October 09, 2021

ประสบการณ์ทำงาน google ครึ่งปีแรก

(นี่คือออฟฟิศปัจจุบันซึ่งคือทำงานจากบ้านมาตลอด)


เราเพิ่งเริ่มทำงานที่ google เป็น full time software engineer ได้ประมาณครึ่งปีกว่าๆละ
ถือว่าค่อนข้างใหม่ แต่เราคิดว่านานพอที่จะสรุปความคิดหลายๆอย่างได้แล้ว
ถึงแม้ว่าเราจะเคยฝึกงานที่นี่มาก่อน ประสบการณ์ full time ค่อนข้างจะแตกต่างอยู่
บทความนี้ เราจะเล่าให้ฟังว่ามันเป็นยังไงบ้าง

นอกจากนั้นก็อยากจะเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่เคยทำงานที่อื่นที่ผ่านมาด้วย
ไม่ว่าจะบริษัทในไทย การทำงานในสถาบันศึกษา สถาบันวิจัย หรือ startup ด้วย

น่าจะไม่ซ้ำบทความอื่นๆที่เจอในเน็ตดี
และอาจจะมีมุมมองดีๆสำหรับหลายๆคน

หมายเหตุ สิ่งที่เขียนทั้งหมดเป็นความคิดเห็นส่วนตัว
เราไม่ใช่ตัวแทนบริษัท
เราเขียนในฐานะเหมือนเพื่อนเวลามีอะไรมาเล่าให้คนอื่นฟัง
ทุกคนมีชีวิตและความเห็นที่ต่างกันไป
อันนี้ความเห็นของเรา


ครึ่งปีที่ google เป็นยังไงบ้าง


ถ้าคนในอนาคตกลับมาอ่าน
จะบอกว่า เมื่อช่วงต้นปี 2020 ตลอดจนถึงขณะที่เขียนบทความนี้ (ตุลาคม 2021)
มันมีโรคระบาดทั่วโลกที่ชื่อว่า โควิด
ตำแหน่งที่ไม่จำเป็นต้องทำงานแบบเข้าออฟฟิสเช่นโปรแกรมเมอร์ ก็มักจะทำงานจากที่บ้านกัน

จังหวะที่เราเข้า google ก็คือช่วงโควิดกำลังระบาดเนี่ยแหละ
ในเมื่อเราเป็นโปรแกรมเมอร์ ตัวไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศก็ได้ จริงๆทำงานจากบ้านได้ตลอด
นี่ตั้งแต่ทำงานวันแรกก็ยังไม่ได้เข้าไปทำงานด้วยกันกับทีมในออฟฟิสเลย

ประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนทำงานวันแรก เค้าก็ส่งแลปทอปมาให้นะ
แล้วพอถึงทำงานวันแรก เค้าก็จะมีตารางให้คุยกับพวก IT เพื่อติดตั้งแลปทอป
ใช้เวลาประมาณสองวันกว่าจะมี account อะไรครบ

(แลปทอปที่บริษัทส่งมาให้)

พอได้อีเมลก็เลยอีเมลไปหาหัวหน้า (ที่คุยกันตอนสัมภาษณ์) ว่า "เฮ้ย เออ เราเริ่มทำงานละนะ"

หัวหน้าเค้าก็ลากเราเข้ากรุ๊ปแชท
บอกว่า คนนี้ชื่อ อัม นะ
(เราบอกให้ทุกคนใช้ชื่อเล่นเรา คล้ายๆตอนทำงานที่ไทยนะ)ตอนที่เราเพิ่งเข้าทีมเรามี 6 คนนะ

1. เราซึ่งเพิ่งร่วมทีม
2. คนนึงเน้น front end
3. คนนึงเน้น backend
4. คนนึงทำหลายๆอย่าง
5. และก็มีอีกคนนึงซึ่งก็ทำหลายๆอย่าง
6. หัวหน้าที่สัมภาษณ์เราเข้าทีม

ซึ่งถ้าเข้าใจไม่ผิด ทุกคนก็ทำ fullstack ได้หมดอะนะ
เพราะเหมือนว่าถ้าระบบมีอะไรต้องแก้
ไม่ว่าใครก็ควรจะต้องแก้ได้
แค่ว่ามีบางคนสนใจและเชี่ยวชาญ ด้าน frontend หรือ backend เป็นพิเศษ
อะไรประมาณนั้น

โดยเฉพาะหัวหน้าคือเหมือนจะรู้ทุกซอกทุกมุมของระบบ
ซึ่งจริงๆแล้วเค้าควรจะเป็นหัวหน้าของหัวหน้า
แต่เผอิญหัวหน้าเดิมลาออกไป เค้าเลยต้องลงมาทำหน้าที่แทนชั่วคราว
ชอบทำงานกับคนนี้ ได้เรียนรู้เยอะดี technical มากๆ
(และสาเหตุหลักๆที่เราตัดสินใจเลือกทำงานที่ google เพราะเราชอบหัวหน้าคนนี้มากๆ)

ก็แนะนำกันไปแล้วหลังจากนั้นก็คือเจอกันใน vdo call ล้วนๆ ไม่ได้เจอตัวจริง

ทีมย่อยของเราอยู่ในทีมใหญ่ที่เน้นเขียน development tools เพื่อช่วยเหลือเพื่อนโปรแกรมเมอร์ด้วยกัน
เราชอบด้านนี้ ก็เลยโดนเรียกสัมภาษณ์กับทีมนี้พอดี

สิ่งที่ทีมย่อยของเราทำหลักๆ เรียกว่า profiler
ก็คือเป็นโปรแกรมที่ช่วยบอกว่าระบบนี้ใช้ CPU หรือ memory เยอะตรงไหนบ้าง ฯลฯ
ก็เป็น product ที่ใช้กันทั้งภายในบริษัทและสำหรับลูกค้า google cloud นะ

เนื่องจากว่าเป็น product ให้กับ google cloud ซึ่งมีลูกค้าภายนอกมาเกี่ยวข้อง
ทีมเราก็มีสิ่งที่เรียกว่า on call หรืออยู่เวรนั่นเอง
ถ้าใครอยู่เวรแล้วระบบมีปัญหาขึ้นมา ก็จะต้องเช็คทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น

ภาษาที่ใช้หลักๆก็ Go ซึ่งไม่เคยเขียนมาก่อน
แต่หลังจากใช้มา 6 เดือน ก็เออ ชิน ละ
แล้วก็ค่อนข้างชอบมันมากขึ้นเรื่อยๆละ
ถือว่าเป็นภาษาที่ตอบโจทย์หลายๆอย่างได้ดี (เช่น การเขียน server)
โดยไม่ต้องใช้ภาษาที่ซับซ้อนไปกว่านี้

การทำงานเดือนแรกๆ คือ ไม่มีอะไรมาก
นอกจากเรียนรู้ระบบหัวหน้าก็ให้ bug ง่ายๆเล็กๆมาแก้

ผ่านไปประมาณ 2 เดือน หัวหน้าเริ่มให้ feature มา implement
ผ่านไปประมาณ 4 เดือน หัวหน้าเริ่มให้ project หลายๆอันที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆมาพร้อมๆกัน
ผ่านไปประมาณ 5 เดือน เราก็ต้องเริ่มอยู่เวรเหมือนเพื่อนร่วมทีมคนอื่นแล้ว

ตอนนี้มาประมาณครึ่งปี ในที่สุดก็รู้สึกว่ามีงานให้ทำตลอดเวลาไม่มีหมด
แล้วเราต้องคอยคุยกับหัวหน้าเรื่อยๆ
จะได้มาเรียงความสำคัญของงาน ว่าอันไหนต้องเสร็จ อันไหนไม่เสร็จไม่เป็นไร

ส่วนตัวเราว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีที่หัวหน้าให้ความรับผิดชอบเยอะๆ
เพราะเค้าคงเห็นเรามีความรับผิดชอบสามารถจัดการอะไรเองได้(มั้ง)

ในส่วนสไตล์การทำงาน คือ ชอบเลยนะ
เพื่อนร่วมทีมและหัวหน้า คือ ให้ที่ว่างดี
เหมือนเค้าไว้ใจให้เราไปแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่ถ้ามีอะไรพร้อมตอบคำถามเสมอ

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เหมือนเราต้องรู้ตัวว่าติดอะไรเมื่อไรแล้วเริ่มถามได้เลย
พยายามหาข้อมูลเองเรียนรู้เองคือถูกแล้ว
แต่ถ้าถามคนอื่นแล้วจะทำให้ output ของทีมมากขึ้นเร็วขึ้นก็ถามเลย

ข้อดี

สิ่งที่เราคิดว่า google ทำได้ดีมากๆ เทียบกับบริษัทอื่น คือ

1) infrastructure

คือมีระบบต่างๆอะไรก็ค่อนข้างโต
เราสามารถเข้าไปใช้ระบบพวกนี้ซึ่งแก้ปัญหาหลายๆอย่างให้เราเรียบร้อยแล้ว
แล้วเราจะได้เน้นแก้ปัญหาอื่นที่มีประโยชน์กับลูกค้าได้
แทนที่จะมาเน้นพัฒนาระบบ

2) คุณภาพโค้ด

เหมือนว่า google ลงทุนระยะยาวนะ
การเน้นปล่อย code เร็ว อาจจะดีในระยะสั้นแต่เจ็บในระยะยาวได้

สำหรับ code อะไรที่อ่านยาก หรือขาด test
คนที่รีวิวจะไม่ปล่อยไปง่ายๆยกเว้นมีเหตุผลที่ดีนะ

จะ deploy อะไรก็ต้องประมาณว่าจะใช้ CPU หรือ memory ของ server เพิ่มเท่าไร

ซึ่งต้องกลับไปข้อ 1 อีกว่าเค้ามีระบบต่างๆที่จะมาช่วยป้องกันข้อผิดพลาด
และช่วยให้เราหาข้อมูลหาคำตอบเกี่ยวกับพฤติกรรมของ server ได้ง่าย

3) ความเปิดเผยข้อมูลสำหรับคนภายใน

google เคร่งครัดมากเรื่องข้อมูลที่จะหลุดไปสู่ภายนอก
อย่างเช่น ถ้าพนักงานถ่ายรูป code เผยแพร่ออกไป เราคิดว่าน่าจะโดนไล่ออกได้

แต่สำหรับคนภายในแล้ว ข้อมูลค่อนข้างจะเปิดมากๆ
มี repository เดียว แชร์ให้เห็นกันหมด (อ่านเพิ่มได้ที่นี่)

4) เป็นที่รวมคนระดับโลก

ถ้าจะหาผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าด้านไหนก็ตาม เจอแน่นอน
และบริษัทเหมือนว่าจะทำระบบออกมาแล้วแทบทุกประเภท
ฉะนั้นถ้าอยากหาความรู้ หาคำตอบด้านไหน ค่อนข้างชัวร์ว่ามันมีคนเคยทำแล้ว

บริษัทก็ไม่ได้ว่าป้อนความรู้ให้เรานะ
ถ้าอยากเรียนรู้ ต้องสรรหาขวนขวายเอาเอง แต่ถ้าขวนขวายก็จะเจอนะ

ข้อเสีย

ถ้ามองดูตัวบริษัท ตอนนี้ google กลายเป็นบริษัทยักษ์ไปแล้ว
ข้อเสีย คือ เราก็เป็นแค่เศษผงธุลี ในบริษัทยักษ์ใหญ่นะ
ถ้าอยากทำอะไรที่แบบกระทบบริษัทในวงกว้างคือ ยากสุดๆ
ไม่เหมือน start up ถ้าทำอะไร คือ เห็นเลยว่ากระทบธุรกิจได้

แล้วอย่างที่บอกข้างบน คือ หลายๆอย่างเร่งไม่ได้
จะ deploy อะไรแต่ละที ก็ต้องคุยกัน ต้อง approve
จะทำอะไรเร็วๆแบบ start up ก็ไม่ได้

นอกจากนั้นพอ google กลายเป็นบริษัทยักษ์
ทำให้เป็นที่เพ่งเล็งและโจมตี จากทุกๆด้าน
ตั้งแต่ สำนักข่าว และประชาชนทั่วไป
ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจหลายๆอย่างของบริษัท

เหมือนศิลปินอินดี้ ที่วันนึงกลายเป็นซุปเปอร์สตาร์มั้ง
เมื่อก่อนทำดนตรีโคตรเจ๋งคนชอบ
จากนั้นร่วมค่ายยักษ์ใหญ่ เริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น
โพสอะไรผิดบนอินสตาแกรม ก็คือ โดนด่ายับ อะไรงี้

ซึ่งเราว่าในโลกธุรกิจ เราเข้าใจได้อะนะ

ตอนนี้ก็มีคนเกลียด elon musk, bill gates
เกลียด facebook, apple, twitter, robinhood และ หลายๆบริษัท
เพราะสิ่งที่ไม่ดีที่ คน/บริษัท พวกนั้นทำ มันกระชากอารมณ์ลบได้แรงกว่า
สิ่งดีๆที่คน/บริษัทพวกนั้นทำ

ตอนตัดสินใจเลือกเข้า google หลักๆ ก็เลยเน้นจากเรื่องดีๆที่มันมอบให้นะ
มันเหมาะกับสิ่งที่เรากำลังหาอยู่ตอนนี้
และพวก benefit ก็ดีเลย คิดว่าเหมาะกับครอบครัวระยะยาวด้วย

เอาหละ สรุปคร่าวๆเสร็จละ
ต่อจากนี้จะขอเปรียบเทียบประสบการณ์ full time google กับประสบการณ์อื่นๆได้แก่

1. ประสบการณ์ตอนฝึกงานที่ google
2. ประสบการณ์ทำวิจัย ที่มหาวิทยาลัย ตอนเรียน ป เอก
3. ประสบการณ์ทำวิจัย ที่หัวเหว่ย สาขาอเมริกา
4. ประสบการณ์ full time บริษัท start up ในอเมริกาที่เคยทำ
5. ประสบการณ์ full time บริษัทในอเมริกาที่ไม่ใช่ tech
6. ประสบการณ์ full time ที่รอยเตอร์ (ตอนนี้คือ refinitiv) ที่เคยทำที่ไทย


เปรียบเทียบกับตอนฝึกงานที่ google

(สมัยฝึกงานตอนนั้น ได้ไปที่ออฟฟิศอยู่)

ที่ผ่านมาช่วงเราเรียน ป เอก เราฝึกงานที่ google ไปสามรอบนะ
เราก็เขียนเกี่ยวกับประสบการณ์พวกนั้นอยู่ ตรงนี้ ตรงนี้ แล้วก็ตรงนี้

ส่วนตัวรู้สึกว่าการฝึกงานและ full time ค่อนข้างจะแตกต่างเลย
หลักๆเป็นเรื่องขนาดของงาน เรื่องความซับซ้อนของงาน และคนที่ต้องทำงานด้วยนะ

ขนาด (scope) ของงาน

ตอนฝึกงาน คือ หัวหน้าเราเตรียมโปรเจคมาให้เราหนึ่งโปรเจคที่เราน่าจะทำเสร็จได้ภายใน 3 เดือน
ก็เลยจะเป็นโปรเจคที่ไม่ต้องเสียต้นทุนเยอะนักในการเรียนรู้

