October 09, 2021

ประสบการณ์ทำงาน google ครึ่งปีแรก

(นี่คือออฟฟิศปัจจุบันซึ่งคือทำงานจากบ้านมาตลอด)


เราเพิ่งเริ่มทำงานที่ google เป็น full time software engineer ได้ประมาณครึ่งปีกว่าๆละ
ถือว่าค่อนข้างใหม่ แต่เราคิดว่านานพอที่จะสรุปความคิดหลายๆอย่างได้แล้ว
ถึงแม้ว่าเราจะเคยฝึกงานที่นี่มาก่อน ประสบการณ์ full time ค่อนข้างจะแตกต่างอยู่
บทความนี้ เราจะเล่าให้ฟังว่ามันเป็นยังไงบ้าง

นอกจากนั้นก็อยากจะเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่เคยทำงานที่อื่นที่ผ่านมาด้วย
ไม่ว่าจะบริษัทในไทย การทำงานในสถาบันศึกษา สถาบันวิจัย หรือ startup ด้วย

น่าจะไม่ซ้ำบทความอื่นๆที่เจอในเน็ตดี
และอาจจะมีมุมมองดีๆสำหรับหลายๆคน

หมายเหตุ สิ่งที่เขียนทั้งหมดเป็นความคิดเห็นส่วนตัว
เราไม่ใช่ตัวแทนบริษัท
เราเขียนในฐานะเหมือนเพื่อนเวลามีอะไรมาเล่าให้คนอื่นฟัง
ทุกคนมีชีวิตและความเห็นที่ต่างกันไป
อันนี้ความเห็นของเรา


ครึ่งปีที่ google เป็นยังไงบ้าง


ถ้าคนในอนาคตกลับมาอ่าน
จะบอกว่า เมื่อช่วงต้นปี 2020 ตลอดจนถึงขณะที่เขียนบทความนี้ (ตุลาคม 2021)
มันมีโรคระบาดทั่วโลกที่ชื่อว่า โควิด
ตำแหน่งที่ไม่จำเป็นต้องทำงานแบบเข้าออฟฟิสเช่นโปรแกรมเมอร์ ก็มักจะทำงานจากที่บ้านกัน

จังหวะที่เราเข้า google ก็คือช่วงโควิดกำลังระบาดเนี่ยแหละ
ในเมื่อเราเป็นโปรแกรมเมอร์ ตัวไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศก็ได้ จริงๆทำงานจากบ้านได้ตลอด
นี่ตั้งแต่ทำงานวันแรกก็ยังไม่ได้เข้าไปทำงานด้วยกันกับทีมในออฟฟิสเลย

ประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนทำงานวันแรก เค้าก็ส่งแลปทอปมาให้นะ
แล้วพอถึงทำงานวันแรก เค้าก็จะมีตารางให้คุยกับพวก IT เพื่อติดตั้งแลปทอป
ใช้เวลาประมาณสองวันกว่าจะมี account อะไรครบ

(แลปทอปที่บริษัทส่งมาให้)

พอได้อีเมลก็เลยอีเมลไปหาหัวหน้า (ที่คุยกันตอนสัมภาษณ์) ว่า "เฮ้ย เออ เราเริ่มทำงานละนะ"

หัวหน้าเค้าก็ลากเราเข้ากรุ๊ปแชท
บอกว่า คนนี้ชื่อ อัม นะ
(เราบอกให้ทุกคนใช้ชื่อเล่นเรา คล้ายๆตอนทำงานที่ไทยนะ)ตอนที่เราเพิ่งเข้าทีมเรามี 6 คนนะ

1. เราซึ่งเพิ่งร่วมทีม
2. คนนึงเน้น front end
3. คนนึงเน้น backend
4. คนนึงทำหลายๆอย่าง
5. และก็มีอีกคนนึงซึ่งก็ทำหลายๆอย่าง
6. หัวหน้าที่สัมภาษณ์เราเข้าทีม

ซึ่งถ้าเข้าใจไม่ผิด ทุกคนก็ทำ fullstack ได้หมดอะนะ
เพราะเหมือนว่าถ้าระบบมีอะไรต้องแก้
ไม่ว่าใครก็ควรจะต้องแก้ได้
แค่ว่ามีบางคนสนใจและเชี่ยวชาญ ด้าน frontend หรือ backend เป็นพิเศษ
อะไรประมาณนั้น

โดยเฉพาะหัวหน้าคือเหมือนจะรู้ทุกซอกทุกมุมของระบบ
ซึ่งจริงๆแล้วเค้าควรจะเป็นหัวหน้าของหัวหน้า
แต่เผอิญหัวหน้าเดิมลาออกไป เค้าเลยต้องลงมาทำหน้าที่แทนชั่วคราว
ชอบทำงานกับคนนี้ ได้เรียนรู้เยอะดี technical มากๆ
(และสาเหตุหลักๆที่เราตัดสินใจเลือกทำงานที่ google เพราะเราชอบหัวหน้าคนนี้มากๆ)

ก็แนะนำกันไปแล้วหลังจากนั้นก็คือเจอกันใน vdo call ล้วนๆ ไม่ได้เจอตัวจริง

ทีมย่อยของเราอยู่ในทีมใหญ่ที่เน้นเขียน development tools เพื่อช่วยเหลือเพื่อนโปรแกรมเมอร์ด้วยกัน
เราชอบด้านนี้ ก็เลยโดนเรียกสัมภาษณ์กับทีมนี้พอดี

สิ่งที่ทีมย่อยของเราทำหลักๆ เรียกว่า profiler
ก็คือเป็นโปรแกรมที่ช่วยบอกว่าระบบนี้ใช้ CPU หรือ memory เยอะตรงไหนบ้าง ฯลฯ
ก็เป็น product ที่ใช้กันทั้งภายในบริษัทและสำหรับลูกค้า google cloud นะ

เนื่องจากว่าเป็น product ให้กับ google cloud ซึ่งมีลูกค้าภายนอกมาเกี่ยวข้อง
ทีมเราก็มีสิ่งที่เรียกว่า on call หรืออยู่เวรนั่นเอง
ถ้าใครอยู่เวรแล้วระบบมีปัญหาขึ้นมา ก็จะต้องเช็คทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น

