May 06, 2018

ทำไมทักแล้วไม่ตอบ

สี่แยกนึงในโตเกียวคนเป็นร้อย
ถ้าเดินสวนกับเพื่อนจะมองเห็นมันหรือเปล่า


เดินสวนแล้วไม่ทัก


เราเคยโดนเพื่อนคนนึงโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเลย
สาเหตุก็เพราะว่าเดินสวนกัน มองหน้าแล้วไม่ทัก

จากมุมมองของเรา คือ คนเยอะ เรามองไม่เห็นมัน แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเราเดินสวนมันด้วย
จากมุมมองของมัน คือ เราสบตามัน รู้ว่าเห็นแน่นอน แต่ไม่ยอมทัก

มันก็โกรธๆๆๆๆ ที่เราไม่ทัก
เราก็โกรธๆๆๆๆ ที่มันกล่าวหา

เวลาผ่านไปก็ลืมๆไป

สุดท้ายตอนนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่ฉุน เสียอารมณ์
โอเค เนี่ยแหละ ดราม่าในชีวิตประจำวัน

มองไปรอบๆตัว
มีรุ่นน้องก็เจอเหตุการณ์คล้ายกัน
เดินสวนกับเพื่อน มองไม่เห็นเลยไม่ทัก
เพื่อนมันบอกว่า สบตากันจะๆ ตอแหล
(คุ้นๆหวะ)
ดราม่ากันจนแทบจะเลิกคบกัน

โห เรื่องเป็นเพื่อนกันทักแล้วไม่ตอบนี่เป็นเรื่องใหญ่นะเนี่ย


seen แล้วไม่ตอบ


แต่ทีนี้ ถ้าย้ายสถานการณ์เป็นการแชทผ่านมือถือ
มันจะมีปรากฏการณ์ seen แล้วไม่ตอบ

ถ้าเป็นกรุ๊ปแชท ก็จะเปรียบเทียบกับการที่หัวหน้าพูดในที่ประชุมว่า
“ใครจะไปกินข้าวพร้อมกันบ้าง”
แล้วบางคนที่ไปก็ตอบ
ส่วนคนที่ไม่ไปก็เมินแล้วก็เดินออกไปนอกห้อง ไม่แม้แต่จะตอบว่า “ไม่”

ถ้าเป็นแชทกันเดี่ยวๆ ก็จะเปรียบเทียบเหมือนเราถามเพื่อนว่า เป็นงัยบ้างไม่เจอนาน
แล้วเพื่อนก็มอง แล้วก็เดินผ่านไปทำกิจกรรมอื่น

จะเห็นว่า พอวิธีการสื่อสารเปลี่ยนไป (จากต่อหน้า กลายเป็นผ่านโทรศัพท์)
คนเราจะคาดหวังกันคนละอย่าง (อาจจะไม่ถึงขั้นดราม่าจนแทบจะเลิกคบ แต่บ่อยๆก็ฉุนได้)

พอการสื่อสารมันมีหลายทาง
มันจะเริ่มมีความไม่เท่าเทียมกันของการสื่อสารแต่ละทาง


การพูด เขียน กระทำ ไม่ตรงกัน


มีเพื่อนที่แบบตอนเจอกัน นี่เงียบจบไม่ชัวร์ว่าจะคุยเรื่องอะไร
พอมาดูเฟสบุคมัน พูดเยอะ เฮฮา โพสรูปสวยๆ เยอะ ฯลฯ

แล้วก็มีเพื่อนที่ทักมันไปทางแชท แล้วกลัวเพราะมันตอบมาเย็นชาตลอด
สั้นๆตลอด อะไรๆก็ตอบ k
แต่พอมาเจอตัวจริง เฮฮา ร่าเริงสนุกสนาน

แล้วก็มีคนประเภทที่ทำงานด้วยแล้วปวดหัว
เพราะ พูดแล้วทำไม่ตรงกัน
บอกจะอัพเดทงานอีกทีวันพรุ่งนี้ แล้วก็หาย

แล้วก็มีคนประเภทที่ควรจะหลบไว้
คือ พวกที่คุยดี เวลาที่เราเป็นประโยชน์กับเค้า (เวลาเค้ามาขอความช่วยเหลือ)
แต่พอเวลาผ่านไปซักพัก เราก็เป็นขี้ โดนเมิน

แล้วก็มีคนที่ปากกับการกระทำไม่ตรงกัน
เห็นเพื่อนกินเหล้า ก็ด่า ซักพัก เห็นมันนั่งกินเหล้าอยู่
งงเลย