ตอนเป็น full time คือ เค้ามองว่าเราจะอยู่นาน
เค้าให้ผสมมาทุกอย่าง สำหรับ requirement หรือ bug ที่เค้ากำลังหาคนช่วยในขณะนั้น

สามารถมอบหมายได้ตั้่งแต่ งานจิ๋วๆ ที่ถ้าฝึกงานอยู่ไม่ใหญ่พอที่จะทำตลอดหน้าร้อน
จนกระทั่ง งานอะไรซักอย่างที่ขนาด requirement คลุมเครือ ต้องไปหาคนคุยเอาเอง
เพราะเค้าเห็นว่าอยู่ยาว ถ้าต้องเสียเวลาเรียนรู้เยอะ ไม่เป็นไร

ความซับซ้อน (complexity) ของงาน

ตอนฝึกงาน (อย่างน้อยจากการฝึกงานของเราอะนะ)
มันจะเป็นงานที่ไม่ต้องไปยุ่งกับระบบอื่นเยอะนัก
และถ้าทำอะไรผิดไปก็ไม่เดือดร้อนระบบอื่น

ตอนเป็น full time รู้สึกว่า
ปัญหาที่เค้าให้เราแก้ มันโยงเกี่ยวกับระบบนู้นระบบนี้เต็มไปหมด
จากที่ไม่เคยต้องคิดว่า โปรแกรมเราจะใช้ CPU หรือ RAM เท่าไร
ตอนนี้ต้องคิดละ เพราะ มันอาจจะไปกระเทือนโควต้าของเราได้ อะไรงี้

scope และ complexity มันก็รวมไปถึงว่า จะต้องทำงานร่วมกับใครด้วย

ความรู้สึกของเราตอนฝึกงาน คือ เราทำงานกับหัวหน้า และกับคนในทีมอีกคนนึงแค่นั้นแหละ
คุยกับสองคนก็ตอบโจทย์ได้ละ

สำหรับตอนนี้ เนื่องจากว่า มันจับทุกอย่างก็เลยต้องคุยกับทุกคนในทีม
รวมไปถึงคนทีมข้างๆ หรือ ทีมที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนก็มี
เอาจริงๆ ก็คล้ายๆอยู่ใน startup เล็กๆอันนึงภายในบริษัทใหญ่นะ
อยากได้คำตอบอะไร ต้องหาให้ได้ว่าต้องคุยกับใคร แล้วไปคุยกับคนนั้น

สิ่งที่ยังคงเหมือนกันระหว่างฝึกงานและ full time คือ
ความรัดกุมในเรื่องคุณภาพของโค้ด
ตั้งแต่ฝึกงานยัน full time เรื่อง code review ที่ได้จากเพื่อนร่วมงานไม่เคยหย่อน
และมักจะทำให้ได้เรียนรู้อะไรดีๆอยู่เรื่อยๆ

สิ่งที่ชอบที่สุดตอนฝึกงาน

สิ่งที่ชอบที่สุดตอนฝึกงาน คือ งานมันจบตรงนั้นตอนจบฝึกงาน
มันไม่มี feature หรือ bug เพิ่มมาเรื่อยๆระหว่างทาง
เราวางแผนดีๆ แล้วเราก็จะมีเวลาเหลือให้ไปเจอเพื่อน ฯลฯ เยอะเลย

ตอนนี้พอเป็น full time มันก็จะมีงานในคิวตลอดเวลา
ยิ่งเพิ่งเริ่มงานไม่ถึงปี รู้สึกว่า ต้องพยายามเรียนรู้ระบบต่างๆให้ทันคนอื่น
แล้วพอมีโควิดไม่ได้เข้าออฟฟิศ ก็จะแยกเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวยาก

แถมไม่มีกิจกรรมหลังเลิกงาน เหมือนเมื่อก่อนเพราะทุกคนอยู่บ้าน
ก็อาจจะเผลออยู่กับงานเยอะเกินไป
ต้องเตือนตัวเองบ่อยๆว่า ตั้งใจจะทำระยะยาว อย่ามาฟิตแถวนี้ เดี๋ยวจะเหนื่อยเกิน


เปรียบเทียบกับการทำงานในมหาวิทยาลัย

(ออฟฟิศที่มหาวิทยาลัย)


ตอนเราเรียน ป เอก เรามีตำแหน่ง ผู้ช่วยวิจัย (research assistant) ไปพร้อมๆกันนะ
คนที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเราก็เอาเงินที่ขอทุนได้จากรัฐบาล
มาจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับเราในฐานะผู้ช่วยวิจัย
(อันนี้ เป็นเรื่องค่อนข้างมาตรฐานของ เด็ก ป เอก ที่เรียนในเมกา ถ้าอาจารย์มีทุนพอ)

(หน้าตาคณะวิทย์คอม)

ถ้าเอาเรื่องของการตอบโจทย์จากปัญหาที่คลุมเครือสุดๆ
เราคิดว่าไม่มีอะไรจะเข้มข้นไปกว่าการทำวิจัยแล้วแหละ
เพราะการวิจัยหลักๆ ก็คือ การใช้วิทยาศาสตร์เพื่อตอบคำถามที่ยังไม่เคยมีใครตอบมาก่อน

โจทย์ก็จะมาจากอาจารย์ที่ปรึกษาประมาณว่า
"เนี่ยนะ ฉันคลุกคลีกับแขนงนี้มานานเรามาหาคำตอบสำหรับ X กัน"
โดย X บางทีจะเป็นอะไรที่กว้าง เช่น อะไรคือพฤติกรรมของโปรแกรม AI อะไรงี้

โจทย์ค่อนข้างจะกว้างคลุมเครือมากๆ แล้วเราก็จะต้องคุยกับอาจารย์ประมาณสัปดาห์ละครั้ง
แล้วก็ลองดูว่าปัจจุบันอะไรกำลังฮิตบ้าง ลองเล่นกับมันดู แล้วดูว่ามันมีอะไรช้าตรงไหน

ยกตัวอย่าง มีช่วงนึงตอนเรียนเอก ที่ apache spark มันกำลังฮือฮา
อาจารย์ให้ไปลอง install แล้วใช้ดู ดูว่ามันช้าตรงไหนบ้าง
แล้วจะช่วยแก้ความช้าได้ยังไงบ้าง อะไรงี้

หลายๆครั้งมันก็จะเจอทางตัน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเราใช้เวลาทดลองไม่พอ เลยไม่เจอโจทย์ที่น่าตอบ
หรือว่าขาดผู้มีประสบการณ์มาช่วยทำให้การเรียนรู้มันเร็วขึ้น
เสียเวลาศึกษานานเกินโดยไม่มีผลอะไร ฯลฯ

พอเจอทางตันแล้วเราก็ต้องลองอย่างอื่นใหม่ไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งมีบางอย่างที่น่าสนใจเกิดขึ้นมา
พอตอนนั้นก็ลุยแก้ปัญหา

ถ้าตันอีกก็หาต่อไป
แต่ถ้าแก้ปัญหาได้ก็ทำจนได้งานที่ขอบเขตใหญ่ประมาณนึง
ทำเสร็จแล้วก็จะวิทยานิพนธ์มาอันนึง

ส่วนนึงมันก็คล้าย start up อะ ที่ต้อง iterate บ่อยๆ เพื่อหาว่าลูกค้าต้องการอะไรแน่ๆ
ในโลกแห่งการวิจัย มันก็ iterate บ่อยๆ เพื่อหาว่ามีปัญหาน่าสนใจอะไรในโลกนี้ที่ยังไม่มีคำตอบบ้าง

ซึ่งเราโชคดี ได้อาจารย์ที่ไม่ดุ และให้อิสระเต็มที่ในการทำวิจัย
เราจัดเวลาอะไรของเราเอง แล้วเอาผลไปให้อาจารย์
ปัญหาอะไรที่เราสนใจ เราสามารถไปโฟกัสกับมันได้
โดยที่อาจารย์ไม่บังคับให้เปลี่ยน project หรืออะไรงี้

อีกอย่างกรณีเราคือไม่มีผู้ร่วมทำงานวิจัย
คือ อาจารย์เป็นสไตล์ชอบให้เด็ก ป เอก แต่ละคนทำงานของตัวเอง (ไม่ทำเป็นทีม)
ถึงแม้ข้อเสีย คือ ผลงานที่ได้มันไม่ใหญ่มาก (เพราะ ทำคนเดียว มันก็เลย output ได้แค่นั้น)
แต่ข้อดี คือ เราได้เรียนอะไรเต็มๆ และจะทำอะไร ไม่ต้องกระทบ หรือ โดนกระทบจากคนอื่น

ถ้าพูดถึงเพื่อนที่ทำงาน ก็คงเป็นเพื่อนในห้องแลบเดียวกันซึ่งถือว่าไม่สนิทเลย
และมีเพื่อนที่เรียน ป เอก วิทย์คอม ไม่กี่คน

จะไปมีเพื่อนนอกที่ทำงานซะมากกว่าและก็มักจะเป็นคนไทย
อาจจะไม่ใช่เพื่อน ป เอก แต่ถือเป็น "เพื่อนร่วมชะตา" ที่เข้ามหาลัยในเวลาเดียวๆกัน
เราเขียนโพสไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่นี่ มันคือประสบการณ์ที่ดีมาก

(ฤดูหนาวที่มหาวิทยาลัย)

ถ้าเทียบกับหน้าที่ของเราที่ google
สิ่งที่เราทำเป็น product เป็นงานสร้างระบบ งาน software engineer ไม่ใช่งานวิจัย
สิ่งที่เราทำก็มักจะมีการคิดมาแล้วจากเบื้องบน ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับลูกค้า
เราก็จะโฟกัสอยู่กับเรื่องเหล่านั้น

ถ้าเทียบความอิสระ อาจจะไม่ได้มีอิสระเวอร์เท่างานวิจัยในมหาวิทยาลัย
แต่ถือว่าเค้าก็ให้อิสระในการเลือกเวลาทำงาน หรือว่าอยากจะทำงานย่อยอะไรก่อนหลัง

เรื่องทักษะที่ใช้ก็ต่างกันประมาณนึง
นักวิจัยต้องมีทักษะทางวิทยาศาสตร์
คือ จะพูดเขียนอะไร ต้องมีเหตุผลมาสนับสนุนตลอด หาคำตอบด้วยการทำการทดลอง

ทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะการเขียน คิดว่านักวิจัยใช้มากกว่า software engineer
ส่วนทักษะการเขียนโปรแกรม การสร้างระบบ นักวิจัยใช้น้อยกว่า software engineer

สิ่งที่ชอบที่สุด

คิดว่าสิ่งที่ชอบที่สุดจากการเป็นเด็ก ป เอก ทำวิจัยในมหาวิทยาลัยคือ
การได้โฟกัสกับปัญหาอันนึงนานๆ
มันไม่มีอะไรมาทำให้เสียสมาธิ
ไม่มี bug ยิบย่อยจากลูกค้าเข้ามาที่เราต้องวางสิ่งที่ทำอยู่แล้วเข้าไปแก้
ทำอะไรอยู่ในกรอบเล็กๆ ไม่ต้องคอยระวังเรื่อง ความปลอดภัยของระบบ
อยู่ในสถาบันศึกษา ไม่ต้องกังวลเรื่องสิ่งที่เราทำมันคือการช่วยคู่แข่งไหม อะไรงี้

เอออีกอย่างที่ชอบก็คือชีวิตนักศึกษานะ เขียนแล้วเขียนอีก เรื่องนี้ ^_^


เปรียบเทียบกับการทำงานที่ huawei
(หน้าตาออฟฟิศด้านนอก)


เราได้มีโอกาสไปทำงานวิจัยที่หัวเหว่ยระหว่างที่เราเรียน ป เอก อยู่
สาเหตุที่ไปหลักๆ เพราะว่า อาจารย์ที่ปรึกษาลาพัก ประมาณ 3 เดือน
เทอมนั้นเค้าเลยอยากให้เราไปทำงานในแลบที่ huawei (สาขาอเมริกา)
เผื่องานที่ทำจะไปต่อยอดเป็นวิทยานิพนธ์ ป เอก ได้

อันนี้จริงๆเคยเขียนไปละที่นี่

แต่โพสนี้ต่างกันนิดนึงเพราะตอนนั้นที่ทำงานที่ google คือฝึกงาน
แต่ทำงานกับหัวเหว่ย ถึงแม้ตอนนั้นตั้งใจจะไปฝึกงาน
แต่เค้าก็จ้างตำแหน่ง fulltime และอยู่ที่นั่นปีกว่าๆ

งานที่ huawei หลักๆก็ คือ อยู่ในทีมที่เขียน compiler ให้กับ ชิพ AI ของ huawei
ในช่วงนั้นคือ huawei เหมือนกำลังพยายามตีตลาด AI
(ตามสไตล์บริษัท hardware ทั้งหลาย)

เข้าใจว่าทางสำนักงานใหญ่จะให้ความสำคัญกับงาน AI นี้
ภายในบริษัทเองก็เลยเหมือนจะมีหลายๆทีม ที่ทำอะไรคล้ายๆกันแข่งกันเอง

ทุกอย่างรู้สึกว่า เป็นคำสั่งจากเบื้องบน
และการเขียนโปรแกรม เน้นว่ามี product สำหรับ demo ทุก 2-3 สัปดาห์
จะได้เอาไปแข่งกับทีมอื่น

เนื่องจากทุกอย่างเหมือนจะเร่ง คนทั้งทีมต้องสามัคคีกันแบบสุดๆ
ต้องมาคุยกันว่าเราจะรีดความสามารถ ความถนัดของทุกคนยังไง
เพื่อให้ทัน demo ในเร็วๆนี้

คิดว่าในชีวิตการทำงานไม่เคยทำอะไรที่่ทีมมีผลผลิตอะไรออกมาได้เยอะมากขนาดนี้ในเวลาอันสั้นละ
แต่ข้อเสียก็คือ รู้สึกเหมือนขาดอิสระที่จะเลือกในสิ่งที่อยากทำ
ขนาดเรื่องประมาณว่าวันนี้ใครจะทำอะไรก็ถูกกำหนดในตอนเช้าของแต่ละวัน

ไม่ใช่ว่าหัวหน้าสั่งซะทีเดียวนะ
แต่มันอารมณ์ประมาณว่าถ้าเราไม่ทำงานชิ้นนั้นๆ ก็มีโอกาสจะไม่ทัน demo
สามัคคีกันอย่างกับมดก็ว่าได้

ซึ่งในทีม เราว่ามีนักวิจัยที่เจ๋งๆ หลายคนอยู่เลย
รู้สึกว่าพวกนี้เก่งแบบมากๆอะ ถ้าจะเป็นตำแหน่งแบบ research scientist ได้

แต่เนื่องจากว่างานเหมือนจะเร่งตลอดเวลา
เลยไม่ได้มีเวลาเรียนรู้จากคนพวกนี้เท่าที่อยาก

ในเรื่องของ code review
เนื่องจากไม่มีเวลามาเน้นคุณภาพ design ดีๆ
หลายๆครั้งคิดอะไรอย่างแรกออก ก็เขียนให้เพื่อนรีวิวเลย