ภาษาที่ใช้หลักๆก็ Go ซึ่งไม่เคยเขียนมาก่อน
แต่หลังจากใช้มา 6 เดือน ก็เออ ชิน ละ
แล้วก็ค่อนข้างชอบมันมากขึ้นเรื่อยๆละ
ถือว่าเป็นภาษาที่ตอบโจทย์หลายๆอย่างได้ดี (เช่น การเขียน server)
โดยไม่ต้องใช้ภาษาที่ซับซ้อนไปกว่านี้

การทำงานเดือนแรกๆ คือ ไม่มีอะไรมาก
นอกจากเรียนรู้ระบบหัวหน้าก็ให้ bug ง่ายๆเล็กๆมาแก้

ผ่านไปประมาณ 2 เดือน หัวหน้าเริ่มให้ feature มา implement
ผ่านไปประมาณ 4 เดือน หัวหน้าเริ่มให้ project หลายๆอันที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆมาพร้อมๆกัน
ผ่านไปประมาณ 5 เดือน เราก็ต้องเริ่มอยู่เวรเหมือนเพื่อนร่วมทีมคนอื่นแล้ว

ตอนนี้มาประมาณครึ่งปี ในที่สุดก็รู้สึกว่ามีงานให้ทำตลอดเวลาไม่มีหมด
แล้วเราต้องคอยคุยกับหัวหน้าเรื่อยๆ
จะได้มาเรียงความสำคัญของงาน ว่าอันไหนต้องเสร็จ อันไหนไม่เสร็จไม่เป็นไร

ส่วนตัวเราว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีที่หัวหน้าให้ความรับผิดชอบเยอะๆ
เพราะเค้าคงเห็นเรามีความรับผิดชอบสามารถจัดการอะไรเองได้(มั้ง)

ในส่วนสไตล์การทำงาน คือ ชอบเลยนะ
เพื่อนร่วมทีมและหัวหน้า คือ ให้ที่ว่างดี
เหมือนเค้าไว้ใจให้เราไปแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่ถ้ามีอะไรพร้อมตอบคำถามเสมอ

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เหมือนเราต้องรู้ตัวว่าติดอะไรเมื่อไรแล้วเริ่มถามได้เลย
พยายามหาข้อมูลเองเรียนรู้เองคือถูกแล้ว
แต่ถ้าถามคนอื่นแล้วจะทำให้ output ของทีมมากขึ้นเร็วขึ้นก็ถามเลย

ข้อดี

สิ่งที่เราคิดว่า google ทำได้ดีมากๆ เทียบกับบริษัทอื่น คือ

1) infrastructure

คือมีระบบต่างๆอะไรก็ค่อนข้างโต
เราสามารถเข้าไปใช้ระบบพวกนี้ซึ่งแก้ปัญหาหลายๆอย่างให้เราเรียบร้อยแล้ว
แล้วเราจะได้เน้นแก้ปัญหาอื่นที่มีประโยชน์กับลูกค้าได้
แทนที่จะมาเน้นพัฒนาระบบ

2) คุณภาพโค้ด

เหมือนว่า google ลงทุนระยะยาวนะ
การเน้นปล่อย code เร็ว อาจจะดีในระยะสั้นแต่เจ็บในระยะยาวได้

สำหรับ code อะไรที่อ่านยาก หรือขาด test
คนที่รีวิวจะไม่ปล่อยไปง่ายๆยกเว้นมีเหตุผลที่ดีนะ

จะ deploy อะไรก็ต้องประมาณว่าจะใช้ CPU หรือ memory ของ server เพิ่มเท่าไร

ซึ่งต้องกลับไปข้อ 1 อีกว่าเค้ามีระบบต่างๆที่จะมาช่วยป้องกันข้อผิดพลาด
และช่วยให้เราหาข้อมูลหาคำตอบเกี่ยวกับพฤติกรรมของ server ได้ง่าย

3) ความเปิดเผยข้อมูลสำหรับคนภายใน

google เคร่งครัดมากเรื่องข้อมูลที่จะหลุดไปสู่ภายนอก
อย่างเช่น ถ้าพนักงานถ่ายรูป code เผยแพร่ออกไป เราคิดว่าน่าจะโดนไล่ออกได้

แต่สำหรับคนภายในแล้ว ข้อมูลค่อนข้างจะเปิดมากๆ
มี repository เดียว แชร์ให้เห็นกันหมด (อ่านเพิ่มได้ที่นี่)

4) เป็นที่รวมคนระดับโลก

ถ้าจะหาผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าด้านไหนก็ตาม เจอแน่นอน
และบริษัทเหมือนว่าจะทำระบบออกมาแล้วแทบทุกประเภท
ฉะนั้นถ้าอยากหาความรู้ หาคำตอบด้านไหน ค่อนข้างชัวร์ว่ามันมีคนเคยทำแล้ว

บริษัทก็ไม่ได้ว่าป้อนความรู้ให้เรานะ
ถ้าอยากเรียนรู้ ต้องสรรหาขวนขวายเอาเอง แต่ถ้าขวนขวายก็จะเจอนะ

ข้อเสีย

ถ้ามองดูตัวบริษัท ตอนนี้ google กลายเป็นบริษัทยักษ์ไปแล้ว
ข้อเสีย คือ เราก็เป็นแค่เศษผงธุลี ในบริษัทยักษ์ใหญ่นะ
ถ้าอยากทำอะไรที่แบบกระทบบริษัทในวงกว้างคือ ยากสุดๆ
ไม่เหมือน start up ถ้าทำอะไร คือ เห็นเลยว่ากระทบธุรกิจได้

แล้วอย่างที่บอกข้างบน คือ หลายๆอย่างเร่งไม่ได้
จะ deploy อะไรแต่ละที ก็ต้องคุยกัน ต้อง approve
จะทำอะไรเร็วๆแบบ start up ก็ไม่ได้

นอกจากนั้นพอ google กลายเป็นบริษัทยักษ์
ทำให้เป็นที่เพ่งเล็งและโจมตี จากทุกๆด้าน
ตั้งแต่ สำนักข่าว และประชาชนทั่วไป
ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจหลายๆอย่างของบริษัท

