July 22, 2013

หนังสือที่ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น

สมัยเด็กๆเราเป็นคนขี้เกียจอ่านหนังสือนะ
จะมีอะไรสนุกไปกว่าการเล่นเกม กับเตะบอลละ
มุมมองโลกเรา โคตรแคบ คิดว่าโลกหมุนรอบเราทุกอย่าง เอาแต่ใจ ฯลฯ
เพิ่งมาเปลี่ยนได้ เพราะว่าคบเดียร์เนี่ยแหละ (ขออนุญาตอวยภรรยา :D)

คิดว่าหลังจากเราได้ปรับปรุงตัวมาประมาณ 1 ทศวรรษ
เราเริ่มรู้จักคุณค่าของการฟังความคิดเห็นคนอื่นมากขึ้น

เมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว เราได้ทำความรู้จักกับรุ่นน้องธรรมศาสตร์คนนึง ชื่อเล่นว่า แอมป์ (ยังไม่มีชื่อญี่ปุ่นให้)
แอมป์เป็นคนที่ชอบแบ่งปันอะไรที่มีประโยชน์กับชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องชอบรีวิวหนังสือ (ว่างๆเข้าไปอ่าน blog ของแอมป์กันได้ มีเรื่องดีๆเยอะ โดยเฉพาะเรื่องทีมและการบริหารเวลา)
เรารู้สึกว่าเท่ เลยพยายามเลียนแบบ พยายามหาเรื่องเป็นประโยชน์มาแบ่งคนอื่นบ้าง

นอกจากการรับฟังความคิดคนอื่น และการพยายามหาเรื่องเป็นประโยชน์มาแบ่งคนอื่น
เราเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้นด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราเพิ่งอ่านหนังสือเล่มนึงจบไป ซึ่งเราคิดว่าเป็นหนังสือที่ถือได้ว่า เปลี่ยนชีวิตเลยทีเดียว

หนังสือเล่มดังกล่าวคือเล่มนี้นี่เองงงงง

nonviolent communication

หน้าตาเป็นงี้

516Y10hCnML

หาซื้อได้ที่นี่ (เหมือนจะมีเวอร์ชันไทยด้วย)

เนื้อหาคร่าวๆดังเน้

เคยป่าว เวลาแบบไม่ชอบหน้าใครซักคนด้วยสาเหตุอะไรซักอย่าง แต่ตอนหลังมารู้ว่ามันเป็นเด็กกตัญญู ก็เลยกลายเป็นว่าชอบมันเลย เพราะตัวเองเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับความกตัญญูมาก
หรือว่าแบบ เข้าชมรมดนตรี ทั้งๆที่เจอคนไม่รู้จัก แต่คุยกันถูกคอ เพราะชอบดนตรีเหมือนกัน
หรือว่าแบบ หมั่นไส้ลีซอวะ แต่พอรู้ว่ามันทุ่มเท ชอบช่วยเหลือคนก็ให้อภัย เพราะชอบคนดี
หรือว่าแบบ เกลียดขี้หน้าไอ้นี่ ปรากฏคุยไปคุยมา ชอบแมนยูเหมือนกัน หายเกลียดเลย
หรืออีกหนึ่งตัวอย่างที่ส่วนตัวเป็นบ่อยมาก คือ ถ้าเพื่อนทำอะไรไม่ถูกใจพอให้อภัยได้ แต่ถ้าเป็นคนไม่รู้จักกลับไม่ให้อภัย

สาเหตุที่เป็นอย่างนั้น คือ คนเราจะเปิดใจมากขึ้นเมื่อมีความรู้สึกหรือประสบการณ์อะไรที่ตรงกัน
จะว่ากันไป มันก็เป็นไปไม่ได้ใช่ไหม ที่คนเราทุกคนจะมีประสบการณ์อะไรที่ตรงกันให้เชื่อมความรู้สึกกันได้
แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว ทุกคนที่เกิดมาเป็นคน ต่างก็มีความรู้สึกดีใจ เสียใจ โกรธ ฯลฯ
ถ้าเราคุยกันโดยที่แชร์ความรู้สึกกัน จะทำให้เราพบว่า เรามนุษย์ทุกคนมีอะไรร่วมกัน และจะทำให้การสื่อสารเป็นไปในทางบวก