และหลายๆครั้งพอรีวิวนานเกิน หัวหน้าก็ต้องมาคอยบอกทีมว่า
มีทางไหนให้รีวิวผ่านไปก่อนไหม แล้วค่อยมาแก้
มี tech debt ใหญ่ขึ้นๆเรื่อยๆ

ส่วนตัวถ้าอยู่ในสังคมที่มีความกดดันสูง
ก็จะเอาตัวรอดได้ และส่งงานได้ครบ
แต่ก็จะกระเทือนสุขภาพจิตค่อนข้างสูง
ช่วงนั้นสุขภาพจิต ก็เสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ
และเนื่องด้วยว่า งานวิจัยที่ทำ ตั้งใจจะให้ต่อยอดไปเป็นวิทยานิพนธ์
การลาออกจึงเป็นอะไรที่พยายามหลีกเลี่ยงยกเว้นว่าไม่ไหวแล้วจริงๆ

ก็ทำงานไปเกือบปีครึ่ง แล้ววันนึงอยู่ๆหัวหน้าก็ขอคุยด้วย
สรุปว่า โดนัลด์ ทรัมป์ (ประธานาธิปดีของอเมริกาขณะนั้น)
ประกาศแบน huawei ในอเมริกา
ไอ้ชิพ AI ที่เรากำลังทำวิจัยอยู่ ก็เลยโดนย้ายกลับจีน แล้วเราก็ทำอะไรต่อไม่ได้

(โต๊ะทำงาน ก่อนออฟฟิศโดนยุบ)

ออฟฟิศก็โดนยุบไปเลย
สรุปว่านี่กูโดน layoff ใช่ไหม
ถือ เป็นการโดน layoff ที่รู้สึกโล่งมากๆ เพราะทำงานเครียดมานาน แล้วไม่ต้องลาออกเอง

ถ้าจะให้สรุปสั้นๆ ทำงานที่ huawei ความกดดันสูงมาก
หลักๆเพราะ deadline สำหรับ demo ที่มาทุกสองสัปดาห์

ถ้าไหนๆพูดถึงความกดดัน
ก็ขอพูดถึงความกดดันในฐานะพนักงาน full time ที่ google บ้าง
(ซึ่งไม่ได้ชิวมากเหมือนตอนฝึกงานแล้ว)

อีกหนึ่งความรับผิดชอบที่เราได้จาก google ตอนเป็น full time
ที่ไม่ได้ตอนเป็นเด็กฝึกงาน ก็คือ การอยู่เวร (on call)

การอยู่เวร คือ ถ้าระบบมีปัญหาอะไร
ระบบมันก็จะตามอัตโนมัติทันที (เช่น แอพที่ลงไว้สัญญาณจะดัง)
เรามีหน้าที่หลักที่จะต้องเข้าไปดูและแก้ไข

ต้องเข้าไปดูระบบ monitor ฯลฯ ดูว่าตรงไหนมันเป็นปัญหาได้บ้าง
เป็นปัญหาชั่วคราวไหม เช่น ผู้ใช้เยอะเฉยๆแค่จังหวะนั้น
หรือเป็นปัญหาของระบบอื่นไหม เช่น เน็ตเวิรค์ล่มพอดี
หรือเป็นปัญหาของระบบเราเอง ซึ่งถ้าใช่ เราต้องหาทางแก้เลย

ซึ่งไอ้การอยู่เวรแบบที่โดนตามได้ 24 ชั่วโมงเนี่ย มันไม่ได้มีทุกทีมหรอกนะ
แต่ทีมที่มี product ที่ลูกค้าภายนอกใช้ เช่น ทีมของเรา ก็ต้องมีการอยู่เวร

สำหรับทีมเรา ผลัดกันอยู่เวรคนละสัปดาห์ และต้องพร้อมที่จะโดนตามตลอด 24 ชม
ตอนสัมภาษณ์เข้าทีม หัวหน้าเราบอกว่า ไม่ต้องกลัวหรอก
นานๆครั้งจะโดนตามตอนดึก

เราอยู่เวรมาแค่สองรอบก็ทำลายสถิตินั้นไปละ จะเล่าให้ฟัง

ครั้งแรก เราก็ไม่โดนตามตอนดึกนะ
แต่เผอิญเราได้วันซวยพอดี โดนตามระหว่างเวลาทำงานเนี่ยแหละ
แต่โดนหนักหน่วงมาก มีปัญหาตั้งแต่เที่ยงจนถึงค่ำ
นัดเพื่อนกินข้าวไว้ก็ไปเลท 2 ชั่วโมง

ครั้งที่สอง โดนตามตอน ตี 4 วันนึง และตอนตี 5 อีกวันนึง
ทั้งสัปดาห์คือรู้สึกไม่มีพลังงาน หลังจากวัฏจักรการนอนโดนป่วน
แถมมีงานปกติที่ยังต้องทำให้เสร็จ ก็เลยทำงานจนค่ำ

ซึ่งตรงนี้แหละ ที่เราคิดว่าเป็นความกดดันหลักๆตั้งแต่เราทำงานที่ google
เรื่องอื่น เช่น งาน ทีม และหัวหน้า ทุกอย่างเรารู้สึกว่าโอเคเลย

สิ่งที่ชอบที่สุด

สำหรับ huawei แล้วสิ่งหลักๆที่ชอบที่สุด คือ
ได้ทำงานกับนักวิจัยนะ
พวกนี้ความคิดเป็นเหตุเป็นผลมาก
และมีความรู้ในแขนงของตัวเองลึกมาก

ได้เรียนรู้จากวิธีคิดและวิธีทำงานของเค้า
ว่าเค้าถามคำถามอะไรบ้าง เค้าหาคำตอบยังไง ฯลฯ

อีกอย่างคือได้เห็นพลังของความสามัคคีนะ
ถึงแม้ว่าคนคนนึงในทีมจะรู้สึกขาดอิสระ
แต่ผลลัพธ์ที่ทีมผลิตออกมา มันเจ๋งดี
เหมือนว่าทุกครั้งที่หัวหน้าเอาผลงานของทีมไป demo ให้สำนักงานใหญ่
แล้วกลับมาบอกผลลัพธ์ดีๆ ก็รู้สึกภูมิใจเล็กๆนะ


เปรียบเทียบกับการทำงานที่ startup
(ตึกออฟฟิศเน้นประหยัดค่าใช้จ่าย)


ก่อนที่เราจะเริ่มเรียน ป เอก เราทำงาน startup แห่งนึง ชื่อ samegoal
มันเป็นบริษัทที่ทำ product ที่คล้ายๆ google docs
แต่เฉพาะทางสำหรับผู้ใช้ที่เป็นคุณครูในโรงเรียนสำหรับเด็กพิการ

คือ ในอเมริกา เหมือนว่าโรงเรียนสำหรับเด็กพิการ
มันจะต้องมีแบบประเมิน แบบฟอร์มของรัฐบาล
ที่คุณครูและบุคลากรในโรงเรียนต้องกรอก
แล้วมันก็กรอกยากใช้ได้

start up ที่เราทำเลยอยากทำให้ชีวิตบุคลากรเหล่านี้มันง่ายขึ้น
เลยทำอะไรที่คล้ายๆ google docs คือ มีเอกสารที่คนหลายๆคนกรอกพร้อมกันได้
มีการช่วยกรอกอัตโนมัติ และเพื่อเพิ่มความเร็วและลดความผิดพลาด

(ข้างในตึก)

ซึ่งตอนนั้นก็ถือว่าฟลุคใช้ได้ ที่ไปเจอบริษัทนี้ขณะที่ยังอาศัยอยู่รัฐ wisconsin
(พวกงานเทคโนโลยีเยอะๆ มันจะอยู่แถวที่เรียกว่า silicon valley ซึ่งอยู่รัฐ california)

founder ก็เป็นพนักงานเก่า google แหละนะ
ซึ่งเค้าก็เล่าให้ฟังว่า เค้าอยู่ google ตั้งแต่พนักงานต่ำกว่า 1000 คน
แล้วซักพักรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นแค่เฟืองเล็กๆในบริษัท
เลยอยากออกมาทำอะไรเองจะได้กลายเป็นรถจักรแทน ชอบงานแบบนั้นมากกว่า

เราก็เข้าไปร่วมบริษัทเป็น software engineer คนที่ 3
แล้วตอนนั้นก็คือ สนุกมากกกก

เรื่องการเขียนโปรแกรมก็ได้จับทุกอย่าง ตั้งแต่ backend ยัน frontend ฯลฯ
เขียน nosql database, rpc library, message queue, build, deploy system เอง
ซึ่งทุกๆอย่างที่เราเขียนกันเอง
เหมือนว่า open source ที่มีในขณะนั้นไม่ตอบโจทย์

ได้เดินทางกับ sales ไปอยู่โรงแรมซอมซ่อแบบในหนัง (motel)
ในเมืองกันดารๆ เพื่อไป demo ให้โรงเรียนดูวันถัดมา
ได้ไปเปิดซุ้ม career fair ที่มหาลัยใกล้ๆ ไปรับสมัครนักเรียน
ได้กรอง resume และสัมภาษณ์ผู้สมัครทั้งทางโทรศัพท์ และสัมภาษณ์ตัวเป็นๆ
ฯลฯ

(เคยไปตั้งซุ้มที่ career fair ด้วย)

ตอนนั้นได้เปิดโลก เกี่ยวกับการเขียน distributed system
และได้เรียนรู้วิธีการสร้างระบบใหญ่ๆขึ้นมาจริงๆ

คิดว่าประสบการณ์ที่นั่นเป็นส่วนสำคัญ
ที่ช่วยปูพื้นฐานการเขียนโปรแกรม การออกแบบ สร้างระบบทุกอย่างให้มั่นคง
ซึ่งมันช่วยให้การเรียนรู้ระบบตอนนี้ที่ google เป็นไปอย่างราบรื่นมากๆ

งานตอนนั้นต้องยอมรับว่าหนักมาก
มีบางสัปดาห์ที่ทำงาน 10 โมงเช้าถึงตีสามทั้งสัปดาห์
กลับมาบ้านทุกคนนอนแล้ว แต่มีแมวมาคอยต้อนรับอยู่

สุดท้ายก็ลาออก เพราะรู้สึกว่าเวลาทำงานมันกินเวลาครอบครัวเยอะเกินไป
(อีกอย่างก็คือลาออก มาเรียน ป เอกนั่นแหละ)

ความแตกต่าง

ก็จะเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่ google ตอนนี้โดยเน้นเรื่อง
ความแตกต่างของ start up กับบริษัทใหญ่ละกัน
มีหลักๆที่นึกได้ 3 อย่าง

1) เห็นผลกระทบของงานที่เราทำไปแค่ไหน

startup เวลาทำอะไร จะเห็นผลกระทบจากงานตัวเองไปถึงลูกค้า ง่ายกว่า
บริษัทใหญ่เวลาทำอะไร จะเห็นผลกระทบจากงานตัวเองไปถึงลูกค้า ยากกว่า

สิ่งที่ต่างกัน คือ เห็นหรือไม่เห็นผลกระทบ
แต่เอาจริงๆแล้ว
เรื่องประโยชน์จากมุมมองของลูกค้าที่ได้จากทั้งสองที่ คือ จะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้

startup มีแนวโน้มที่จะช่วยลูกค้ากลุ่มเล็กๆจำนวนนึง แต่ช่วยแบบโคตรช่วย
ส่วนบริษัทใหญ่ๆ มีแนวโน้มที่จะช่วยลูกค้ากลุ่มใหญ่กว่า แต่จะให้ทุกคนพอใจสุดๆก็ยากอยู่

2) อย่างที่สอง เรื่องความพร้อมของ infrastructure

startup เพิ่งเกิดไม่นาน พวกระบบต่างๆยังไม่โต
บริษัทใหญ่ เกิดมานานแล้ว มีระบบต่างๆพร้อม

ยกตัวอย่าง เรื่องระบบ continuous integration
ตอนเราเพิ่งเข้าไปทำ startup ก็จะต้องมานั่งลงระบบ config ระบบกัน
แต่บริษัทใหญ่มักจะมีอยู่แล้ว มีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เรียบร้อยแล้วด้วย

3) เรื่องการเรียนรู้

startup กับบริษัทใหญ่มีโอกาสเรียนรู้คนละแบบ

startup เป็นสังคมเล็กๆ ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะ
เวลาเข้าไปทำงาน แทบจะคลุกคลีทุกอย่าง
หรือพูดอีกอย่างคือ การทำงาน startup ได้เรียนทุกอย่างในสังคมเล็กๆ
ซึ่งง่ายกว่า ตัวงานมันบังคับว่าเราต้องเรียนรู้

ในทางกลับกัน บริษัทใหญ่
มีลูกค้ากลุ่มใหญ่กว่า ระบบโตกว่า
เวลาเข้าไปทำงานมักจะได้จับแค่ของย่อยๆ

แต่ถ้ามีเวลาเหลือ และสรรหาความรู้
มันเป็นโลกที่ใหญ่กว่า และมีอะไรให้เรียนรู้เยอะกว่า
แค่ว่าเราต้องเป็นฝ่ายพยายามขวนขวายเอาเอง

การเรียนรู้อาจจะยากกว่า เพราะไม่โดนบังคับว่าต้องรู้ทุกอย่าง
แต่ถ้าอยากเรียนรู้ โลกของบริษัทใหญ่มันกว้างกว่า มีอะไรให้เรียนรู้เยอะกว่า

และมีข้อดีข้อเสียอีกต่างๆมากมายสำหรับ startup vs บริษัทใหญ่
เช่น เรื่องการเงิน work-life balance ฯลฯ
แต่เหมือนว่าหลายๆอย่างเป็นที่พอจะรู้กันอยู่ละ

สิ่งที่ชอบที่สุด

สิ่งที่ชอบที่สุดจากการทำงานที่ samegoal คือ
การได้เรียนรู้หลายๆอย่าง โดยเฉพาะประสบการณ์สร้างอะไรใหม่ๆจากศูนย์
ถ้าเปรียบเทียบ อาจจะเป็นอารมณ์อาจจะประมาณว่าได้ประกอบรถยนต์ขึ้นมาคันนึงด้วยตัวเองอะไรงั้นมั้ง

เทียบกับ google ซึ่งมี infrastructure พร้อม
โจทย์ที่ต้องเริ่มจากศูนย์ มีคำตอบแทบหมดแล้ว
การจะทำอะไรเป็นการต่อยอด เน้นผลประโยชน์ลูกค้าเอา
เลยขาดความมันส์ในการได้ออกแบบอะไรเองจากศูนย์ในฐานะโปรแกรมเมอร์


เปรียบเทียบกับการทำงานบริษัทในอเมริกา ที่ไม่เน้น tech
(ไม่มีรูปที่ทำงาน แต่ตอนที่ทำงานที่นั่น เป็นช่วงที่รับแมวมาเลี้ยง)


อีกบริษัทนึงที่เคยทำงานด้วยในอเมริกา คือ FedEx นะ
(เออ บริษัทส่งของนั่นแหละ)