เหมือนศิลปินอินดี้ ที่วันนึงกลายเป็นซุปเปอร์สตาร์มั้ง
เมื่อก่อนทำดนตรีโคตรเจ๋งคนชอบ
จากนั้นร่วมค่ายยักษ์ใหญ่ เริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น
โพสอะไรผิดบนอินสตาแกรม ก็คือ โดนด่ายับ อะไรงี้

ซึ่งเราว่าในโลกธุรกิจ เราเข้าใจได้อะนะ

ตอนนี้ก็มีคนเกลียด elon musk, bill gates
เกลียด facebook, apple, twitter, robinhood และ หลายๆบริษัท
เพราะสิ่งที่ไม่ดีที่ คน/บริษัท พวกนั้นทำ มันกระชากอารมณ์ลบได้แรงกว่า
สิ่งดีๆที่คน/บริษัทพวกนั้นทำ

ตอนตัดสินใจเลือกเข้า google หลักๆ ก็เลยเน้นจากเรื่องดีๆที่มันมอบให้นะ
มันเหมาะกับสิ่งที่เรากำลังหาอยู่ตอนนี้
และพวก benefit ก็ดีเลย คิดว่าเหมาะกับครอบครัวระยะยาวด้วย

เอาหละ สรุปคร่าวๆเสร็จละ
ต่อจากนี้จะขอเปรียบเทียบประสบการณ์ full time google กับประสบการณ์อื่นๆได้แก่

1. ประสบการณ์ตอนฝึกงานที่ google
2. ประสบการณ์ทำวิจัย ที่มหาวิทยาลัย ตอนเรียน ป เอก
3. ประสบการณ์ทำวิจัย ที่หัวเหว่ย สาขาอเมริกา
4. ประสบการณ์ full time บริษัท start up ในอเมริกาที่เคยทำ
5. ประสบการณ์ full time บริษัทในอเมริกาที่ไม่ใช่ tech
6. ประสบการณ์ full time ที่รอยเตอร์ (ตอนนี้คือ refinitiv) ที่เคยทำที่ไทย


เปรียบเทียบกับตอนฝึกงานที่ google

(สมัยฝึกงานตอนนั้น ได้ไปที่ออฟฟิศอยู่)

ที่ผ่านมาช่วงเราเรียน ป เอก เราฝึกงานที่ google ไปสามรอบนะ
เราก็เขียนเกี่ยวกับประสบการณ์พวกนั้นอยู่ ตรงนี้ ตรงนี้ แล้วก็ตรงนี้

ส่วนตัวรู้สึกว่าการฝึกงานและ full time ค่อนข้างจะแตกต่างเลย
หลักๆเป็นเรื่องขนาดของงาน เรื่องความซับซ้อนของงาน และคนที่ต้องทำงานด้วยนะ

ขนาด (scope) ของงาน

ตอนฝึกงาน คือ หัวหน้าเราเตรียมโปรเจคมาให้เราหนึ่งโปรเจคที่เราน่าจะทำเสร็จได้ภายใน 3 เดือน
ก็เลยจะเป็นโปรเจคที่ไม่ต้องเสียต้นทุนเยอะนักในการเรียนรู้

ตอนเป็น full time คือ เค้ามองว่าเราจะอยู่นาน
เค้าให้ผสมมาทุกอย่าง สำหรับ requirement หรือ bug ที่เค้ากำลังหาคนช่วยในขณะนั้น

สามารถมอบหมายได้ตั้่งแต่ งานจิ๋วๆ ที่ถ้าฝึกงานอยู่ไม่ใหญ่พอที่จะทำตลอดหน้าร้อน
จนกระทั่ง งานอะไรซักอย่างที่ขนาด requirement คลุมเครือ ต้องไปหาคนคุยเอาเอง
เพราะเค้าเห็นว่าอยู่ยาว ถ้าต้องเสียเวลาเรียนรู้เยอะ ไม่เป็นไร

ความซับซ้อน (complexity) ของงาน

ตอนฝึกงาน (อย่างน้อยจากการฝึกงานของเราอะนะ)
มันจะเป็นงานที่ไม่ต้องไปยุ่งกับระบบอื่นเยอะนัก
และถ้าทำอะไรผิดไปก็ไม่เดือดร้อนระบบอื่น

ตอนเป็น full time รู้สึกว่า
ปัญหาที่เค้าให้เราแก้ มันโยงเกี่ยวกับระบบนู้นระบบนี้เต็มไปหมด
จากที่ไม่เคยต้องคิดว่า โปรแกรมเราจะใช้ CPU หรือ RAM เท่าไร
ตอนนี้ต้องคิดละ เพราะ มันอาจจะไปกระเทือนโควต้าของเราได้ อะไรงี้

scope และ complexity มันก็รวมไปถึงว่า จะต้องทำงานร่วมกับใครด้วย

ความรู้สึกของเราตอนฝึกงาน คือ เราทำงานกับหัวหน้า และกับคนในทีมอีกคนนึงแค่นั้นแหละ
คุยกับสองคนก็ตอบโจทย์ได้ละ

สำหรับตอนนี้ เนื่องจากว่า มันจับทุกอย่างก็เลยต้องคุยกับทุกคนในทีม
รวมไปถึงคนทีมข้างๆ หรือ ทีมที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนก็มี
เอาจริงๆ ก็คล้ายๆอยู่ใน startup เล็กๆอันนึงภายในบริษัทใหญ่นะ
อยากได้คำตอบอะไร ต้องหาให้ได้ว่าต้องคุยกับใคร แล้วไปคุยกับคนนั้น

สิ่งที่ยังคงเหมือนกันระหว่างฝึกงานและ full time คือ
ความรัดกุมในเรื่องคุณภาพของโค้ด
ตั้งแต่ฝึกงานยัน full time เรื่อง code review ที่ได้จากเพื่อนร่วมงานไม่เคยหย่อน
และมักจะทำให้ได้เรียนรู้อะไรดีๆอยู่เรื่อยๆ

