนะ

ที่ง่ายๆสุดเลย
เรื่องของตัวเองที่มันไม่ private จนเกินไป ก็โพสได้
เรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม หมา แมว อาหารที่เจอ
หรือเรื่องใหญ่ๆ เช่น ลูกเกิด แต่งงาน
มีคนที่อยากรู้ความเป็นไปของชีวิตเราจริงๆบน social media นะ
(คิดว่าประมาณ 10% แต่ก็มากกว่า 0 นะ)

บางทีรูปที่ไม่มีอะไรเลย เช่น อาหาร
ก็ทำให้เกิด small talk ได้ในหลายๆครั้ง
ทำให้อยู่ๆ เราก็ได้คุยกับคนที่ปกติไม่ได้คุยด้วยขนาดนั้น

ตัวอย่าง มีน้องคนนึง ชื่อ วิว ก็รู้จักช่วงที่เราเรียนโท แต่แยกย้ายกันมานานละ
ปรากฏว่าทั้งเราและวิว ก็เรียนจบเอกพร้อมๆกัน
บางทีเห็นอะไรที่เค้าโพสเราก็ทัก เค้าเห็นเราโพสเค้าก็ทัก
จากเรื่องแรนด้อมกลายเป็นว่าได้คุยกันเรื่องการเรียน ป เอก เลย

ในเรื่องของการแชร์เรื่องที่มีคนอื่นเกี่ยวด้วย เช่น ถ้าเป็นรูปที่มีคนอื่นอยู่ด้วย
เราก็ต้องเคารพความ private ของเพื่อน
ถ้าเพื่อนมันไม่ใช่คนชอบแชร์ชีวิต เราก็มักจะไม่แชร์รูปที่มีเพื่อนคนนั้น
อย่างในโพสนี้ เราอ้างอิงชื่อเล่นน้องหลายคน
แต่เราก็ไม่โพสรูปที่เห็นหน้าชัดๆ
เพราะเราไม่ชัวร์ว่าเค้าโอเคแค่ไหน ที่รูปเค้าจะมาอยู่ใน blog public

แต่การโพสรูปตัวเองกับเพื่อน มันมีข้อดีอย่างนึง
ตรงที่บางทีเวลาแชร์ ก็จะทำให้เพื่อนคนอื่นเข้ามาทัก สร้างบทสนทนาได้เพิ่มขึ้น

เรารู้สึกว่า ตราบใดที่มันไม่ใช่เรื่อง private หรือเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางข้อมูล และชีวิต
ก็แชร์ๆไปเหอะ เพราะ มันเพิ่มโอกาสได้ติดต่อกับคนอื่น

ส่วนในแง่ลบของ social media คือ เราเข้าใจว่ามีนะเท่าที่ลองอ่านๆดู
แค่เรายังไม่เห็นผลเสียที่รุนแรงที่จะทำให้เราเลิกใช้มัน
เราก็ไม่ได้โพสรูปบัตรเครดิต หรือ ที่อยู่ ที่มันจะทำให้เกิดผลเสียถ้าข้อมูลนั้นรั่วไหล
แล้วเราก็ไม่ได้เป็นคนใหญ่คนโต ที่มีคนไม่ประสงค์ดี อยากได้ข้อมูลอะไรไป
เราก็ไม่ได้กลัวว่าถ้า CIA เห็นรูปเรา จะเกิดอะไรขึ้น
เราก็ไม่ได้คิดว่าการที่ facebook เอารูปเราไป train ให้ โปรแกรมดักจับหน้าคนได้แม่นยำขึ้นมันแย่กับส่วนรวมยังไง

เพื่อนสนิทมีทุกที่

สิ่งที่เรียนรู้อย่างสุดท้ายก็คือ
เพื่อนสนิทมันหาได้ทุกที่จริงๆ

ตอนเราเข้ามาเรียน ป เอก
เราก็รู้แหละ ว่าเราก็จะเป็นคุณลุงของพวกเด็กๆที่นี่

แต่ยิ่งได้ใช้เวลาร่วมกันก็ยิ่งรู้สึกว่า
เออ ตราบใดที่เราไม่ถือตัว
เราเป็นผู้ใหญ่ในเรื่องที่เป็นงานเป็นการ
แต่พอถึงเรื่องเล่น ถ้าเราเป็นเด็ก เราก็ยังมีโอกาสเป็นเพื่อนสนิทกับเด็กๆได้
แถมด้วยว่าเรามีประสบการณ์มากกว่า เราก็สามารถมอบความช่วยเหลือให้เด็กๆพวกนี้ได้มันก็ทำให้สนิทได้อยู่ดี

ก็คิดอยู่นะ หลังจากเรียนจบ
ชีวิตทำงาน มันก็ต่างจากชีวิตมหาวิทยาลัย
เราก็คงต้องปรับตัวเรื่องสังคมอีกแหละ
แต่ถ้ามีโอกาสได้เจอเพื่อนสนิทอีก และได้เรียนรู้อะไรเพิ่ม เดี๋ยวแชร์ให้ฟังกัน


สรุป


คิดว่าประสบการณ์ของเรา น่าจะค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์นะ
แบบแต่งงานแล้ว อายุก็ 30-40 แต่อยู่คนละที่กับภรรยา
แล้วก็เป็นเพื่อนกับเด็กอายุตั้งแต่ 18 ถึงใกล้เคียงกัน

รู้สึกว่าเป็นอะไรที่เพื่อนๆและครอบครัวอาจจะอยากฟัง ก็เลยมาเขียนให้เนี่ยแหละ
อีกอย่างกลับมาอ่านจะได้นึกถึงช่วงเวลาดีๆ ตอนเรียน UIUC ด้วย

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะ
แล้วก็ขอบคุณเพื่อนทุกคนที่ทำให้ชีวิตสังคมเราตอนเรียน ป เอก มีความสุขมากๆ
มันเป็นประสบการณ์เปลี่ยนชีวิตจริงๆ