ทฤษฏีของผู้เขียนก็เลยเป็นประมาณว่า
ถ้าอีกฝ่ายรู้สึกว่า เรา "เก็ต" ความรู้สึกเค้า เค้าจะเปิดใจกับเรามากขึ้น คุยกันรู้เรื่องขึ้น และความรุนแรงน้อยลง
เก็ต ในที่นี้ หมายถึง เราต้องฟังทั้งตัวและหัวใจ
วิธีวัดง่ายๆว่า เก็ตผู้ฟัง หรือไม่เก็ต คือ ลองอธิบายความรู้สึกของผู้ฟังด้วยคำพูดเราเอง ถ้าพูดได้ทั้งหมดอย่างถูกต้องแปลว่า เก็ต
หลังจากเราเก็ตผู้ฟัง เค้าจะเปิดใจรับการสื่อสารเรา
จากนั้นเราก็สื่อสารด้วยภาษาที่ฟังลื่นหู

หนังสือเล่มนี้ สอนเป็นขั้นๆเลยว่า
1. ทำยังไงถึงจะฟังให้ เก็ต คนอื่นได้
2. ทำยังไงถึงจะสื่อสารความรู้สึกและความต้องการเราได้อย่างลื่นหู

ย้ำว่า สอนให้เป็นขั้นๆเลย
ในความเห็นส่วนตัวเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและตรงไปตรงมากว่าที่คิดมาก
แต่เราไม่เคยคิดได้เองมาก่อนเลย

ตัวอย่าง ประโยชน์ของการอ่านหนังสือเล่มนี้ (ถ้าได้ใช้จริงๆ) คือ
รู้จักฟังปัญหาของเพื่อนมากขึ้น
รู้จักวิธีลดความโกรธที่ถูกต้อง
รู้จักวิธีการพูดไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าโดนว่าอยู่
รู้จักการชมคนอื่นจากใจจริง ฯลฯ

ทำให้
เข้าใจเพื่อนมากขึ้น
ไม่หงุดหงิดเวลาใครทำอะไรไม่ถูกใจ
ไม่โกรธเวลาโดนรถปาด
ไม่ตัดสินคน
คุยกับลูกรู้เรื่องขึ้น
และสุดท้ายก็มีความสุขมากขึ้น
(ในหนังสือยกตัวอย่างว่ามีคนรอดจากการโดนฆ่าเพราะสื่อสารกับผู้ทำร้ายด้วยซ้ำ)

คิดว่า เกือบทุกคนในโลกจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ไม่ว่าจะเป็น
คนพูดดีอยู่แล้วแต่อยากสื่อสารกับคนอื่นได้ดีกว่าเดิม
คนปากหมา
คนที่มีความรู้เยอะและชอบสอนคนอื่น
คนชอบดราม่า
คนชอบแก้ logic คนอื่น
คนชอบปลอบใจคนอื่น
คนชอบให้คำแนะนำคนอื่น
คนชอบเล่านิทาน
สรุปก็เกือบทุกคนในโลกนะ

เราเลยอยากแนะนำให้ทุกคนอ่านนะ
แล้วที่สำคัญอย่าอ่านผ่านๆแบบเอาสนุก
อยากให้อ่านทุกเม็ด คิดตามทุกเม็ด เพราะ จะได้ใช้จริงๆในชีวิตประจำวัน ทุกวัน (ยกเว้น วันๆไม่สื่อสารกับใคร)

มาช่วยกันทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นอีกนิดนึงกันเหอะ

ว่าแล้ว เราก็จัดซื้อให้คุณแม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

July 19, 2013

โปรแกรมเมอร์ต้องรู้จักหุบปาก

เพื่อนซี้เราคนนึง ชื่อ สมมติว่าซากาโมโต้ ชื่อจริงว่า โชคชัย ชื่อเล่นชื่อ จั๊วะ ที่บ้านเรียกมันว่า ไบ๋
มันเคยพูดไว้ว่า โปรแกรมเมอร์ต้องมีซิกแพค

สรุปคร่าวๆคือ ภาพลักษณ์ที่คนมองโปรแกรมเมอร์เห็น เป็นไอ้เชี่ยอ้วนกับไอ้เชี่ยแว่น
ไอ้จั๊วะมันอยากให้ภาพลักษณ์โปรแกรมเมอร์มันเท่กว่านี้
เลยรณรงค์ให้โปรแกรมเมอร์มีซิกแพคกันอะไรงั้น
ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ (http://www.youtube.com/watch?v=XfTu6fBCsqI)

จากการใช้ชีวิตแต่งงานมาหลายปีและเจอเพื่อนโปรแกรมเมอร์ในหมู่คนทั่วไปอีกหลายคน ทำให้เราได้ข้อคิดเพิ่มมาอีกอันนึง คือ