สิ่งที่ชอบที่สุดตอนฝึกงาน

สิ่งที่ชอบที่สุดตอนฝึกงาน คือ งานมันจบตรงนั้นตอนจบฝึกงาน
มันไม่มี feature หรือ bug เพิ่มมาเรื่อยๆระหว่างทาง
เราวางแผนดีๆ แล้วเราก็จะมีเวลาเหลือให้ไปเจอเพื่อน ฯลฯ เยอะเลย

ตอนนี้พอเป็น full time มันก็จะมีงานในคิวตลอดเวลา
ยิ่งเพิ่งเริ่มงานไม่ถึงปี รู้สึกว่า ต้องพยายามเรียนรู้ระบบต่างๆให้ทันคนอื่น
แล้วพอมีโควิดไม่ได้เข้าออฟฟิศ ก็จะแยกเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวยาก

แถมไม่มีกิจกรรมหลังเลิกงาน เหมือนเมื่อก่อนเพราะทุกคนอยู่บ้าน
ก็อาจจะเผลออยู่กับงานเยอะเกินไป
ต้องเตือนตัวเองบ่อยๆว่า ตั้งใจจะทำระยะยาว อย่ามาฟิตแถวนี้ เดี๋ยวจะเหนื่อยเกิน


เปรียบเทียบกับการทำงานในมหาวิทยาลัย

(ออฟฟิศที่มหาวิทยาลัย)


ตอนเราเรียน ป เอก เรามีตำแหน่ง ผู้ช่วยวิจัย (research assistant) ไปพร้อมๆกันนะ
คนที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเราก็เอาเงินที่ขอทุนได้จากรัฐบาล
มาจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับเราในฐานะผู้ช่วยวิจัย
(อันนี้ เป็นเรื่องค่อนข้างมาตรฐานของ เด็ก ป เอก ที่เรียนในเมกา ถ้าอาจารย์มีทุนพอ)

(หน้าตาคณะวิทย์คอม)

ถ้าเอาเรื่องของการตอบโจทย์จากปัญหาที่คลุมเครือสุดๆ
เราคิดว่าไม่มีอะไรจะเข้มข้นไปกว่าการทำวิจัยแล้วแหละ
เพราะการวิจัยหลักๆ ก็คือ การใช้วิทยาศาสตร์เพื่อตอบคำถามที่ยังไม่เคยมีใครตอบมาก่อน

โจทย์ก็จะมาจากอาจารย์ที่ปรึกษาประมาณว่า
"เนี่ยนะ ฉันคลุกคลีกับแขนงนี้มานานเรามาหาคำตอบสำหรับ X กัน"
โดย X บางทีจะเป็นอะไรที่กว้าง เช่น อะไรคือพฤติกรรมของโปรแกรม AI อะไรงี้

โจทย์ค่อนข้างจะกว้างคลุมเครือมากๆ แล้วเราก็จะต้องคุยกับอาจารย์ประมาณสัปดาห์ละครั้ง
แล้วก็ลองดูว่าปัจจุบันอะไรกำลังฮิตบ้าง ลองเล่นกับมันดู แล้วดูว่ามันมีอะไรช้าตรงไหน

ยกตัวอย่าง มีช่วงนึงตอนเรียนเอก ที่ apache spark มันกำลังฮือฮา
อาจารย์ให้ไปลอง install แล้วใช้ดู ดูว่ามันช้าตรงไหนบ้าง
แล้วจะช่วยแก้ความช้าได้ยังไงบ้าง อะไรงี้

หลายๆครั้งมันก็จะเจอทางตัน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเราใช้เวลาทดลองไม่พอ เลยไม่เจอโจทย์ที่น่าตอบ
หรือว่าขาดผู้มีประสบการณ์มาช่วยทำให้การเรียนรู้มันเร็วขึ้น
เสียเวลาศึกษานานเกินโดยไม่มีผลอะไร ฯลฯ

พอเจอทางตันแล้วเราก็ต้องลองอย่างอื่นใหม่ไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งมีบางอย่างที่น่าสนใจเกิดขึ้นมา
พอตอนนั้นก็ลุยแก้ปัญหา

ถ้าตันอีกก็หาต่อไป
แต่ถ้าแก้ปัญหาได้ก็ทำจนได้งานที่ขอบเขตใหญ่ประมาณนึง
ทำเสร็จแล้วก็จะวิทยานิพนธ์มาอันนึง

ส่วนนึงมันก็คล้าย start up อะ ที่ต้อง iterate บ่อยๆ เพื่อหาว่าลูกค้าต้องการอะไรแน่ๆ
ในโลกแห่งการวิจัย มันก็ iterate บ่อยๆ เพื่อหาว่ามีปัญหาน่าสนใจอะไรในโลกนี้ที่ยังไม่มีคำตอบบ้าง

ซึ่งเราโชคดี ได้อาจารย์ที่ไม่ดุ และให้อิสระเต็มที่ในการทำวิจัย
เราจัดเวลาอะไรของเราเอง แล้วเอาผลไปให้อาจารย์
ปัญหาอะไรที่เราสนใจ เราสามารถไปโฟกัสกับมันได้
โดยที่อาจารย์ไม่บังคับให้เปลี่ยน project หรืออะไรงี้

อีกอย่างกรณีเราคือไม่มีผู้ร่วมทำงานวิจัย
คือ อาจารย์เป็นสไตล์ชอบให้เด็ก ป เอก แต่ละคนทำงานของตัวเอง (ไม่ทำเป็นทีม)
ถึงแม้ข้อเสีย คือ ผลงานที่ได้มันไม่ใหญ่มาก (เพราะ ทำคนเดียว มันก็เลย output ได้แค่นั้น)
แต่ข้อดี คือ เราได้เรียนอะไรเต็มๆ และจะทำอะไร ไม่ต้องกระทบ หรือ โดนกระทบจากคนอื่น

ถ้าพูดถึงเพื่อนที่ทำงาน ก็คงเป็นเพื่อนในห้องแลบเดียวกันซึ่งถือว่าไม่สนิทเลย
และมีเพื่อนที่เรียน ป เอก วิทย์คอม ไม่กี่คน

จะไปมีเพื่อนนอกที่ทำงานซะมากกว่าและก็มักจะเป็นคนไทย
อาจจะไม่ใช่เพื่อน ป เอก แต่ถือเป็น "เพื่อนร่วมชะตา" ที่เข้ามหาลัยในเวลาเดียวๆกัน
เราเขียนโพสไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่นี่ มันคือประสบการณ์ที่ดีมาก