ถึงแม้ว่าจะมี tech อยู่หลังบ้าน
แต่ในมุมมองของเรา FedEx ไม่ใช่บริษัท tech
(เทียบกับมุมมองของเราต่อบริษัทอย่างเช่น agoda หรือ wongnai งี้ซึ่งเราคิดว่าเป็นบริษัท tech)

ประสบการณ์ทำงานที่นี่ ค่อนข้างจะต่างกับที่อื่นๆ

สาขาที่ทำงานก็เป็นตึกที่มี 2 ส่วนหลักๆ
คือส่วนที่เป็น office กับส่วนที่เป็นโกดัง

ส่วนที่เป็น office พวก IT อยู่ชั้น 1 พวก business อยู่ชั้น 2
ส่วนที่เป็นโกดัง มันก็จะมีไอ้รถที่เอาไว้ยกของหนักๆ
มีสายพานนู่นนี่นั่น เอาไว้จัดสรรพวกพัสดุต่างๆ

จนป่านนี้ให้นึกกลับไปยังไม่เข้าใจว่างานที่ตัวเองทำมันคืออะไร
ความทรงจำเรื่องงานที่นั่นมันหายไปในหลุมดำแล้ว
จำได้แค่ว่าทุกอย่างเป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า j2ee กับ spring
ซึ่งช่วงที่อยู่ที่นั่น แทบจะไม่ได้ทำความเข้าใจเลยว่าระบบมันทำงานยังไง

ตอนเข้าไปหัวหน้าก็มอบหมายบัดดี้มาให้คนนึง ชื่อ rick
โดย rick น่าจะเป็นคนที่เรารู้สึก positive ที่สุดที่นั่นละ
มีอะไรก็คอยช่วย คอยสอนตลอด

สำหรับ fedex สาขาที่เราทำ
ทุกๆวันก่อน 9 โมงเช้า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องคำนวณว่า เมื่อวานมีพัสดุเข้ามากี่ชิ้น
ซึ่งทาง business คงสำคัญมั้ง

แต่ที่ไม่เข้าใจคือความซีเรียสของการคำนวณเลขตัวนี้
เหมือนว่า ห้ามพลาดเด็ดขาด ต้องเอาตัวเลขจากนู่นจากนี่มาคำนวณหลายๆทาง
แล้วเลขมันต้องเท่ากัน

ช่วงต้นเดือนธันวาคมก็มีความสนุกสนานเป็นพิเศษ
คือ มันเป็นฤดูที่คนจะส่งของขวัญคริสมาส
พัสดุจะเยอะเป็นพิเศษ
เค้าก็จะจ้างคนงานในโกดัง part time มาเสริมเพื่อจะได้ช่วยจัดการพัสดุ

เนื่องจากคนมาที่ตึกเยอะขึ้น ที่จอดรถเลยไม่พอ
พวก IT เลยโดนแบ่งเป็นสองกะ
กะเช้า คือ ทำงานตี 5 ถึงบ่ายสอง
กะเย็น คือ ทำงานบ่ายสองถึง 5 ทุ่ม

เราได้ทำงานกะเช้า
จำได้ว่าเดือนธันวาตอนตี 5 คือหนาวมาก
แต่การทำงานเสร็จบ่ายสองก็ไม่แย่เหมือนกันนะ

(หน้าร้อนกับหน้าหนาว อุณหภูมิต่างกันใช้ได้)

ทำงานไป 9 เดือนรู้สึกว่าไม่ได้พบความสนุกตื่นเต้นเรียนรู้กับงานที่ทำ
ก็เลยลาออก แล้วไปทำงาน startup ที่บอกด้านบน

แต่สิ่งนึงที่สังเกตุได้ที่นั่นก็คือ
คนที่นั่นเป็นคนครอบครัวซะส่วนใหญ่
อาจจะเป็นเพราะนั่นคือประชากรส่วนใหญ่ของเมืองที่อยู่ (เมือง milwaukee รัฐ wisconsin)

ครอบครัวที่ว่าก็เป็นแบบ "ครอบครัวมาตรฐานอเมริกัน"
พวกที่ทำงาน 8 โมงเช้า แล้วพอถึง 4 โมงเย็นก็ไปรับลูกที่โรงเรียน
ชอบดูอเมริกันฟุตบอล และคุยแต่เรื่องอเมริกันฟุตบอลในห้องพักเที่ยง

น้อยคนอย่างเช่นเรา ทำงาน 9 โมงกลับ 5 โมง
ช่วง 4-5 โมงเย็นคือแทบจะไม่เหลือใครแล้ว

ไม่มีความเครียดจากการทำงานแม้แต่น้อย
ไม่มีอะไรเร่ง ไม่มีใครอยู่ดึกให้เรารู้สึกผิดด้วย

สิ่งที่ชอบที่สุด

สิ่งที่เราชอบที่สุดจากการทำงานที่ fedex
ก็คือ ความตัดขาดจากงานได้โดยสิ้นเชิงหลังจากเลิกงานเนี่ยแหละ
คือ ในทีมไม่มีใครทำงานนอกเวลางานเลยจริงๆ
หลังเลิกงานเรากลับบ้านไปดูทีวี เล่นเกม สบายใจมาก

(เป็นเมืองแห่งเบียร์)
เปรียบเทียบกับขณะนี้เราทำงานจากบ้าน
แล้วพองานเยอะตลอด
มันอดไม่ได้ที่จะคิดเรื่องงานหลังเวลาเลิกงาน หรืออย่างแรกตั้งแต่ตื่นนอน
บวกกับว่ามันก็มีคนในทีมที่ทำงานหนักๆ
เราก็รู้สึกผิดเวลาไม่ได้ทำงานอะไรงี้
ทั้งๆที่หัวหน้าก็ย้ำแล้วว่า ไม่ได้คาดหวังให้ใครทำงานนอกเวลา แต่มันก็อดเช็คอีเมลไม่ได้

จริงๆมันอาจจะเป็นเพราะโควิด มากกว่าเรื่องการทำงานที่ google
แต่เราก็เทียบประสบการณ์จากความรู้สึกโดยรวมแหละ

เออ แต่ตอนทำงาน ป เอก คือมันก็เหมือนว่าเวลางานคือ 24 ชม.
แต่ก็ไม่ได้รู้สึกผิด หรือคิดเรื่องงานตลอดนะ
อาจจะเพราะ deadline ที่ไม่ชัดเจนของ ป เอกก็ได้
แล้วก็อาจจะเป็นเพราะตอนเรียน ป เอก ไม่มีอารมณ์เพื่อนในทีมที่ทำงานนอกเวลา
เพราะไม่มีเพื่อนในทีมอยู่แล้ว ทำอะไรคนเดียวตลอด


เปรียบเทียบกับการทำงานที่ประเทศไทย
(ห้อง test ที่รอยเตอร์)


และสุดท้ายที่พลาดไม่ได้
ก็คือการเปรียบเทียบกับประสบการณ์ทำงานที่ไทย

หลังจากเราเรียนจบ ป ตรี เราก็ทำงานที่รอยเตอร์นะ
(ซึ่งมันเปลี่ยนชื่อเป็น thomson reuters แล้วก็เปลี่ยนเป็น refinitiv)

ถือเป็นบริษัทฝรั่งแต่เป็นสาขาในประเทศไทยนะ
สิ่งที่แตกต่างกับประสบการณ์อื่นๆ (ซึ่งอยู่ที่อเมริกาทั้งหมด) อย่างชัดเจนที่สุด
คือ เพื่อนร่วมงาน สังคมที่ทำงาน และสังคมนอกที่ทำงาน
ก็เลยคิดว่าการเปรียบเทียบนี้อาจจะไม่ได้เปรียบเทียบเรื่องตัวงานซะทีเดียว
แต่เป็นการเปรียบเทียบชีวิตโดยรวมขณะที่ทำงานที่นั่นซะมากกว่า

จังหวะนั้นคือเป็นนักศึกษาจบใหม่
หลักๆที่เข้ารอยเตอร์ เพราะ ไม่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ที่อื่น
รอยเตอร์สัมภาษณ์และให้ offer เร็วมาก

จริงๆ ถ้าวางแผนดีๆ มันสัมภาษณ์หลายๆที่ได้
แต่ตอนนั้นเป็นเด็กเพิ่งจบตรี ไม่รู้กลไกของสังคมการทำงานเท่าไร

แต่เข้าแล้วเรียกว่าไม่เสียใจซักนิดนะ

ตอนนั้นรอยเตอร์เค้าพยายามจ้างนักศึกษาจำนวนมาก
เป็นบริษัทที่แบบ เหมาเช่าตึกแถวสีลมหลายๆชั้น
ก็จะมีคนวัยเดียวกันเข้าไปพร้อมกันเป็นสิบๆคน (ไม่แน่อาจจะร้อย)

(เพื่อนรุ่นเดียวกันจากธรรมศาสตร์ก็หลายคนแล้ว)

ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยก็
ก็คือเหมือนมี freshmen เข้าไปพร้อมกันเยอะๆ
แล้วทุกคนจะอยู่ในโหมด พร้อมทำความรู้จักเพื่อนใหม่
มันก็เลยสนุกไปหมด

ตอนนั้นก็เขียนโปรแกรมบน microsoft มีอะไรที่ไม่เก็ตไม่เข้าใจไม่เห็นภาพรวมแบบเยอะมาก
เพราะโปรแกรมที่เขียนตอนอยู่มหาวิทยาลัยมันแตกต่างกับโลกความจริงซะเหลือเกิน
สิ่งที่เรียนรู้ตอนนั้นที่ยังติดมาถึงตอนนี้ คือ การทำงานเป็นทีมนั่นแหละ

ทีมย่อยที่เราอยู่มีคนประมาณ 10 คน
ซึ่งเป็นส่วนนึงของทีมใหญ่ที่มีน่าจะ 100 คน
รู้สึกว่าแทบทุกคนคือ friendly และเป็นกันเอง

(พี่ๆในทีม)

แถมยังได้เจอเพื่อนสนิทใหม่ที่นี่หลายคนด้วย
มีเพื่อนกินข้าวเที่ยงทุกวัน (ตอนเรามาเรียนหรือทำงานที่อเมริกา นานๆทีจะมีเพื่อนกินข้าวด้วย)
หลังเลิกงานบางทีก็ไปกินข้าวเย็นกับเพื่อนที่ทำงานอะไรงี้

ที่สำคัญมากๆ ได้เข้าไปร่วมชมรมเล่นดนตรีในนั้น
และก็ได้เจอพี่และเพื่อนสนิท ที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นมากๆ
เล่นกันจนมีเครื่องดนตรีเก็บไว้ที่ทำงาน จะได้เอาไปซ้อมกันในห้องประชุมใหญ่

ทุกครั้งที่มีนัดซ้อมจะเป็นวันที่อยากไปทำงานเป็นพิเศษ
(จริงๆคืออยากไปรอเวลาเลิกงานเพื่อจะได้ไปซ้อม)

(เพื่อนๆในวงดนตรี)

เวลามีพวกระดับใหญ่ๆมาเยี่ยมจากรอยเตอร์สาขาอื่น
พวกชมรมดนตรีก็มักจะได้ไปเล่นดนตรีสดเป็นฉากหลังระหว่างที่เค้ากินข้าวกัน
เคยไปเล่นบนเรือ cruise แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วก็  central world (พื้นที่เล็กๆฝั่งที่รถไฟฟ้าผ่าน)
เอ๊ะหรือตอนนั้นมันเรียก world trade center วะ

สิ่งที่ชอบที่สุด

อันนี้ตอบได้ค่อนข้างง่าย
โดยรวมคิดว่าสิ่งที่ชอบที่สุดจากการทำงานที่รอยเตอร์ คือ สังคมที่ทำงานนะ
จนป่านนี้ยังไม่เจอสังคมที่ทำงานที่คล้ายรอยเตอร์เลย นึกถึงแล้วยิ้มทุกครั้ง

ในมุมมองของเรา คนไทยนิยมเกาะกลุ่มกัน
ส่วนทางอเมริกาคนมีเป็นตัวของตัวเองมากกว่า

ซึ่งการเกาะกลุ่ม มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
คิดว่า ถ้าเข้ากลุ่มที่ถูก จะมีความสุขมาก
ถ้าเข้ากลุ่มที่ผิด จะมีความทุกข์มาก

ในทางกลับกัน ถ้ามีความเป็นอิสระสูงไม่เข้ากลุ่ม ก็ไม่สุขมากไม่ทุกข์มาก


สรุป


ตั้งแต่จบ ป ตรี แล้วเริ่มงานแรก จนถึงตอนนี้ โห ประมาณ 15 ปีแล้วนะเนี่ย
เพื่อนๆต่างก็มีเส้นทางชีวิตของตัวเอง
มีกิจการของตัวเองบ้าง หรือเป็นใหญ่เป็นโตในบริษัทบ้าง

เส้นทางที่เราเลือก จบตรี ทำงาน เรียน โท ทำงาน เรียน เอก แล้วก็ทำงานสลับกัน
ก็เป็นอีกเส้นทางนึงที่เวลามองกลับไป ก็รู้สึกว่า เออ มันก็มีสีสันดีนะ
ก็เลยเอามาเล่าให้ฟัง

จะว่าไปทุกๆที่ที่เราเคยทำงาน ก็มีความทรงจำดีๆค่อนข้างเยอะอยู่
แต่ละที่มีสิ่งที่เราชอบที่สุดค่อนข้างต่างกันไป

ยินดีด้วยที่อ่านจบ 🤣🤣🤣
ถ้ามีคำถามอะไรก็ทักมาในเฟสบุ๊คเพจละกันนะ

July 22, 2021

วิธีแก้ imposter syndrome

(เตะบอลมาตั้งแต่มัธยม ซ้อมก็บ่อย แต่ก็ยังมีคนเก่งกว่าเรา แต่ก็ยังเตะนะ)


เตะบอล

เราเคยสงสัยนะเรื่องเตะบอล ว่า ไอ้พวกคนที่เดาะบอลเก่งๆเนี่ย มันฝึกเดาะบอลทำไม
เราคิดงี้เพราะว่า เวลาเตะบอลกันเนี่ย เค้ามักจะวัดกันว่ายิงประตูได้เยอะกว่ากัน
การเดาะบอลเก่ง อาจจะแปลว่าจับบอลไม่พลาด แต่มันไม่ได้นำไปสู่การยิงประตูเท่าไร

ส่วนตัวคิดว่า ถ้าจะให้ฝึกเน้นๆ สำหรับคนที่ไม่มีเวลาฝึกทุกอย่าง
ฝึกรับส่งระยะสั้น มีประโยชน์สุดละ
เพราะถ้าสามารถควบคุมลูกบอลที่ห่างออกจากตัวไปได้ระยะสั้นๆ
ก็สามารถส่งให้เพื่อนร่วมทีม หรือ ถ้าอยู่ใกล้ๆประตูก็เล็งมุมๆ ให้ผู้รักษาประตูรับไม่ถึงได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น
พวกเดาะบอลเก่งๆ มันอาจจะส่งระยะสั้นเก่งด้วยก็ได้
แต่ที่สำคัญ คือ ขอให้ยิงประตูได้