มีอีกหลายๆตัวอย่าง แต่หวังว่าผู้อ่านพอจะเห็นประเด็น


เข้าเรื่อง


ก็เลยเป็นที่มาขอโพสนี้
เวลาคนเราสื่อสารสองรูปแบบแล้วมันไม่ตรงกัน
มันมีข้อดีข้อเสียยังไงบ้าง

ขอแบ่งการสื่อสารเป็น 3 แบบนะ
(1) การพูด
(2) การเขียน
(3) การกระทำ


เมื่อความหมายไม่ตรงกัน


ถ้าปากบอกว่าไม่ชอบกินเหล้า
แต่ตัวเองกินเหล้า

หรือเขียนใน resume ว่าตัวเองใช้ word เป็น
แต่ในโลกความเป็นจริงใช้ไม่เป็น

อันนี้ค่อนข้างจะไม่เป็นที่ยอมรับทางสังคมเท่าไร
คิดว่า คนเราอย่างน้อย ควรจะ พยายาม ที่จะทำให้การพูดการเขียนการกระทำตรงกัน
มันมีผลประโยชน์กับตัวเองในระยะยาว ในเรื่องการอยู่รอดในสังคมกับคนอื่น

ก็อาจจะมีบางครั้งที่เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงๆ
เช่น ปากบอกว่ารักสิ่งแวดล้อม แต่เลือกใช้ถุงกระดาษแล้วทิ้ง
แทนที่จะใช้ถุงพลาสติกซ้ำไปเรื่อยๆ
เพราะไม่รู้ว่า กรรมวิธีการทำถุงกระดาษก็มีผลเสียกับสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน

แต่อย่างน้อยถ้าเราพยายาม ทำให้พูดเขียนกระทำ ตรงกัน
มันจะมีผลดีในระยะยาว


เมื่อปริมาณไม่ตรงกัน


อันนี้เป็นเรื่องจำนวนคำพูด ปริมาณเนื้อหาที่สื่อสารในแต่ละช่องทาง

เมื่อเป็นคนที่พูดไม่เก่ง
แต่พอเข้าไปดู twitter feed เขียนได้เยอะมาก

เมื่อเป็นคนไม่พูด ไม่เขียนอะไรทั้งสิ้น
แต่ทำงานเก่งมาก

อันนี้ไม่มีอะไรผิด สังคมก็ไม่ได้ว่าอะไร

แต่อันนี้อาจจะทำให้คนสนิทกันช้าลงได้
เพราะ คนจะไม่รู้จักเราจริงๆจนกระทั่งได้เห็นตัวตนของเราในช่องทางที่เราสื่อสารเยอะสุด

อาจจะทำให้พลาดโอกาสที่คนจะได้ประโยชน์จากผลงานดีๆของเรา

อาจจะทำให้เจ้านายให้ promotion คนที่ทำงานเก่งน้อยกว่าเรา แต่อธิบายงานของตัวเองบ่อยกว่าเรา


เมื่อคุณภาพไม่ตรงกัน


อันนี้เป็นเรื่องการสื่อสารให้อีกฝ่ายรับรู้อารมณ์และสิ่งที่เราต้องการบอกได้ชัดที่สุด

เมื่อตอนนัดเจอกันทางแชท ตอบห้วนๆ เหมือนไม่ได้อยากไป (ไม่ได้สื่อสารอารมณ์ชัดเจน)
แต่ตอนเจอหน้ายิ้มแย้ม บอกว่าดีใจที่ได้เจอ (สื่อสารอารมณ์ชัดเจน)

เมื่อตอนอยู่เฉยๆ ดูไม่ได้รู้สึกดีๆกับเราเท่าไร
แต่พอถึงงานวันเกิดให้ของขวัญที่รู้เลยว่า ใช้ความคิดและนึกถึงเราเยอะ