(ฤดูหนาวที่มหาวิทยาลัย)

ถ้าเทียบกับหน้าที่ของเราที่ google
สิ่งที่เราทำเป็น product เป็นงานสร้างระบบ งาน software engineer ไม่ใช่งานวิจัย
สิ่งที่เราทำก็มักจะมีการคิดมาแล้วจากเบื้องบน ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับลูกค้า
เราก็จะโฟกัสอยู่กับเรื่องเหล่านั้น

ถ้าเทียบความอิสระ อาจจะไม่ได้มีอิสระเวอร์เท่างานวิจัยในมหาวิทยาลัย
แต่ถือว่าเค้าก็ให้อิสระในการเลือกเวลาทำงาน หรือว่าอยากจะทำงานย่อยอะไรก่อนหลัง

เรื่องทักษะที่ใช้ก็ต่างกันประมาณนึง
นักวิจัยต้องมีทักษะทางวิทยาศาสตร์
คือ จะพูดเขียนอะไร ต้องมีเหตุผลมาสนับสนุนตลอด หาคำตอบด้วยการทำการทดลอง

ทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะการเขียน คิดว่านักวิจัยใช้มากกว่า software engineer
ส่วนทักษะการเขียนโปรแกรม การสร้างระบบ นักวิจัยใช้น้อยกว่า software engineer

สิ่งที่ชอบที่สุด

คิดว่าสิ่งที่ชอบที่สุดจากการเป็นเด็ก ป เอก ทำวิจัยในมหาวิทยาลัยคือ
การได้โฟกัสกับปัญหาอันนึงนานๆ
มันไม่มีอะไรมาทำให้เสียสมาธิ
ไม่มี bug ยิบย่อยจากลูกค้าเข้ามาที่เราต้องวางสิ่งที่ทำอยู่แล้วเข้าไปแก้
ทำอะไรอยู่ในกรอบเล็กๆ ไม่ต้องคอยระวังเรื่อง ความปลอดภัยของระบบ
อยู่ในสถาบันศึกษา ไม่ต้องกังวลเรื่องสิ่งที่เราทำมันคือการช่วยคู่แข่งไหม อะไรงี้

เอออีกอย่างที่ชอบก็คือชีวิตนักศึกษานะ เขียนแล้วเขียนอีก เรื่องนี้ ^_^


เปรียบเทียบกับการทำงานที่ huawei
(หน้าตาออฟฟิศด้านนอก)


เราได้มีโอกาสไปทำงานวิจัยที่หัวเหว่ยระหว่างที่เราเรียน ป เอก อยู่
สาเหตุที่ไปหลักๆ เพราะว่า อาจารย์ที่ปรึกษาลาพัก ประมาณ 3 เดือน
เทอมนั้นเค้าเลยอยากให้เราไปทำงานในแลบที่ huawei (สาขาอเมริกา)
เผื่องานที่ทำจะไปต่อยอดเป็นวิทยานิพนธ์ ป เอก ได้

อันนี้จริงๆเคยเขียนไปละที่นี่

แต่โพสนี้ต่างกันนิดนึงเพราะตอนนั้นที่ทำงานที่ google คือฝึกงาน
แต่ทำงานกับหัวเหว่ย ถึงแม้ตอนนั้นตั้งใจจะไปฝึกงาน
แต่เค้าก็จ้างตำแหน่ง fulltime และอยู่ที่นั่นปีกว่าๆ

งานที่ huawei หลักๆก็ คือ อยู่ในทีมที่เขียน compiler ให้กับ ชิพ AI ของ huawei
ในช่วงนั้นคือ huawei เหมือนกำลังพยายามตีตลาด AI
(ตามสไตล์บริษัท hardware ทั้งหลาย)

เข้าใจว่าทางสำนักงานใหญ่จะให้ความสำคัญกับงาน AI นี้
ภายในบริษัทเองก็เลยเหมือนจะมีหลายๆทีม ที่ทำอะไรคล้ายๆกันแข่งกันเอง

ทุกอย่างรู้สึกว่า เป็นคำสั่งจากเบื้องบน
และการเขียนโปรแกรม เน้นว่ามี product สำหรับ demo ทุก 2-3 สัปดาห์
จะได้เอาไปแข่งกับทีมอื่น

เนื่องจากทุกอย่างเหมือนจะเร่ง คนทั้งทีมต้องสามัคคีกันแบบสุดๆ
ต้องมาคุยกันว่าเราจะรีดความสามารถ ความถนัดของทุกคนยังไง
เพื่อให้ทัน demo ในเร็วๆนี้

คิดว่าในชีวิตการทำงานไม่เคยทำอะไรที่่ทีมมีผลผลิตอะไรออกมาได้เยอะมากขนาดนี้ในเวลาอันสั้นละ
แต่ข้อเสียก็คือ รู้สึกเหมือนขาดอิสระที่จะเลือกในสิ่งที่อยากทำ
ขนาดเรื่องประมาณว่าวันนี้ใครจะทำอะไรก็ถูกกำหนดในตอนเช้าของแต่ละวัน

ไม่ใช่ว่าหัวหน้าสั่งซะทีเดียวนะ
แต่มันอารมณ์ประมาณว่าถ้าเราไม่ทำงานชิ้นนั้นๆ ก็มีโอกาสจะไม่ทัน demo
สามัคคีกันอย่างกับมดก็ว่าได้

ซึ่งในทีม เราว่ามีนักวิจัยที่เจ๋งๆ หลายคนอยู่เลย
รู้สึกว่าพวกนี้เก่งแบบมากๆอะ ถ้าจะเป็นตำแหน่งแบบ research scientist ได้

แต่เนื่องจากว่างานเหมือนจะเร่งตลอดเวลา
เลยไม่ได้มีเวลาเรียนรู้จากคนพวกนี้เท่าที่อยาก

ในเรื่องของ code review
เนื่องจากไม่มีเวลามาเน้นคุณภาพ design ดีๆ
หลายๆครั้งคิดอะไรอย่างแรกออก ก็เขียนให้เพื่อนรีวิวเลย