ทำงาน

ทีนี้สำหรับบางอาชีพ เช่น โปรแกรมเมอร์เนี่ย
มันจะมีคนที่รู้สึกผิด ถ้าไม่ทำงานเช้า ถ้าไม่กลับค่ำ
เวลาทำงานหลายๆชั่วโมง มันรู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ตามความรับผิดชอบ

ทั้งๆที่ (สำหรับเจ้านายดีๆ) เค้าวัดกันที่ผลลัพธ์เฉยๆ
ถ้าสัญญาว่าจะส่งงานได้ แล้วส่งตามกำหนด
ระหว่างนั้น แต่ละวัน ถ้าวันไหนจะทำงานกี่ชั่วโมง
จริงๆมันไม่ควรจะเอามาวัดกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น
พวกที่ส่งงานได้ครบ มันอาจจะทำงานหนักก็ได้
แต่ที่สำคัญ คือ ขอให้ส่งงานได้ครบ

ใช้ชีวิต

ทีนี้สำหรับการใช้ชีวิตเนี่ย
มันจะมีคนที่รู้สึกว่า ตัวเองไม่เก่งพอที่จะมาอยู่ในที่ที่นึง
หลายๆคนอาจจะเรียกสิ่งนี้ว่า imposter syndrome

คนที่มีอาการนี้มักจะคิดว่า
ที่ตัวเองได้มาอยู่ในตำแหน่งๆนึง
มันไม่ใช่เพราะความสามารถตัวเอง แต่เป็นเพราะโชคช่วย
จริงๆมีอีกหลายเรื่องที่ตัวเองยังกระจอกอยู่
กลัวคนอื่นจับได้จังเลย

เช่น คนที่เพิ่งเริ่มเขียนโปรแกรม
จะมีสิทธิ์อะไรที่จะมาสอนคนอื่นเขียนโปรแกรม
เพราะก็มีคนอื่นเก่งกว่าอีกเยอะ

ทั้งๆที่ หลายๆครั้งในชีวิต สิ่งที่เราสนใจคือ "ประโยชน์"

ถ้าเราเป็นนักเรียนที่อยากเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อที่จะไปเที่ยวญี่ปุ่นได้
ถ้ามีครูที่สามารถสอนเราจนพูดเป็นได้
เราไม่สนใจเท่าไรหรอกนะ ว่าครูที่มีประสบการณ์พอสอนได้
หรือว่าเป็นคนที่เชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นที่สุดในโลก
ตราบใดที่ครูนั้นพาเราไปถึงจุดหมายได้
(เผลอๆ คนที่เชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นที่สุดในโลก สอนห่วย เรียนไม่รู้เรื่องก็เป็นไปได้)

ทั้งนี้ทั้งนั่น
พวกที่สอนเก่ง มันก็อาจจะเก่งจริงก็ได้
แต่ที่สำคัญ คือ ขอให้มันเกิดประโยชน์กับคนอื่น

ความอยากชนะ + อยากมีเอกลักษณ์

หรือว่าที่คนเราพยายามเสาะหาความ "เก่ง"
เป็นเพราะคนเราอยากเอาชนะ
หรืออยากมีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์กว่าคนอื่น

อันนี้มี mindset ที่อาจจะพอช่วยได้

เราคิดว่าคนประมาณ 90% สามารถเป็นทอป 5 ของโลกได้ไม่ยากนะ

ยกตัวอย่าง เราคิดว่า เราเป็นลูกชายที่แม่เรารักที่สุดในโลก
เรามีพี่สาวคนนึงแต่เค้าไม่ใช่ลูกชาย ฉะนั้นเราคือที่ 1 ในโลกเรื่องนี้

มีความสุขจัง พอใจละ


ไม่เก่ง

เราว่าความ "เก่ง" มันเป็นภาษาที่กำกวมนะ
จะวัดก็วัดยาก

ถึงวัดได้จริงๆ มันก็มีไม่กี่เรื่อง (เช่น กีฬา) ที่วัดกันที่ความเก่ง

แต่หลายๆเรื่องในชีวิตไม่ได้วัดกันที่ความเก่ง
หลายๆเรื่องในชีวิตวัดกันที่ประโยชน์ที่เราทำให้คนอื่น

แล้วจะ "เก่งที่สุด" ไปเพื่ออะไร
เพราะ อยากชนะเหรอ
เพราะ อยากเป็นที่สุดในโลกเหรอ
มันก็ไม่ได้มีประโยชน์กับคนอื่นเท่าไรนะ

"เก่งให้พอ" ก็พอแล้วแหละ
ถึงแม้จะไม่เก่งที่สุด
แต่เป็นคนที่เก่งพอที่จะได้ทำอะไรดีๆให้คนอื่นเยอะๆเนี่ย
เราว่าเป็นอะไรที่โอเคละ

February 25, 2021

ชีวิตสังคม ตอนเรียน ป เอก

(รูปรวม เด็กไทยใน UIUC ปีแรกที่เข้าไป)

ผ่านไปประมาณ 7 ปีกว่าๆ ตั้งแต่เราเริ่มเรียน ป เอก
ตอนนี้จบแล้วดีใจมาก

ถ้าย้อนกลับมาถามตัวเองว่า สิ่งที่มึค่าอันดับต้นๆจากการเรียน ป เอก คือ อะไร
ก็คงต้องตอบว่าการได้กลายเป็นคนที่ดีขึ้นแหละ

หลังจากลองคิดถึงเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมาตอนเรียนเอก
เหตุผลที่ใหญ่ที่สุดที่กลายเป็นคนที่ดีขึ้นก็คือ ชีวิตสังคม ตอนเรียน ป เอก เนี่ยแหละ

โพสนี้เลย จะพยายามเขียนถึงชีวิตสังคม ตอนเรียน ป เอก
ว่ามันเป็นยังไงบ้าง เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง ฯลฯ


เกี่ยวกับเรา


ย้อนกลับไปสมัยเด็กๆ เราเป็นเด็ก รร เซนต์ดอมินิก (ตัวย่อ ซด) นะ
นอกจาก มาริโอ้ เมาเร่อ หรือ เคน ธีรเดช ไม่ค่อยแน่ใจว่า รร เราดังเรื่องอื่นไหม
แต่ที่แน่ๆช่วงที่เราอยู่นี่
ซด ไม่ได้ดังเรื่องการเรียนเลย

สำหรับเรา ในวันๆหนึ่งนี่ หัวมีแต่เรื่องว่าตอนพักเที่ยงจะเล่นกีฬาอะไรดี
ตอนหยุดคริสมาสหรือสงกรานต์ จะชวนใครมาเล่นเกมที่บ้านบ้างดี
สุดสัปดาห์นี้จะเก็บเลเวลเพิ่ม หรือ จะลุยเนื้อเรื่องต่อดี สำหรับเกมที่กำลังเล่นอยู่

ต้องขอบคุณ คุณพ่อคุณแม่ ที่บังคับ (ขอใช้คำว่าบังคับนะ อิอิ)
ให้อ่านหนังสือ ท่องตำรา วันละ 1 ชั่วโมงในวันเสาร์อาทิตย์
เราคิดว่า ผลพวงจากสิ่งเหล่านี้มันทำให้เราไม่มีปัญหาเรื่องการเรียน
ในหัว เลยมีเรื่องของการเรียนเข้ามาน้อยมาก

ในส่วนตัว สิ่งที่สนใจ นอกจากการมีความสุขและบ้าไปวันๆ ก็คือ ทักษะเรื่องเพื่อน
สำหรับช่วงอายุตอนนั้น เพื่อน คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดอันดับต้นๆของชีวิต
มันนำมาซึ่งความสุขทุกอย่าง

(ตอนนี้มันก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่แหละ แต่มันก็ไม่ได้ขาวดำขนาดนั้น
แล้วเราก็ขยายคำว่าเพื่อน เป็นคำว่า "คนที่เรารัก" แทน)

ถ้าให้เลือกว่าอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไหน
เราอยากมากๆ ที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเพื่อนเนี่ยแหละ
อยากรู้ว่า คนที่มีเพื่อนเยอะๆเค้าทำยังไง (เมื่อก่อนคิดว่า เพื่อนเยอะ คือ สิ่งที่ดี)

จนมาถึงตอนนี้คำถามมีการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย
กลายอยากรู้ว่า คนที่ล้อมรอบไปด้วยเพื่อนที่ดีมากๆ เค้าต้องทำยังไงบ้าง

หลังจากจบมัธยมก็ผ่านสังคมมาหลายที่ใช้ได้เลย
หลังเรียน ป ตรี ก็ทำงาน
หลังจากทำงานก็ย้ายไปเมกา เพื่อเรียน ป โท
จบโท ก็ทำงานในเมกาเนี่ยแหละ

สุดท้ายก็มีโอกาสมาเรียนต่อ ป เอก
ที่มหาวิทยาลัย university of illinois urbana champaign (UIUC)
ซึ่งถือว่า ทางด้านวิทย์คอม เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีมากๆเลย
ก็ตั้งใจจะเรียน ป เอก เพื่อความรู้และประสบการณ์วิจัยระดับโลกว่ามันเป็นยังไง

ตอนเข้า ป เอก ได้ก็อายุ 30 ต้นๆแล้วแหละ
แถมก็แต่งงานแล้ว แค่ว่า ระหว่างเรียนจะต้องอยู่แยกกับเดียร์ (ภรรยา)
ส่วนตัวก็ไม่คิดว่าชีวิตสังคมจะไปต่อจากนี้ได้มากนัก

แต่สุดท้าย ประสบการณ์ที่มีค่าที่สุดตอนเรียน ป เอก ก็คือ เรื่องชีวิตสังคมซะงั้น
เลยจะมาเล่าให้ฟังนะ ว่ามันผ่านอะไรมาบ้าง


ก่อนเข้า


ก่อนที่เราจะเลือกเข้า UIUC

เราก็พยายามหาข้อมูล
พยายามติดต่อคนหลายๆคน เพื่อถามข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย

ก็เจอคนไทยที่เรียน วิทย์คอม ป เอก สองคนนะ
คนนึงยังเรียนอยู่ ชื่อ ส้ม
คนนึงจบแล้ว ชื่อ ทีม

ก็ได้คุยกับส้มกับทีม ถามข้อมูลนิดหน่อย คร่าวๆอย่างน้อยก็พอรู้ว่า UIUC การศึกษาดี
และมีสมาคมคนไทยอยู่ที่นั่นเหมือนกัน

จากนั้นเราก็ได้ไปแอบส่อง facebook ต่อ ดูว่ามันมี group ไหม
ปรากฏว่ามี แล้วก็มีรูปจากการรับน้องปีเก่าๆด้วย
ซึ่งตอนนั้นก็ไม่แน่ใจหรอกนะว่าจะไปเจอคนไทยที่ UIUC ดีไหม
แต่รู้ไว้ก่อนก็ดี


เพื่อนสองคนแรก


หลังจากเข้า UIUC มา เราก็ไม่มีสังคมนอกคณะทั้งนั้น

เราเจอ เพื่อนวิทย์คอม ที่เข้ามาพร้อมกันนิดหน่อย ซึ่งมีบุคลิกที่แตกต่างกัน
ก็ไม่ได้ถึงขึ้นสนิทมาก แต่ก็อย่างน้อยได้คุยกัน พอถึงเวลาวิชาการ

แล้วทีนี้ UIUC มันมีสิ่งที่เรียกว่า quad day


ซึ่งถ้าเทียบกับที่ไทย มันเหมือนวันที่เค้าเปิดชมรมอะ

แบบชมรมต่างๆจะมาแสดง ให้คนดู เรียกร้องความสนใจ เผื่อจะมีคนรุ่นถัดมาสมัครเข้าชมรม

ตอนนั้นเราก็อยู่อเมริกามาได้แบบ 5 ปีแล้วแหละ
ไม่ได้มีความต้องการที่จะเปิดโลกทัศน์แบบตอนเพิ่งมาอเมริกาใหม่ๆ
และก็เริ่มค้นพบตัวเองว่า เพื่อนสนิทส่วนใหญ่นี่คนไทยทั้งนั้น

แทนที่เราจะพยายามสมัครเข้าชมรมที่ทำกิจกรรมที่เราสนใจ
เราก็เดินตรงไปหา ชมรมคนไทยใน UIUC เลย

เจอน้องคนไทยคนนึง ชื่อ แรคคูน
วิ่งไปวิ่งมาอยู่ในสนามหญ้า ถือ ธงชาติไทยอยู่ ยังจำภาพนั้นได้
เราก็ไปลงชื่อนะ เพราะ ถ้ามีกิจกรรมอะไรเผื่อจะไปร่วมได้

แรคคูนก็บอกว่า เออ เย็นนั้นคนไทยจะมีกินข้าวกันนะ ถ้าเราว่างก็ให้เราไป

สุดท้ายเราก็ไปนะ มีคนไปกันประมาณ 30 คนมั้ง
โต๊ะใหญ่ 2-3 โต๊ะ

สิ่งที่เห็นที่โต๊ะเราก็มีเด็กใหม่นั่งติดกันเงียบๆ
และเด็กปัจจุบันนั่งติดกันคุยกันเอง
เราก็คิดในใจว่า เออ สงสัย คงไม่ได้คุยกับใครเท่าไร

ตอนหลังมีน้องคนที่นั่งโต๊ะเดียวกันฝั่งตรงข้าม ชื่อ ซัน
มาบอกเราว่า ตอนมันเห็นเราครั้งแรก มันคิดว่าเราเป็นพวก socially awkward
แต่สุดท้าย ซัน ก็กลายเป็นน้องคนที่สนิทแรกๆที่นี่เลย

กลับมาเรื่องโต๊ะกินข้าวที่มีการแบ่งกลุ่มคุยอย่างชัดเจน
โชคดีอย่างนึง ก็คือ เรานั่งข้างน้องสองคน ชื่อ บิ๊วกับเทว
สองคนนี้ถือเป็นเพื่อนกลุ่มแรกใน UIUC เลย
ได้คุยกันนิดหน่อย แล้วก็แลกไลน์กัน ตั้งกรุ๊ปไลน์ที่ชื่อว่า "เผื่อนัดเจอกัน uiuc"

อย่างที่บอกตอนด้านบนนะเราเริ่มเรียนตอนอายุ 30 ต้นๆ
เราก็ไม่ได้ชัวร์ว่าเราจะเข้ากับคนที่อายุต่างกันมากๆได้ไหม
การแฮงเอ๊ากันช่วงแรกๆ ก็จะเป็นรูปแบบการนัดกินข้าวกัน
แล้วก็ตีปิงปอง ประมาณสัปดาห์ละครั้งเนี่ยแหละ


การขยายกลุ่มเพื่อน


หลังจากที่อย่างน้อยมีเพื่อนสองคนที่สามารถนัดเจอได้เรื่อยๆ
เราก็คิดว่าเรารอดละ

เวลาผ่านไปเราก็ได้รู้จักเพื่อนเพิ่มขึ้นจากหลายๆอย่างนะ

อย่างแรกก็คือ กิจกรรม public ของคนไทยที่โพสอยู่ใน facebook group

อย่างเช่น
งานรับน้อง
งาน potluck
งานดูหนังผี halloween
ไปเที่ยว cornmaze
ลอยกระทง
แข่งกีฬาสี ฯลฯ