เมื่อเป็นคนพูดจาเงอะๆงะๆ
แต่เขียนเล่าความคิดออกมาเข้าใจได้ง่ายมาก

อันนี้ก็ไม่มีอะไรผิดเหมือนกัน สังคมก็ไม่ได้ว่าอะไร

แต่ก็มีผลเสียคล้ายๆกับเรื่องการสื่อสารในปริมาณที่ไม่เท่ากันในแต่ละช่องทาง

อาจจะทำให้คนไม่เก็ตประเด็นเรา
หรืออาจจะทำให้คนเข้าใจเราอารมณ์เราผิดได้


เมื่อไม่เสมอต้นเสมอปลาย


เมื่อเพื่อนสนิทกันแล้วพอหลังแยกย้าย
คุยกันอีกที เหมือนไม่สนิทแล้ว

เมื่อเวลามีอะไรให้ช่วยจะคุยเยอะ
พอช่วยเสร็จแล้วก็หายไป

เพื่อนสนิทที่หายสนิท
สาเหตุก็อาจจะเป็นเพราะ
การที่ตัวอยู่ใกล้ ก็เลยเจอเยอะ เลยคุยเยอะ ก็เลยสนิท
พอแยกย้ายตัวอยู่ไกล เลยไม่เจอเยอะ ไม่คุยเยอะแล้ว

ส่วนเพื่อนที่คุยด้วยเฉพาะเวลาที่จะให้ช่วย
ก็อาจจะคล้ายๆเรื่อง demand supply
ที่ว่าพอเรามี supply (ช่วยคนๆได้)
คนที่มี demand (ต้องการความช่วยเหลือ) ก็มาคุยกันเรา
พอ demand น้อยลง (ไม่ต้องการความช่วยเหลือแล้ว) ก็หายไป

ฟังดูเป็นกลไกธรรมชาติ
แต่บางทีมันก็เศร้าๆนิดนึง ในกรณีที่คนที่เคยสนิท หายสนิท
แล้วบางทีก็รู้สึกจ๋อยนิดนึง เวลาเพื่อนติดต่อแต่เวลาที่ต้องการความช่วยเหลือ
แทนที่จะคุยกับเราเพราะอยากคุยกับเรา

อย่างน้อยถ้าเราเสมอต้นเสมอปลายกับคนอื่น
ก็น่าจะลดความเศร้าและความจ๋อยให้คนอื่นได้บ้าง


หมายเหตุ


ไอ้ที่เราแยกเป็นหัวข้อๆข้างบน ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างแยกกันชัดเจน
อย่างเรื่องเวลาพูดถึง ปริมาณและคุณภาพการสื่อสาร
หลายๆอย่างมันก็ฟังดูคล้ายๆกัน เช่น
เป็นคนพูดน้อย แต่ทำงานหนัก


หมายเหตุ 2


ก่อนจะจบโพส อยากหมายเหตุอีกอย่างไว้ก่อน

หลายๆอย่างที่เขียนมา
ก็มีเรื่องบุคลิก ความถนัด ความเป็นส่วนตัว มาเกี่ยวข้องด้วย

เช่น เป็นพวก introvert ถ้าไม่สนิทก็จะไม่เห็นคุย
แต่ถ้าแอบไปส่อง facebook เห็นเขียนเยอะ

หรือ เป็นพวกมีความเป็นส่วนตัวสูง
ไม่เล่น social network อะไรเลย
เชื่อแต่ในโทรศัพท์และการพูดคุยต่อหน้าเท่านั้น

คงจะบ้าเกิน ถ้าบอกว่า คนบุคลิกนี้ ถูก หรือ ผิด
(เอาจริงๆการตัดสินว่าคนนี้ถูกหรือผิด ไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ก็ไม่ค่อยสมควรอยู่แล้ว)

เลยอยากจะบอกว่า โพสนี้หลักๆ คือ
ไม่ได้ตั้งใจที่จะตัดสินคนที่การสื่อสารไม่ตรงกัน

แต่แค่อยากที่จะตั้งข้อสังเกตและเอามาเขียน
และเสนอความเห็นส่วนตัวที่ว่า การที่สื่อสารตรงกันในหลายๆด้าน
มันมีประโยชน์ เท่านั้นแหละ


สรุป


ลองกลับมามองตัวเองดูเล่นๆ

เวลาพูดกับเขียน ทำอะไรเยอะกว่าหรือเปล่า
เป็นคนขี้เกียจพูดมาก แต่ชอบลงมือทำหรือเปล่า

บางทีลองสื่อสารในช่องทางที่ไม่ถนัดดู
มันก็เป็นแบบฝึกหัดที่สนุกดี

จากประสบการณ์
การที่เป็นคนที่สื่อสารดีขึ้นและตรงกันโดยรวมในหลายๆด้าน
ทำให้เพื่อนรับรู้อารมณ์เราได้ดีขึ้น
ทำให้เจ้านายรับรู้ถึงผลงานเราได้ดีขึ้น
และแก้ปัญหาร่วมกับคนอื่นได้ดีขึ้นนะ