และหลายๆครั้งพอรีวิวนานเกิน หัวหน้าก็ต้องมาคอยบอกทีมว่า
มีทางไหนให้รีวิวผ่านไปก่อนไหม แล้วค่อยมาแก้
มี tech debt ใหญ่ขึ้นๆเรื่อยๆ

ส่วนตัวถ้าอยู่ในสังคมที่มีความกดดันสูง
ก็จะเอาตัวรอดได้ และส่งงานได้ครบ
แต่ก็จะกระเทือนสุขภาพจิตค่อนข้างสูง
ช่วงนั้นสุขภาพจิต ก็เสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ
และเนื่องด้วยว่า งานวิจัยที่ทำ ตั้งใจจะให้ต่อยอดไปเป็นวิทยานิพนธ์
การลาออกจึงเป็นอะไรที่พยายามหลีกเลี่ยงยกเว้นว่าไม่ไหวแล้วจริงๆ

ก็ทำงานไปเกือบปีครึ่ง แล้ววันนึงอยู่ๆหัวหน้าก็ขอคุยด้วย
สรุปว่า โดนัลด์ ทรัมป์ (ประธานาธิปดีของอเมริกาขณะนั้น)
ประกาศแบน huawei ในอเมริกา
ไอ้ชิพ AI ที่เรากำลังทำวิจัยอยู่ ก็เลยโดนย้ายกลับจีน แล้วเราก็ทำอะไรต่อไม่ได้

(โต๊ะทำงาน ก่อนออฟฟิศโดนยุบ)

ออฟฟิศก็โดนยุบไปเลย
สรุปว่านี่กูโดน layoff ใช่ไหม
ถือ เป็นการโดน layoff ที่รู้สึกโล่งมากๆ เพราะทำงานเครียดมานาน แล้วไม่ต้องลาออกเอง

ถ้าจะให้สรุปสั้นๆ ทำงานที่ huawei ความกดดันสูงมาก
หลักๆเพราะ deadline สำหรับ demo ที่มาทุกสองสัปดาห์

ถ้าไหนๆพูดถึงความกดดัน
ก็ขอพูดถึงความกดดันในฐานะพนักงาน full time ที่ google บ้าง
(ซึ่งไม่ได้ชิวมากเหมือนตอนฝึกงานแล้ว)

อีกหนึ่งความรับผิดชอบที่เราได้จาก google ตอนเป็น full time
ที่ไม่ได้ตอนเป็นเด็กฝึกงาน ก็คือ การอยู่เวร (on call)

การอยู่เวร คือ ถ้าระบบมีปัญหาอะไร
ระบบมันก็จะตามอัตโนมัติทันที (เช่น แอพที่ลงไว้สัญญาณจะดัง)
เรามีหน้าที่หลักที่จะต้องเข้าไปดูและแก้ไข

ต้องเข้าไปดูระบบ monitor ฯลฯ ดูว่าตรงไหนมันเป็นปัญหาได้บ้าง
เป็นปัญหาชั่วคราวไหม เช่น ผู้ใช้เยอะเฉยๆแค่จังหวะนั้น
หรือเป็นปัญหาของระบบอื่นไหม เช่น เน็ตเวิรค์ล่มพอดี
หรือเป็นปัญหาของระบบเราเอง ซึ่งถ้าใช่ เราต้องหาทางแก้เลย

ซึ่งไอ้การอยู่เวรแบบที่โดนตามได้ 24 ชั่วโมงเนี่ย มันไม่ได้มีทุกทีมหรอกนะ
แต่ทีมที่มี product ที่ลูกค้าภายนอกใช้ เช่น ทีมของเรา ก็ต้องมีการอยู่เวร

สำหรับทีมเรา ผลัดกันอยู่เวรคนละสัปดาห์ และต้องพร้อมที่จะโดนตามตลอด 24 ชม
ตอนสัมภาษณ์เข้าทีม หัวหน้าเราบอกว่า ไม่ต้องกลัวหรอก
นานๆครั้งจะโดนตามตอนดึก

เราอยู่เวรมาแค่สองรอบก็ทำลายสถิตินั้นไปละ จะเล่าให้ฟัง

ครั้งแรก เราก็ไม่โดนตามตอนดึกนะ
แต่เผอิญเราได้วันซวยพอดี โดนตามระหว่างเวลาทำงานเนี่ยแหละ
แต่โดนหนักหน่วงมาก มีปัญหาตั้งแต่เที่ยงจนถึงค่ำ
นัดเพื่อนกินข้าวไว้ก็ไปเลท 2 ชั่วโมง

ครั้งที่สอง โดนตามตอน ตี 4 วันนึง และตอนตี 5 อีกวันนึง
ทั้งสัปดาห์คือรู้สึกไม่มีพลังงาน หลังจากวัฏจักรการนอนโดนป่วน
แถมมีงานปกติที่ยังต้องทำให้เสร็จ ก็เลยทำงานจนค่ำ

ซึ่งตรงนี้แหละ ที่เราคิดว่าเป็นความกดดันหลักๆตั้งแต่เราทำงานที่ google
เรื่องอื่น เช่น งาน ทีม และหัวหน้า ทุกอย่างเรารู้สึกว่าโอเคเลย

สิ่งที่ชอบที่สุด

สำหรับ huawei แล้วสิ่งหลักๆที่ชอบที่สุด คือ
ได้ทำงานกับนักวิจัยนะ
พวกนี้ความคิดเป็นเหตุเป็นผลมาก
และมีความรู้ในแขนงของตัวเองลึกมาก

ได้เรียนรู้จากวิธีคิดและวิธีทำงานของเค้า
ว่าเค้าถามคำถามอะไรบ้าง เค้าหาคำตอบยังไง ฯลฯ

อีกอย่างคือได้เห็นพลังของความสามัคคีนะ
ถึงแม้ว่าคนคนนึงในทีมจะรู้สึกขาดอิสระ
แต่ผลลัพธ์ที่ทีมผลิตออกมา มันเจ๋งดี
เหมือนว่าทุกครั้งที่หัวหน้าเอาผลงานของทีมไป demo ให้สำนักงานใหญ่
แล้วกลับมาบอกผลลัพธ์ดีๆ ก็รู้สึกภูมิใจเล็กๆนะ