งานพวกนี้ก็เพิ่มโอกาสในการเจอเพื่อนสนิทมากขึ้น

ซึ่งเราอยู่มา 7 ปีนี่ แต่ละปีมันมีความจริงจัง กับความ inclusive ที่ต่างกัน
ขึ้นอยู่กับ ประธานนักเรียน และ คณะกรรมการ ปีนั้นเลย

ปีที่ดีเป็นพิเศษ ก็คือ ปีที่มีกิจกรรมเยอะ ประชาสัมพันธ์ดี และกิจกรรมจัดในเวลาเหมาะที่คนไปร่วมได้เยอะ

เรารู้สึกโชคดีที่เราเข้าไปในปีที่กิจกรรมเยอะ
(ต้องขอบคุณประธานรุ่นนั้น ชื่อ อุ้ย ซึ่งก็กลายมาเป็นน้องคนสนิทอีกคนนึง)
แต่หลังเราเข้าไป รุ่นถัดมาก็มีกิจกรรมลดลงมาเรื่อยๆอยู่ช่วงนึงเลย

อย่างที่สองก็คือการเล่นกีฬาและทำกิจกรรม

เนื่องจากว่า จังหวะนี้ การหาเพื่อนสำคัญกว่าการทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ
ถึงแม้ว่ากีฬาที่ชอบที่สุด คือ เตะบอล
แต่ก็จะเล่นทุกอย่าง ตั้งแต่ปิงปอง เล่นบาส เทนนิส ตีแบต

ต้องบอกว่าการเล่นบาส คือ uncomfortable มาก
คนที่เล่นมีแต่น้องๆ ป ตรี ซึ่งดู intense ใช้ได้
แถมมันเป็นกีฬาที่มีฝั่งละ 2-5 คน (แล้วแต่ว่าเล่นครึ่งหรือเต็มสนาม)
สำหรับคนเล่นไม่เป็นอย่างเรา ถ้าต้องไปเล่นกับคนไม่รู้จัก คือ เกร็งมาก
ถ้าทำผิดนี่คือรู้เลยว่าใครผิด

แต่มีน้องคนนึงที่คอยให้กำลังใจ ชื่อ คอม
มันบอกว่า "พี่ไม่ต้องห่วง มีคนเล่นไม่เป็นเหมือนกัน มาเหอะ"
อีกคนนึงที่ต้องขอบคุณ คือ อุ้ย ที่ช่วยสอนเล่นบาสด้วย

ก็ฝืนตัวเองไปเล่นอยู่หลายครั้ง กว่าจะเริ่มชิน (ซึ่งก็ไม่ชิน) กับคนหน้าเดิมๆที่เล่นด้วยกัน
แต่สุดท้ายก็เก็บเบสิกที่ไม่ควรผิดได้
ตั้งแต่การยืนขวางเส้นทาง lay up ของคู่แข่ง
การกระโดดที่ไม่คาดหวังว่าจะ block ได้ แต่อย่างน้อยก็บัง
แล้วก็การไม่ปล่อยให้คนที่เราประกบอยู่ว่าง

อีกกีฬาคือตีแบตนี่เป็นอีกอารมณ์นึงเลย
เต็มไปด้วยเด็ก ป โท และ ป เอก
(ถ้าจำไม่ผิด มีคนอายุมากกว่าเราด้วยตอนนั้น)
ตีแบตนี่ทุกคนก็จะใจดี ด้วย mindset ที่ว่า ถ้าคนที่เข้าไปเล่นไม่เก่ง
ก็จะพยายามจับคู่ให้มัน balance แล้วก็จะพยายามฝึกคนที่เล่นไม่เก่งให้

คนลากเราเข้าไปตีแบตก็คือ บิ๊ว เนี่ยแหละ
ถึงได้เข้าไปรู้จักคนในกลุ่มนั้นเยอะขึ้น

แล้วก็มาถึงเรื่องเตะบอลซึ่งเป็นกีฬาที่เราชอบที่สุด
แต่คนไทยใน UIUC (ในปีที่เราเข้าไป) ถือว่าขาดแคลนคนเล่นบอลอย่างรุนแรง
เราก็จะเล่นกันแบบกิ๊กๆก๊อกๆ ไปแข่งกับใครก็แพ้ 100%
แต่การเล่นกิ๊กก๊อกไปเรื่อยๆ มันก็เป็นความสนุกไปอีกแบบนึง

จุดเริ่มต้นทุกอย่างของการเตะบอล ก็คือ น้องที่ชื่อว่า ภาพ

เราเคยได้นั่งรถเมล์คันเดียวกัน ภาพ (ตอนนั้นนั่งไปเล่นบาสกัน)
เลยได้คุยกันเรื่องเตะบอล
มึวันนึง ภาพ ทักมาว่าสนใจไปเตะบอลด้วยกันไหม
จำได้ว่าวันนั้นคือวันที่แฮปปี้มากกกกกกกก


อีกอย่างนึงที่ทำแต่ไม่เคยทำมาก่อนคือเล่น บอร์ดเกม

มีน้องคนนึง ชื่อ เฟิร์ส
ที่บ้านเฟิร์ส จะมีบอร์ดเกม ทุกอันในโลก
เราก็จะไปบ้าง แล้วทุกครั้งที่เราไป
เฟิร์สก็จะช่วยเลือกบอร์ดเกมง่ายๆที่ไม่ต้องใช้ความคิดเยอะมาเล่น (ขอบคุณนะะะ)
นี่ก็เป็นอีกกิจกรรมนึงที่ไม่ใช่อะไรที่ทำเป็นประจำ แต่ชอบสังคมคนเล่นบอร์ดเกม

อย่างสุดท้ายที่ทำให้ได้ขยายกลุ่มเพื่อน ก็มาจากเพื่อนของเพื่อนเนี่ยแหละ

จากการที่แค่รู้จักกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆกลุ่มนึง
เป็นจุดเริ่มต้นของการได้เปิดโลก ไปเจอกับคนอื่นมากขึ้น
โดยเฉพาะสำหรับสังคมคนไทยใน UIUC
มันก็รู้จักกันเอง แต่ขยายวงไปเรื่อยๆเนี่ยแหละ

กิจกรรมหลายๆที่บอกไปมันทำให้ได้รู้จักกันก็จริง
แต่เรารู้สึกว่า คนเรามักจะได้คุยกันก็ตอนกินข้าวเนี่ยแหละ
มันก็เลยต้องมีการกินข้าวแซมๆอยู่บ้าง

การกินข้าวกับน้องๆก็มักจะมาจากการชวนแล้วชวนต่อๆกัน
พอเราเจอกับน้องกลุ่มที่บุคลิกเข้ากัน
เราก็เริ่มขอให้เค้าชวนเราบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
และสุดท้ายเราก็กล้าเป็นฝ่ายชวนคนอื่นกินข้าว


เพื่อนลงตัว


หลังจากลองผิดลองถูก ทำทุกกิจกรรมที่ขวางหน้า
สุดท้ายก็ได้เจอกลุ่มเพื่อนที่ลงตัว
หลังจากนี้ก็รู้สึกว่าชีวิตลงตัวละ

เราก็สนิทกับ ซัน ละ มีการเล่นเกมกันเป็นประจำ
มีน้องที่เข้ามาเรียนแค่ปีเดียว แต่ก็สนิทก็มี

แล้วก็มีกลุ่มที่สนิทและที่รู้ว่าน่าจะอยู่กันอีกนาน เพราะ ก็มีคนเรียน ป เอก ในกลุ่ม
(ขอเรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่ม นอธ เพราะ หนึ่งในเด็ก ป เอก ในกลุ่มก็คือ นอธ เนี่ยแหละ)

ก็จะเจอกันทุกสัปดาห์
สามารถคุยได้ทุกเรื่อง และเป็นตัวของตัวเองได้

ที่เหลือก็คือ ใช้เวลาที่เหลือให้เหมาะสม
แล้วก็ไม่ลืมเพื่อนที่สนิทน้อยกว่า
หรือน้องที่เข้ามาใหม่แต่ยังไม่รู้จัก

พอถึงตรงนี้ นานๆครั้งเราก็มักจะไปเล่นกีฬาอื่นบ้างถ้ามีเวลา
ไปเล่นบอร์ดเกมบ้าง
หรือ นัดคนที่ไม่เจอกันนาน ไปกินข้าวบ้าง
เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ตรงนั้นมันหายไป


เพื่อนนอก UIUC


มีหน้าร้อน 3 รอบ ที่เราไปทำ internship ที่ google (อ่านได้ที่นี่ 1 2 3)
ชีวิตสังคมก็จะเป็นอีกรูปแบบนึง

เดียร์ก็อยู่แถวๆนั้นแหละ ก็เลยอารมณ์เหมือนได้กลับบ้าน
ชีวิตครอบครัว มันก็คือชีวิตครอบครัวที่สงบสุขนะ
ไม่มีอะไรหวือหวา คนมีครอบครัว ก็คือมีครอบครัวอะ

ก็เลยขอเขียนถึงสังคมนอกเหนือจากเวลาที่อยู่บ้านกับครอบครัวบ้าง

เวลาหลังเลิกงานบางวัน
เราก็จะเล่นกีฬา หรือ ทำกิจกรรมกับคนไทยที่ทำงานอยู่แถวนั้น
ซึ่งก็คล้ายๆกับการเริ่มต้นในสังคมใหม่แบบตอนเข้า UIUC เลย

แต่สิ่งที่ต่างกับเด็กๆที่ UIUC คือ พวกนี้เป็นวัยทำงานแล้ว
รู้สึกว่า energy มันคนละแบบ ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นการเจอกันหลังเลิกงาน
ซึ่งไม่เหมือนกับการเจอกันหลังเลิกเรียน
เพราะว่า สำหรับชีวิตนักศึกษามันจะมีกลุ่มที่เข้ามาพร้อมๆกัน
เหมือนกับมีความทรงจำในการร่วมทุกข์ร่วมสุขกันรุนแรงกว่า

ส่วนใหญ่กิจกรรมก็จะอยู่ในรูปแบบการเล่นกีฬากับการเล่นดนตรีนะ
จะเห็นว่า ไม่มีการกินข้าวกันเท่าไร ที่ได้เพิ่มโอกาสพูดคุย
และคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว ก็เกาะกลุ่มกัน
คิดมันไม่มีความรู้สึกแบบมหาวิทยาลัย ว่าจะต้องมาต้อนรับคนใหม่ขนาดนั้น

จากหน้าร้อนทั้ง 3 รอบที่เราไป
หน้าร้อนที่รู้สึกอบอุ่นและสนุกที่สุด
คือ หน้าร้อนที่มีคนไทยไปฝึกงานที่เดียวกันหลายคน (มีคนร่วมทุกข์ร่วมสุข)
และหน้าร้อนนั้น คนอื่นในบริษัทก็ดึงเข้ากรุ๊ปแชทด้วย เลยมึความรู้สึกเหมือมีการต้อนรับคนใหม่

(เรื่องการต้อนรับคนใหม่นี่เราเขียน blog ไว้โพสนึง อ่านได้ที่นี่)

จากการ hangout กับคนวัยทำงาน
ส่วนตัวรู้สึกว่าน้องคนที่เราเข้ากันได้ที่สุด ชื่อ นัตตี้
ถึงแม้ว่าจะเป็นน้องคนที่วัยทำงานแล้ว
แต่ก็ยอมเปิดเผย vulnerability คุยเรื่องส่วนตัวได้เต็มที่
เราเลยรู้สึกว่าสนิทกันได้ดี

(อีกอย่างนัตตี้เป็นคนเส้นตื้น
เวลาเราปล่อยมุกแล้วขำง่าย
ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเราเอง เวลาอยู่กับนัตตี้ 5555)


จุดเปลี่ยน


จุดเปลี่ยนมันมาถึงตอนที่เราจบ ปี 4
นั่นก็คือ การที่ อ ที่ปรึกษาพัก sabbatical (ลาพัก ไม่สอน ไม่วิจัยอะไรทั้งสิ้นทั้งเทอม หรือ หลายเทอม)

อาจารย์ก็ให้เราไปทำวิจัยที่หัวเหว่ย เพราะ เค้ามีศิษย์เก่าเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ที่นั่น
เดิมทีสัญญาจ้าง คือ ไปทำงานเทอมเดียว เขียน paper เดียวแล้วก็กลับ UIUC
แต่เนื่องจากว่าทางนั้นงานเยอะมาก เค้าเลยจ้างเราต่อจนครบปี

ระหว่างที่ทำงานที่นั่น ไม่ได้มีสังคมนอกบ้านมากเทียบกับตอนทำ internship ที่ google
สาเหตุเพราะว่างานที่หัวเหว่ยค่อนข้างเครียด และเลิกงานค่ำ หมดเวลา หมดพลังงานไปเจอกับผู้คน
(อ่านเปรียบเทียบประสบการณ์ได้ ที่นี่)

สิ่งที่ทำบ้างก็คือ นัดกินข้าวเที่ยงกับเพื่อน แต่ก็กดดันต้องรีบกลับมาทำงานต่อ
หรือเล่นบาสเล่นแบตบ้าง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกสนุกเหมือนทุกครั้ง

ส่วนใหญ่ก็คือกลับบ้านมาเติมพลังโดยการได้เจอเดียร์ ซะส่วนใหญ่

หลังทำงานครบปี เราก็กลับมาที่ UIUC อีกครั้ง
ตอนนั้นก็คือขึ้น ปี 6 และเวลาช่วง ปี 5 หายไปในหลุมดำ
ซึ่งอันนี้กระทบชีวิตสังคมค่อนข้างรุนแรง

อย่างแรกคือ น้องกลุ่มนอธ ก็จบกันไปเยอะ
ในนั้นมีคนนึง ชื่อ โอ๊ค
ปกติมันจะเปิดบ้าน ให้ทุกคนกินข้าว hangout กันทุกสุดสัปดาห์
แต่โอ๊คก็จบไปแล้ว
คนที่ยังเหลืออยู่ในกลุ่ม ก็ ป เอก ซึ่งเวลางานเยอะ งานน้อย มักจะไม่ตรงกับเราเท่าเมื่อก่อน

แล้วช่วงปีนึงที่หายไป เราก็ไม่ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่เลย
ต้องมาเหมือนเริ่มต้นสร้างเพื่อนใหม่ กับน้องที่เด็กกว่าเราประมาณครึ่งนึง

ช่วงนั้นก็ค่อยๆ แซมๆเข้าไปทางเด็ก ป โท เหมือนเดิม
มีน้องกลุ่มนึงตีแบตเป็นประจำ (ขอเรียกว่า กลุ่มแพนด้า เพราะ แพนด้าเหมือนเป็นหัวโจกกลุ่มนั้น)
ก็ไปเล่นด้วย แล้วก็กินข้าวด้วยกันหลังตีแบตอะไรงี้

ทางการเล่นบาส ก็เล่นบ้าง แต่ปกติที่ไปเล่น เพราะ อุ้ย ชวน
พอ อุ้ย ไม่อยู่แล้ว เราก็ไม่ค่อยกล้าไปเล่นกับคนไม่รู้จัก ซึ่งมีคนต่างชาติที่เล่นเก่งๆเป็นเยอะด้วย