โปรแกรมเมอร์ต้องรู้จักหุบปาก

คือ วันๆโปรแกรมเมอร์คุยกับคอมพิวเตอร์ซะส่วนใหญ่
การพูดคุยที่ว่าคือการเขียนโปรแกรมสั่งให้คอมพิวเตอร์แก้ปัญหาที่ต้องการ
เครื่องคอมอะ มันโง่ มันแค่คิดอะไรซ้ำๆได้เร็วกว่าเราหลายล้านเท่า แต่มันไม่มีความคิดสร้างสรรค์
อีกอย่างคอมพิวเตอร์อาจจะทำอะไรสำคัญ ถ้าเราสั่งให้มันเพิ่มโอโซนให้โลก แต่มันเข้าใจผิดว่าให้ปล่อยระเบิดนิวเคลียร์ ก็คงไม่ค่อยสวยงามเท่าไร
การคุยกับเครื่องคอมเลยจะต้องเป็นอะไรที่เจาะจงมาก ห้ามคลุมเครือ
โปรแกรมเมอร์จึงเป็นคนที่คุ้นเคยกับอะไรที่มันเจาะจง ไม่คลุมเครือ ไม่มีช่องโหว่

เมื่อโปรแกรมเมอร์เอานิสัยนี้มาใช้กับคน ก็หงายเงิบสิ

คนทั่วไปเค้าพูดกันให้คนฟัง
คนฉลาดกว่าคอมพิวเตอร์ จึงควรจะตีความหรืออ่านอารมณ์ได้ดีกว่า
แต่โปรแกรมเมอร์กลับคิดว่า คนทั่วไปเค้าพูดให้คอมพิวเตอร์ฟังเหมือนกัน ต้องคอยแก้ เพราะเดี๋ยวโปรแกรมจะรันไม่ได้

ยกตัวอย่างบทสนทนาระหว่าง ตัวละครสมมติ มาริโอ้ เมาเร่อ กับ เคน ธีรเดช (เป็นชื่อไทยสมมติที่คิดได้เมื่อกี๊)
มาริโอ้กับเคนเป็นเพื่อนกัน แต่มาริโอ้จบนิเทศ เคนจบวิทย์คอม

ตัวอย่าง 1 มาริโอ้ปล่อยมุข
มาริโอ้: 1+1 ได้ 1 เพราะ ทราย 1 กองรวมกับทรายอีก 1 กอง ได้ทราย 1 กองอยู่ดี
เคน: นั่นก็เพราะ + ในที่นี้ไม่ได้ใช้ + เชิงคณิตศาสตร์ แต่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการรวมกองทรายเข้าด้วยกัน

ตัวอย่าง 2 มาริโอ้ต้องการระบายอารมณ์
มาริโอ้: โห รถคันนั้นปาดโคตรทุเรศเลย เซ็งเป็ด
เคน: รู้สึกมันหลบรถอีกคันนึงมา ไม่งั้นมันก็ชน

ตัวอย่าง 3 มาริโอ้แบ่งปันข้อคิดความรู้
มาริโอ้: ในการตั้งบริษัท เราต้องเริ่มจากเล็กๆ แล้วค่อยๆขยาย
เคน: หลักนี้มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2500 แล้วโดยคนชื่อ โธมัส เค้าเรียกกฏนี้ว่า กฏแห่งการ... (อะไรก็ว่าไป)

ถ้าเรามีเพื่อนแบบเคน เราแอบกระโดดถีบมันในใจ

ถ้าเคนมันคิดซักนิดนึงมันจะรู้ว่า
มาริโอ้ไม่ได้คุยกับเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ไม่ต้องไปแก้มัน
มาริโอ้คุยเพราะมีจุดประสงค์ทางสังคมอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ต้องการให้คนหัวเราะ ต้องการให้คนรับฟัง หรือต้องการแบ่งอะไรดีๆให้คนอื่น

เคนเป็นคน
ควรที่จะรู้จักหุบปาก และลองคิดดูดีๆว่าที่มาริโอ้เล่านั่นเนื้อหาจริงๆที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่พูดออกมามันคืออะไร

สำหรับคนที่คบโปรแกรมเมอร์ด้วยกัน ดีใจด้วย
โปรแกรมเมอร์ด้วยกันคงเข้าใจกันบ้างไม่มากก็น้อย
แต่โปรแกรมเมอร์ก็ยังเป็นคนอยู่ ระวังให้ดีละ

ส่วนเรา ยอมรับว่าเราทำอย่างนี้กับเดียร์มาเยอะเหมือนกัน
ทุกวันนี้เราก็ฝึกที่จะหุบปากและฟัง และพยายามพูดให้เหมือนคนปกติมากขึ้น

สำหรับคนที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์โปรดยกโทษให้พวกเราด้วยนะแคร้บ