เปรียบเทียบกับการทำงานที่ startup
(ตึกออฟฟิศเน้นประหยัดค่าใช้จ่าย)


ก่อนที่เราจะเริ่มเรียน ป เอก เราทำงาน startup แห่งนึง ชื่อ samegoal
มันเป็นบริษัทที่ทำ product ที่คล้ายๆ google docs
แต่เฉพาะทางสำหรับผู้ใช้ที่เป็นคุณครูในโรงเรียนสำหรับเด็กพิการ

คือ ในอเมริกา เหมือนว่าโรงเรียนสำหรับเด็กพิการ
มันจะต้องมีแบบประเมิน แบบฟอร์มของรัฐบาล
ที่คุณครูและบุคลากรในโรงเรียนต้องกรอก
แล้วมันก็กรอกยากใช้ได้

start up ที่เราทำเลยอยากทำให้ชีวิตบุคลากรเหล่านี้มันง่ายขึ้น
เลยทำอะไรที่คล้ายๆ google docs คือ มีเอกสารที่คนหลายๆคนกรอกพร้อมกันได้
มีการช่วยกรอกอัตโนมัติ และเพื่อเพิ่มความเร็วและลดความผิดพลาด

(ข้างในตึก)

ซึ่งตอนนั้นก็ถือว่าฟลุคใช้ได้ ที่ไปเจอบริษัทนี้ขณะที่ยังอาศัยอยู่รัฐ wisconsin
(พวกงานเทคโนโลยีเยอะๆ มันจะอยู่แถวที่เรียกว่า silicon valley ซึ่งอยู่รัฐ california)

founder ก็เป็นพนักงานเก่า google แหละนะ
ซึ่งเค้าก็เล่าให้ฟังว่า เค้าอยู่ google ตั้งแต่พนักงานต่ำกว่า 1000 คน
แล้วซักพักรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นแค่เฟืองเล็กๆในบริษัท
เลยอยากออกมาทำอะไรเองจะได้กลายเป็นรถจักรแทน ชอบงานแบบนั้นมากกว่า

เราก็เข้าไปร่วมบริษัทเป็น software engineer คนที่ 3
แล้วตอนนั้นก็คือ สนุกมากกกก

เรื่องการเขียนโปรแกรมก็ได้จับทุกอย่าง ตั้งแต่ backend ยัน frontend ฯลฯ
เขียน nosql database, rpc library, message queue, build, deploy system เอง
ซึ่งทุกๆอย่างที่เราเขียนกันเอง
เหมือนว่า open source ที่มีในขณะนั้นไม่ตอบโจทย์

ได้เดินทางกับ sales ไปอยู่โรงแรมซอมซ่อแบบในหนัง (motel)
ในเมืองกันดารๆ เพื่อไป demo ให้โรงเรียนดูวันถัดมา
ได้ไปเปิดซุ้ม career fair ที่มหาลัยใกล้ๆ ไปรับสมัครนักเรียน
ได้กรอง resume และสัมภาษณ์ผู้สมัครทั้งทางโทรศัพท์ และสัมภาษณ์ตัวเป็นๆ
ฯลฯ

(เคยไปตั้งซุ้มที่ career fair ด้วย)

ตอนนั้นได้เปิดโลก เกี่ยวกับการเขียน distributed system
และได้เรียนรู้วิธีการสร้างระบบใหญ่ๆขึ้นมาจริงๆ

คิดว่าประสบการณ์ที่นั่นเป็นส่วนสำคัญ
ที่ช่วยปูพื้นฐานการเขียนโปรแกรม การออกแบบ สร้างระบบทุกอย่างให้มั่นคง
ซึ่งมันช่วยให้การเรียนรู้ระบบตอนนี้ที่ google เป็นไปอย่างราบรื่นมากๆ

งานตอนนั้นต้องยอมรับว่าหนักมาก
มีบางสัปดาห์ที่ทำงาน 10 โมงเช้าถึงตีสามทั้งสัปดาห์
กลับมาบ้านทุกคนนอนแล้ว แต่มีแมวมาคอยต้อนรับอยู่

สุดท้ายก็ลาออก เพราะรู้สึกว่าเวลาทำงานมันกินเวลาครอบครัวเยอะเกินไป
(อีกอย่างก็คือลาออก มาเรียน ป เอกนั่นแหละ)

ความแตกต่าง

ก็จะเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่ google ตอนนี้โดยเน้นเรื่อง
ความแตกต่างของ start up กับบริษัทใหญ่ละกัน
มีหลักๆที่นึกได้ 3 อย่าง

1) เห็นผลกระทบของงานที่เราทำไปแค่ไหน

startup เวลาทำอะไร จะเห็นผลกระทบจากงานตัวเองไปถึงลูกค้า ง่ายกว่า
บริษัทใหญ่เวลาทำอะไร จะเห็นผลกระทบจากงานตัวเองไปถึงลูกค้า ยากกว่า

สิ่งที่ต่างกัน คือ เห็นหรือไม่เห็นผลกระทบ
แต่เอาจริงๆแล้ว
เรื่องประโยชน์จากมุมมองของลูกค้าที่ได้จากทั้งสองที่ คือ จะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้

startup มีแนวโน้มที่จะช่วยลูกค้ากลุ่มเล็กๆจำนวนนึง แต่ช่วยแบบโคตรช่วย
ส่วนบริษัทใหญ่ๆ มีแนวโน้มที่จะช่วยลูกค้ากลุ่มใหญ่กว่า แต่จะให้ทุกคนพอใจสุดๆก็ยากอยู่

2) อย่างที่สอง เรื่องความพร้อมของ infrastructure

startup เพิ่งเกิดไม่นาน พวกระบบต่างๆยังไม่โต
บริษัทใหญ่ เกิดมานานแล้ว มีระบบต่างๆพร้อม

ยกตัวอย่าง เรื่องระบบ continuous integration
ตอนเราเพิ่งเข้าไปทำ startup ก็จะต้องมานั่งลงระบบ config ระบบกัน
แต่บริษัทใหญ่มักจะมีอยู่แล้ว มีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เรียบร้อยแล้วด้วย