แต่สิ่งที่คิดว่าดวงดีมากๆและช่วยได้มากที่สุดก็คือ
มีน้องที่เพิ่งเข้าใหม่ที่เตะบอลมากขึ้น
มากแบบ ตอนนี้มีคนเตะบอลเป็นเกือบครบทีม

แถมปีนั้นมีกองหน้าตัวเป้า ชื่อ เติ้ล
ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอดเวลาที่เข้า UIUC

ตอนนี้เริ่มเตะกับต่างชาติชนะมากขึ้นละ แล้วก็มีคนพอที่จะแบ่งทีมเตะบอลกันเองได้ด้วยอีกตะหาก


ถึงตอนนี้อย่างน้อยก็มีกิจกรรมให้ทำเรื่อยๆละ

ถึงจะไม่ได้เจอกลุ่ม นอธ ทุกสัปดาห์ ก็ยังได้เจอเรื่อยๆ โอเคละ
น่าจะรอดไปถึงจบ


ฤดูร้อนที่เจอกับน้องคนนึงทุกวัน


พอจบ ปี 6 มีข่าวเด็ด
ประธานาธิปดีทรัมป์ สั่งแบนหัวเหว่ย
ไอ้งานวิจัย ป เอก ของเราที่ทำกับมัน ก็เลยมลายหายไปต่อหน้า
ฤดูร้อนปีนี้เลยอยู่มหาวิทยาลัย เพื่อหาหัวข้อวิจัยใหม่

ที่ UIUC นี่หน้าร้อน ก็จะเงียบมากๆ
สิ่งนึงที่หายไปแน่ๆคือ การเตะบอล
กลุ่มนอธ ก็ยังอยู่อะนะ แต่ก็งานเยอะทุกคน นานๆถึงจะเจอกันทีนึงเหมือนเดิม

เผอิญมีน้องคนนึง ชื่อ พูม
อยู่ทำวิจัยอยู่กับอาจารย์ ไม่ได้กลับไทยเหมือนน้องส่วนใหญ่
เราก็เลยได้ hangout กับพูมเพิ่มขึ้น
ก็จะกลายเป็นว่า หลังเราทำงานเสร็จ ก็มักจะนัดกินข้าวเย็นแล้วก็นั่งดูทีวี กับพูมแทบทุกวัน

นานๆครั้งก็มีการไปเที่ยวแถวชิคาโกหาของกิน
มีน้องอีกคน ชื่อ เป้ ทำ internship อยู่
ก็เลยกลายเป็นว่าสนิทกับน้องสองคนนี้ ช่วงหน้าร้อนเนี่ยแหละ



ย้อนกลับไปนิดนึง ในช่วงเวลาที่ผ่านมาใน UIUC ปีแรกๆ
เรามักจะเจอกับน้องเด็กทุนทั้งหลาย จบเตรียมฯ จบสวนกุหลาบ จบจุฬา อะไรก็ว่าไป
บุคลิกที่เห็นชัดที่สุดโดยรวม คือ เนิร์ดๆเรียนๆ ฉลาด ไม่มีพิษมีภัย มีความรับผิดชอบสูง

แล้วมันก็จะมีน้องอีกกลุ่มนึง ที่เรียนโรงเรียน inter ในไทย หรือเรียนต่างประเทศมาก่อน
บุคลิกที่เห็นชัดที่สุดโดยรวม คือ เกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่มใหญ่ เฮฮา ทำกิจกรรมหลากหลายร่วมกันเยอะ

ในมุมมองของเรา พูมอยู่กลุ่มเด็ก inter
ซึ่งเราไม่เคยเข้าถึงและไม่เคยใช้เวลาด้วยกันมาก่อน
แต่พอเหลือการ hangout กับพูมคนเดียว (ไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่) เลยรู้สึกว่าเข้าถึงได้มากขึ้น

ก็เจอกันแทบทุกวันจนถึงเปิดเทอม
แล้วพอเปิดเทอม เราถึงได้รู้สึกกล้าที่จะมาเจอน้องกลุ่มเด็ก inter นี้ทั้งกลุ่มมากขึ้น


ต้องเจอเพื่อนทุกวันก่อนที่เรียนจบ


มาถึงตอนนี้ คือ ขึ้นปี 7 แล้ว
แล้วเราก็หาหัวข้อวิจัย มาแทนที่หัวข้อเดิมที่ล้มไป
เราก็เห็นแล้วว่า ใกล้จะถึงเวลาเรียนจบขึ้นทุกที และปีนี้เราอาจจะเป็นปีสุดท้ายที่นี่

เอาจริงๆ เราก็รู้จักตัวเองมาเรื่อยๆแล้วแหละ
ว่าความสุขเรามาจากการใช้เวลากับคนอื่น (เขียนไว้นิดนึง ที่นี่)
ปีนี้เราเลยสัญญาตัวเองว่า จะเจอคนอื่นทุกวัน จะไม่มีวันไหนที่เก็บตัวทำงานอยู่บ้านทั้งวัน

ตอนนี้ กลุ่มเด็ก inter ก็กลับมา UIUC กันหมดแล้ว
แล้วที่สำคัญ ก็จะมี apartment ของน้องในกลุ่มนี้แหละ ชื่อว่า campus center
ซึ่งอยู่กลางมหาลัย ก็จะมีห้องน้องกลุ่มนึง default ซึ่งถ้ามีคนอยู่ก็จะไม่ lock ประตู
ใครเรียนเสร็จ ก็ไปเจอกันได้ตลอด

ต้องขอบคุณพูม ตอนนี้เราก็กล้าไปเจอกลุ่มนี้แล้ว
เราก็เลยได้ไปใช้เวลากับน้องกลุ่มนี้มากขึ้นทุกวัน
จนสนิทกับทั้งกลุ่มใช้ได้ถึงระดับนึงเลย
ขอเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่ม campus center


อีกหนึ่งนิสัยที่ได้มาหลังจาก hangout กับเด็กๆเยอะ

คือ เวลาคุยกับใคร (โดยเฉพาะเด็กใหม่) เราจะลองหาดูตลอดว่ามีอะไรที่เราจะช่วยคนนั้นได้บ้าง
(ต้องบอกก่อนว่า การช่วยเหลือ นี่ ต่างจากการให้คำแนะนำที่เค้าไม่ได้ขอนะ
แค่เพราะว่าเรามีประสบการณ์เยอะกว่า ไม่ใช่ว่าเราจะมีสิทธิ์อยู่ๆจะไปสอนหรือแนะนำอะไรเค้าได้
ถ้าเค้าไม่ได้เอ่ยปากถาม)

สิ่งที่ช่วยได้ก็มักจะเป็นการขับรถไปส่งนู่นนี่ ช่วยขนของ ช่วยการบ้าน ช่วยเตรียมสัมภาษณ์งาน ช่วยเตรียมกิจกรรม ฯลฯ
ซึ่งมันก็ทำให้สนิทกันได้ง่ายขึ้นไปอีก

ทุกๆอย่างตอนนี้คือลงตัว
กลุ่มนอธก็ยังเจออยู่เรื่อยๆ แล้วก็ได้กลุ่ม campus center มาอีก
คิดว่าเป็นปีที่ทุกอย่างไปได้สวยมากๆ

แล้วโควิดก็มาไง


ชีวิตสังคมหลังโควิด


หลังจากโควิดระบาด
คำสัญญาที่บอกตัวเองไว้ว่าจะเจอเพื่อนทุกวันก่อนเรียนจบก็ย่อยสลายหายไปอย่างสวยงาม

ใช้เวลาปรับตัวซักพัก จนกระทั่ง ผู้คนกล้าที่จะเจอกันมากขึ้น

กลุ่มนอธ นี่พอร้านอาหารไม่เปิดให้กิน ก็เจอกันยากขึ้น เพราะ ไม่มีบ้านคนไหนให้ไป hangout ได้
กลุ่ม campus center พอโควิดมา ก็เหลือประปราย สุดท้ายกลับไทยกันหมด

จะจบอยู่แล้ว แถมมีโควิดอีก
แต่ก็ต้องพยายามใช้เวลาที่เหลือในมหาลัยให้เต็มที่
และพยายามสร้างเพื่อนชุดสุดท้ายก่อนเรียนจบ

สุดท้ายน้องที่ยังเหลืออยู่ ก็คือ กลุ่มน้องๆ ป โท ซะส่วนใหญ่
แล้วก็มีวุฒิอื่นประปรายนิดหน่อย ตั้งแต่ตัวละครลับอาจารย์ที่มาทำวิจัยที่นี่
หรือ เป้ ซึ่งได้งานแถวชิคาโกก็ยังแวะ UIUC มาทักทายอยู่เรื่อยๆ
แล้วก็เด็ก ป เอก ที่เข้าใหม่

กลุ่มสุดท้ายขอเรียกว่ากลุ่มเด็ก grad เพราะ ส่วนใหญ่เป็นเด็ก grad แล้วก็ไม่มีหัวโจกที่ชัดเจน 5555

เนื่องจากว่ามีโควิด กิจกรรมที่น้องเหล่านี้ทำก็คือ ไปวิ่ง outdoor
ซึ่งถ้าให้พูดตรงๆ มันคือ กีฬาที่เราชอบอันดับต่ำๆที่สุดในชีวิต
นอกจากจะวิ่งตามน้องๆไม่ทัน
เวลาเหลือตัวคนเดียววิ่ง มันเป็นอะไรที่น่าเบื่อสุดๆ สำหรับเราอะนะ
(แต่เราเข้าใจว่าคนที่รักการวิ่งเค้าก็มีเหตุผลของเค้า)

ยังดีที่ก็มีน้องบางคนที่ไม่ค่อยวิ่ง เราก็เลยไปเดินข้างนอกเฉยๆ
หรือไม่บางทีก็ไปเดินคนเดียว แต่ก็นัดเจอน้องกลุ่มที่วิ่ง ที่ปลายทางแล้วนั่งคุยกันเฉยๆ

ผ่านไปเรื่อยๆ ทาง UIUC ก็มีการให้นักศึกษาตรวจโควิดผ่านน้ำลาย ฟรี
ทุกๆคนที่ไปตรวจก็ไม่เจอ แล้วก็จะอุ่นใจขึ้น
เริ่มนัดกลุ่มนอธไปกินข้าว outdoor งี้



ส่วนเรื่องที่อยู่ของเรา ก็มีการย้าย apartment จากที่เคยอยู่ไกลๆ
ตอนนี้ก็ย้ายมาอยู่ apartment ใกล้กันหมดแล้ว
ทีนี่เราก็สามารถเป็นเจ้าของบ้าน ชวนเพื่อนกินข้าวได้แล้ว
ช่วงท้ายๆ เราก็ได้กลับมานัดกลุ่มนอธ บ่อยขึ้นทันก่อนเรียนจบ

สุดท้ายถึงแม้จะมีโควิด แต่ก็ยังได้สร้างความทรงจำดีๆ กับมหาวิทยาลัยร้างๆ กับน้องที่เหลืออยู่
ตอนจบรู้สึกดีใจมากที่มีน้องๆมาถ่ายรูปรับปริญญาและฉลองด้วยกัน


ผ่านไป 7.5 ปีที่เราเข้าเรียน รู้สึกว่ามีขึ้นมีลงเยอะใช้ได้ในแง่ของชีวิตสังคม
ตอนเด็กเป็น introvert มาตลอด
แต่โตขึ้นมาค้นพบว่าการเป็น extrovert ทำให้ตัวเองมีความสุขกว่า
ก็เปลี่ยนบุคลิกมาพบปะผู้คนมากขึ้นแล้วก็ extrovert มากขึ้น
ซึ่งสุดท้ายเราคิดว่า (คิดว่านะ) มันลงตัวกำลังดีละ
ไม่ใช่คนเก็บตัว แต่ก็ไม่ใช่สัตว์ปาร์ตี้
เจอผู้คนเยอะๆก็ยังเหนื่อยอยู่ แต่เจอผู้คนกลุ่มที่สนิทก็หายเหนื่อย


สิ่งที่เรียนรู้


อย่างที่เขียนไว้ว่า เป้าหมายอย่างนึงตั้งแต่เด็กของเรา คือ อยากเก่งเรื่องเพื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ
สำหรับการเรียน ป เอก เราว่าเต็มไปด้วยบทเรียนที่ดีเยอะใช้ได้เลย

active vs passive

อย่างนึงที่เราเห็นบ่อยๆ คือ เวลาเข้าสังคมใหม่ เราก็จะ active ในการหาเพื่อนใหม่
แต่พออะไรๆลงตัว มันก็จะอยู่ในโหมด passive ซึ่งคือแบบรอให้มีเหตุการณ์ที่จะรวมตัวกัน
แต่เราว่า พออะไรๆมันลงตัว เราก็ยัง active ได้อยู่ดี

โดยส่วนใหญ่เรามักจะเป็นฝ่ายคนที่ชวนทุกคนกินข้าว หรือ vdo call มากกว่ารอ
นอกจากมันจะทำให้เราได้เจอเพื่อนโดยไม่ต้องมานั่งรอ
เรารู้สึกว่ามันก็ทำให้คนที่ passive ก็ได้เจอเพื่อนไปด้วยเหมือนกัน

positive vs negative

เข้า ป เอก มา มีเรื่องที่ไม่ได้เล่าข้างบน ก็คือเรื่องดราม่า
ไม่ว่าเราจะพยายามหลบหลีกยังไง
มันก็จะมีบางครั้งที่การกระทำของเรา มันไปทำให้คนอื่นไม่พอใจ
แล้วมันก็จะมีดราม่าเกิดขึ้น

โดยเฉพาะถ้าคนที่มีดราม่าด้วยเป็นเพื่อนสนิท จนกลายเป็นคนที่แทบไม่คุยกันเลย
มันก็อดคิดไม่ได้ว่า เสียเวลาชีวิตไปเยอะแค่ไหน กับ มนุษย์สัมพันธ์ที่มันไม่เวิร์ค

โดยรวมเราว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ positive นะ ดราม่ามันเกิดขึ้นเป็นส่วนน้อย
ถ้าเรามีความตั้งใจดี ความสัมพันธ์ประมาณ 95% หรือมากกว่า มันจะออกมาดี
แล้วก็คุ้มค่าที่จะลงทุนเวลาและพลังงานในการพยายามสร้างเพื่อนเหล่านั้น

อีกอย่างที่เรียนรู้ก็คือ ถึงเราเคยมีดราม่ากับใคร
แต่ถ้าเกิดมีเหตุการณ์ positive มากๆเกิดขึ้นซักครั้ง
เช่นห่างหายกันไป แล้ววันนึงเราก็ไปฉลองคริสมาสแล้วเจอคนที่เรามีปัญหาด้วย
แต่ปรากฏว่างานนั้นมันสนุกมาก เราก็มักจะลืมเรื่องลบๆได้อยู่นะ

quantity vs quality

ถ้าต้องเลือกระหว่างมีเพื่อนสนิท 1 คน
กับมีคนรู้จัก 100 คนแต่ไม่สนิทเลย
เชื่อว่าแทบทุกคนน่าจะเลือก เพื่อนสนิท 1 คนนะ

ทีนี้มันจะมีตรงกลาง
แล้วแต่ละคนจะต้องมองตัวเองว่าชอบอยู่ตรงไหน
แล้วจะบริหารเวลาอันจำกัดในชีวิต ด้วยการใช้เวลากับใครบ้าง

พอมา plot มันจะเห็นภาพขึ้นนะ ระหว่างความสนิท กับจำนวนเพื่อนที่สนิทระดับนั้น

บางคนใช้เวลากับเพื่อนสนิทกลุ่มเล็กๆ หรือแฟนคนเดียว แต่ไม่ให้เวลาคนอื่น


หรือถ้าคนที่ใช้เวลาแต่กับ follower บน social media โดยที่ไม่สนิทกับใครเลย
(อันนี้ จริงๆยังไม่เคยเจอ อาจจะไม่มี)


ถ้าเวลาในชีวิตไม่พอ เราก็ใช้เวลากับคนที่สำคัญที่สุด นั่นคือสิ่งที่ดีและถูกต้อง

แต่ถ้ามีเวลาในชีวิตเหลือพอและไม่เหนื่อยเกิน (และบุคลิกเป็นคนที่โอเคที่จะเจอผู้คนได้)
เราว่าน่าจะแบ่งเวลาให้กับคนที่อยู่ไกลๆออกไปบ้างอีก


มันทำให้มี friendship ที่หลากหลายและทำให้ชีวิตเต็มขึ้นนะ

space & time

ถ้ามีสถานที่และเวลา ที่ทำให้เพื่อนรวมตัวกันง่ายขึ้น
มันจะสร้างเพื่อนได้เร็วมาก

ถ้ามีทั้งสถานที่และเวลาให้เพื่อนได้เจอกัน
อันนี้ชัดเจน คือ ดีมาก

ตัวอย่างก็คือ เพื่อนกลุ่ม campus center
ที่มีห้องนึงเปิดตลอดเวลา
ช่วงนั้นเราได้เจอเพื่อนทุกวันและสนิทกันเร็วมาก

ในเรื่องของความสำคัญของสถานที่
ก็มีจังหวะนึงที่ชัดกับกลุ่มนอธ คือ
ตอนแรกก็เจอกันได้เรื่อยๆ เพราะ โอ๊ค เปิดบ้านให้ hangout ได้ ก็เจอกันเป็นประจำง่ายขึ้น

พอ โอ๊ค จบ ประเพณีเจอกันสัปดาห์ละครั้ง นั้นเหมือนจะหายไป
จนกระทั่งเราย้ายเข้า apartment ใหม่ ที่ใกล้บ้านทุกคน
เราถึงได้ชวนคนมากินข้าวที่บ้านทำให้เจอกันเหมือนเดิมได้ตอนช่วงใกล้ๆจบ

ในเรื่องของเวลา ก็รู้อยู่แล้วเนอะ ว่ายิ่งมีให้เวลาให้กันก็ยิ่งมีโอกาสสนิทกันมากขึ้น

แต่มีอีกเรื่องเกี่ยวกับสถานที่และเวลาที่อยากพูดถึง
คือ เรื่องของเพื่อนที่ไม่ได้อยู่ใกล้กันแล้ว หรือเพื่อนสนิทที่ไม่ได้ใช้เวลากันเท่าเมื่อก่อน
อันนี้ก็อย่างเช่น พวกเพื่อนสนิทเก่าที่ไทย
หรือน้องสนิทที่จบไปแล้ว แล้วก็ไม่ได้อยู่ใกล้ๆ หรือเจอกันบ่อยๆเหมือนเมื่อก่อน

ก็เป็นอะไรที่ยังต้องรักษามิตรภาพไว้นะ
ไม่ใช่ว่าหาเพื่อนสนิทใหม่ได้แล้วจะจบ มันต้องรักษาเพื่อนสนิทไว้
(ภาษา marketing อารมณ์ประมาณ customer acquisition vs customer retention อะ)

อันนี้ก็เป็นตัววัดที่ดีนะ ว่าเพื่อนเหล่านี้ยังถือว่าสนิทอยู่มากน้อยแค่ไหน
เช่น เค้ายังจำเราได้ไหม เค้ายังทักมาบ้างไหม เวลาเจอกันอีกทีดีใจแค่ไหน
เวลาเจอกันอีกทีเค้าจำเรื่องเก่าๆได้แค่ไหน

compatibility

เท่าที่คิดๆมา กว่าจะสนิทกับคนคนนึงได

  1. มันจะต้องเป็นคนที่เราอยู่ด้วยแล้วเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่
  2. มันมี value ในชีวิตที่คล้ายๆกัน
  3. ต้องมีโอกาสให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดกันที่ deep พอที่ต่างฝ่ายจะเห็น value อีกฝ่ายนึงได้

แบบที่ UIUC นี่ มีคนที่นิสัยดีมากๆค่อนข้างเยอะเลย
แต่ในคนกลุ่มนั้นก็มีคนที่เราไม่ได้สนิทด้วยอยู่เยอะนะ
กลับมาคิดก็เพราะว่าขาดเรื่องใดเรื่องนึงในสามข้อข้างบนไปอะนะ

ยกตัวอย่าง มีน้องคนนึงที่ตอนแรกเราก็ไม่ได้สนิท ชื่อ มิก
คุยด้วยกันรอบแรกแล้วแบบไม่ได้ชอบหน้าขนาดนั้น 5555

แต่มีวันนึงไปอ่านหนังสือกันเป็นกลุ่ม
แล้วมันก็ชวนเราคุยเรื่องว่า ทำไมเพื่อนสนิทที่อเมริกามันไม่เยอะเท่าเมืองไทย
ทำให้เรารู้ว่ามันเป็นคนที่ value เรื่องเพื่อนสนิทเหมือนกัน
เจอกับมันเรื่อยๆ ก็พบว่ามันก็ชอบตบมุกประเภทเดียวกันอีก
สรุปมันก็กลายเป็นเพื่อนสนิท

โดยรวมเรากลับมามองตัวเอง
เรากลับรู้สึกว่าเราเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่เวลาอยู่กับพวกเด็กๆ
(โดยเฉพาะพวกเด็กผู้ชาย อายุช่วง ป ตรี) มากกว่าผู้ใหญ่
ถ้าให้เดาก็คือเด็กกลุ่มนี้ มีความคล้ายเพื่อนมัธยมปลาย ของเราที่สุด
และชีวิตช่วงนั้น คือ ช่วงที่เราเป็นตัวของตัวเองที่สุดอันดับต้นๆในชีวิตเลย

ไอ้เรื่องความ compatible มันก็เป็น spectrum ไม่ใช่ขาวหรือดำอีกนั้นแหละ
มันก็มีสนิทมากสนิทน้อย
บางคนก็เหมาะที่จะชวนทำกิจกรรมประเภทนึงมากกว่าอีกคน อะไรงี้

intensity

ทีนี้มันก็จะมีกิจกรรมที่เราใช้เวลากับเพื่อนได้หลายแบบ
มันมีระดับความเข้มข้นที่ต่างกัน

ตั้งแต่ กินข้าวเร็วๆตอนพักเที่ยง
กินข้าวด้วยกันตอนเย็น
เล่นกีฬา เล่นบอร์ดเกม
ทำอาหารด้วยกัน hangout กันต่อถึงดีกๆ
ไป roadtrip ค้างตามกระต๊อบหลายๆวัน

เพื่อนกลุ่มที่สนิทที่สุดก็จะผ่านกิจกรรมที่มีความเข้มข้นทุกแบบ
เพราะทุกความเข้มข้น มันก็สร้างความทรงจำกับคนเหล่านั้นคนละแบบ
ยิ่งมีหลายแบบก็ยิ่งดีนะ

social media

สำหรับเพื่อนที่สนิทแล้วอยู่ใกล้ๆกัน
เราว่ามันยังไม่มีอะไรสามารถมาแทนที่การเจอกันได้

แต่สำหรับเพื่อนที่อยู่ห่างๆ
เราว่าการใช้ social media ที่ถูกวิธีก็ช่วยได้นะ

เมื่อตอนเราเรียน ป ตรี ไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า social media
เมื่อตอนเราเรียน ป โท facebook ยังเป็นที่ที่มีแต่เพื่อนกลุ่มเล็กๆ
แต่พอมาถึงตอนเรียน ป เอก facebook สำหรับหลายๆคน
ได้กลายเป็นที่ที่เอาไว้แชร์ meme หรือสตรีมการเล่นเกมไปแล้ว

เรารู้สึกว่านอกจากเพื่อน มัธยม กับลุงป้าน้าอา
ก็แทบจะไม่มีคนโพสอัพเดทชีวิตตัวเองเท่าไรแล้ว
เพื่อนใหม่ช่วง ป เอก ก็มักจะใช้ facebook สำหรับ messenger เท่านั้น

ในขณะเดียวกัน เราเห็นเด็กรุ่นใหม่ย้ายไป instagram
ซึ่งเน้นรูป (ไม่ค่อยเน้นเนื้อหา)
แต่ก็โอเค ยังได้เรียนรู้ชีวิตเพื่อนบ้างผ่านรูป
ถึงแม้ว่าบางทีการเขียนก็สื่อสารอะไรได้มากกว่ารูป

แต่เราคิดว่ามันมีการโพสบน social media และการเสพ การไถ feed ที่เหมาะสมนะ

ที่ง่ายๆสุดเลย
เรื่องของตัวเองที่มันไม่ private จนเกินไป ก็โพสได้
เรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม หมา แมว อาหารที่เจอ
หรือเรื่องใหญ่ๆ เช่น ลูกเกิด แต่งงาน
มีคนที่อยากรู้ความเป็นไปของชีวิตเราจริงๆบน social media นะ
(คิดว่าประมาณ 10% แต่ก็มากกว่า 0 นะ)

บางทีรูปที่ไม่มีอะไรเลย เช่น อาหาร
ก็ทำให้เกิด small talk ได้ในหลายๆครั้ง
ทำให้อยู่ๆ เราก็ได้คุยกับคนที่ปกติไม่ได้คุยด้วยขนาดนั้น

ตัวอย่าง มีน้องคนนึง ชื่อ วิว ก็รู้จักช่วงที่เราเรียนโท แต่แยกย้ายกันมานานละ
ปรากฏว่าทั้งเราและวิว ก็เรียนจบเอกพร้อมๆกัน
บางทีเห็นอะไรที่เค้าโพสเราก็ทัก เค้าเห็นเราโพสเค้าก็ทัก
จากเรื่องแรนด้อมกลายเป็นว่าได้คุยกันเรื่องการเรียน ป เอก เลย

ในเรื่องของการแชร์เรื่องที่มีคนอื่นเกี่ยวด้วย เช่น ถ้าเป็นรูปที่มีคนอื่นอยู่ด้วย
เราก็ต้องเคารพความ private ของเพื่อน
ถ้าเพื่อนมันไม่ใช่คนชอบแชร์ชีวิต เราก็มักจะไม่แชร์รูปที่มีเพื่อนคนนั้น
อย่างในโพสนี้ เราอ้างอิงชื่อเล่นน้องหลายคน
แต่เราก็ไม่โพสรูปที่เห็นหน้าชัดๆ
เพราะเราไม่ชัวร์ว่าเค้าโอเคแค่ไหน ที่รูปเค้าจะมาอยู่ใน blog public

แต่การโพสรูปตัวเองกับเพื่อน มันมีข้อดีอย่างนึง
ตรงที่บางทีเวลาแชร์ ก็จะทำให้เพื่อนคนอื่นเข้ามาทัก สร้างบทสนทนาได้เพิ่มขึ้น

เรารู้สึกว่า ตราบใดที่มันไม่ใช่เรื่อง private หรือเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางข้อมูล และชีวิต
ก็แชร์ๆไปเหอะ เพราะ มันเพิ่มโอกาสได้ติดต่อกับคนอื่น

ส่วนในแง่ลบของ social media คือ เราเข้าใจว่ามีนะเท่าที่ลองอ่านๆดู
แค่เรายังไม่เห็นผลเสียที่รุนแรงที่จะทำให้เราเลิกใช้มัน
เราก็ไม่ได้โพสรูปบัตรเครดิต หรือ ที่อยู่ ที่มันจะทำให้เกิดผลเสียถ้าข้อมูลนั้นรั่วไหล
แล้วเราก็ไม่ได้เป็นคนใหญ่คนโต ที่มีคนไม่ประสงค์ดี อยากได้ข้อมูลอะไรไป
เราก็ไม่ได้กลัวว่าถ้า CIA เห็นรูปเรา จะเกิดอะไรขึ้น
เราก็ไม่ได้คิดว่าการที่ facebook เอารูปเราไป train ให้ โปรแกรมดักจับหน้าคนได้แม่นยำขึ้นมันแย่กับส่วนรวมยังไง

เพื่อนสนิทมีทุกที่

สิ่งที่เรียนรู้อย่างสุดท้ายก็คือ
เพื่อนสนิทมันหาได้ทุกที่จริงๆ

ตอนเราเข้ามาเรียน ป เอก
เราก็รู้แหละ ว่าเราก็จะเป็นคุณลุงของพวกเด็กๆที่นี่

แต่ยิ่งได้ใช้เวลาร่วมกันก็ยิ่งรู้สึกว่า
เออ ตราบใดที่เราไม่ถือตัว
เราเป็นผู้ใหญ่ในเรื่องที่เป็นงานเป็นการ
แต่พอถึงเรื่องเล่น ถ้าเราเป็นเด็ก เราก็ยังมีโอกาสเป็นเพื่อนสนิทกับเด็กๆได้
แถมด้วยว่าเรามีประสบการณ์มากกว่า เราก็สามารถมอบความช่วยเหลือให้เด็กๆพวกนี้ได้มันก็ทำให้สนิทได้อยู่ดี

ก็คิดอยู่นะ หลังจากเรียนจบ
ชีวิตทำงาน มันก็ต่างจากชีวิตมหาวิทยาลัย
เราก็คงต้องปรับตัวเรื่องสังคมอีกแหละ
แต่ถ้ามีโอกาสได้เจอเพื่อนสนิทอีก และได้เรียนรู้อะไรเพิ่ม เดี๋ยวแชร์ให้ฟังกัน


สรุป


คิดว่าประสบการณ์ของเรา น่าจะค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์นะ
แบบแต่งงานแล้ว อายุก็ 30-40 แต่อยู่คนละที่กับภรรยา
แล้วก็เป็นเพื่อนกับเด็กอายุตั้งแต่ 18 ถึงใกล้เคียงกัน

รู้สึกว่าเป็นอะไรที่เพื่อนๆและครอบครัวอาจจะอยากฟัง ก็เลยมาเขียนให้เนี่ยแหละ
อีกอย่างกลับมาอ่านจะได้นึกถึงช่วงเวลาดีๆ ตอนเรียน UIUC ด้วย

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะ
แล้วก็ขอบคุณเพื่อนทุกคนที่ทำให้ชีวิตสังคมเราตอนเรียน ป เอก มีความสุขมากๆ
มันเป็นประสบการณ์เปลี่ยนชีวิตจริงๆ