3) เรื่องการเรียนรู้

startup กับบริษัทใหญ่มีโอกาสเรียนรู้คนละแบบ

startup เป็นสังคมเล็กๆ ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะ
เวลาเข้าไปทำงาน แทบจะคลุกคลีทุกอย่าง
หรือพูดอีกอย่างคือ การทำงาน startup ได้เรียนทุกอย่างในสังคมเล็กๆ
ซึ่งง่ายกว่า ตัวงานมันบังคับว่าเราต้องเรียนรู้

ในทางกลับกัน บริษัทใหญ่
มีลูกค้ากลุ่มใหญ่กว่า ระบบโตกว่า
เวลาเข้าไปทำงานมักจะได้จับแค่ของย่อยๆ

แต่ถ้ามีเวลาเหลือ และสรรหาความรู้
มันเป็นโลกที่ใหญ่กว่า และมีอะไรให้เรียนรู้เยอะกว่า
แค่ว่าเราต้องเป็นฝ่ายพยายามขวนขวายเอาเอง

การเรียนรู้อาจจะยากกว่า เพราะไม่โดนบังคับว่าต้องรู้ทุกอย่าง
แต่ถ้าอยากเรียนรู้ โลกของบริษัทใหญ่มันกว้างกว่า มีอะไรให้เรียนรู้เยอะกว่า

และมีข้อดีข้อเสียอีกต่างๆมากมายสำหรับ startup vs บริษัทใหญ่
เช่น เรื่องการเงิน work-life balance ฯลฯ
แต่เหมือนว่าหลายๆอย่างเป็นที่พอจะรู้กันอยู่ละ

สิ่งที่ชอบที่สุด

สิ่งที่ชอบที่สุดจากการทำงานที่ samegoal คือ
การได้เรียนรู้หลายๆอย่าง โดยเฉพาะประสบการณ์สร้างอะไรใหม่ๆจากศูนย์
ถ้าเปรียบเทียบ อาจจะเป็นอารมณ์อาจจะประมาณว่าได้ประกอบรถยนต์ขึ้นมาคันนึงด้วยตัวเองอะไรงั้นมั้ง

เทียบกับ google ซึ่งมี infrastructure พร้อม
โจทย์ที่ต้องเริ่มจากศูนย์ มีคำตอบแทบหมดแล้ว
การจะทำอะไรเป็นการต่อยอด เน้นผลประโยชน์ลูกค้าเอา
เลยขาดความมันส์ในการได้ออกแบบอะไรเองจากศูนย์ในฐานะโปรแกรมเมอร์


เปรียบเทียบกับการทำงานบริษัทในอเมริกา ที่ไม่เน้น tech
(ไม่มีรูปที่ทำงาน แต่ตอนที่ทำงานที่นั่น เป็นช่วงที่รับแมวมาเลี้ยง)


อีกบริษัทนึงที่เคยทำงานด้วยในอเมริกา คือ FedEx นะ
(เออ บริษัทส่งของนั่นแหละ)

ถึงแม้ว่าจะมี tech อยู่หลังบ้าน
แต่ในมุมมองของเรา FedEx ไม่ใช่บริษัท tech
(เทียบกับมุมมองของเราต่อบริษัทอย่างเช่น agoda หรือ wongnai งี้ซึ่งเราคิดว่าเป็นบริษัท tech)

ประสบการณ์ทำงานที่นี่ ค่อนข้างจะต่างกับที่อื่นๆ

สาขาที่ทำงานก็เป็นตึกที่มี 2 ส่วนหลักๆ
คือส่วนที่เป็น office กับส่วนที่เป็นโกดัง

ส่วนที่เป็น office พวก IT อยู่ชั้น 1 พวก business อยู่ชั้น 2
ส่วนที่เป็นโกดัง มันก็จะมีไอ้รถที่เอาไว้ยกของหนักๆ
มีสายพานนู่นนี่นั่น เอาไว้จัดสรรพวกพัสดุต่างๆ

จนป่านนี้ให้นึกกลับไปยังไม่เข้าใจว่างานที่ตัวเองทำมันคืออะไร
ความทรงจำเรื่องงานที่นั่นมันหายไปในหลุมดำแล้ว
จำได้แค่ว่าทุกอย่างเป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า j2ee กับ spring
ซึ่งช่วงที่อยู่ที่นั่น แทบจะไม่ได้ทำความเข้าใจเลยว่าระบบมันทำงานยังไง

ตอนเข้าไปหัวหน้าก็มอบหมายบัดดี้มาให้คนนึง ชื่อ rick
โดย rick น่าจะเป็นคนที่เรารู้สึก positive ที่สุดที่นั่นละ
มีอะไรก็คอยช่วย คอยสอนตลอด

สำหรับ fedex สาขาที่เราทำ
ทุกๆวันก่อน 9 โมงเช้า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องคำนวณว่า เมื่อวานมีพัสดุเข้ามากี่ชิ้น
ซึ่งทาง business คงสำคัญมั้ง

แต่ที่ไม่เข้าใจคือความซีเรียสของการคำนวณเลขตัวนี้
เหมือนว่า ห้ามพลาดเด็ดขาด ต้องเอาตัวเลขจากนู่นจากนี่มาคำนวณหลายๆทาง
แล้วเลขมันต้องเท่ากัน

ช่วงต้นเดือนธันวาคมก็มีความสนุกสนานเป็นพิเศษ
คือ มันเป็นฤดูที่คนจะส่งของขวัญคริสมาส
พัสดุจะเยอะเป็นพิเศษ
เค้าก็จะจ้างคนงานในโกดัง part time มาเสริมเพื่อจะได้ช่วยจัดการพัสดุ

เนื่องจากคนมาที่ตึกเยอะขึ้น ที่จอดรถเลยไม่พอ
พวก IT เลยโดนแบ่งเป็นสองกะ
กะเช้า คือ ทำงานตี 5 ถึงบ่ายสอง
กะเย็น คือ ทำงานบ่ายสองถึง 5 ทุ่ม

เราได้ทำงานกะเช้า
จำได้ว่าเดือนธันวาตอนตี 5 คือหนาวมาก
แต่การทำงานเสร็จบ่ายสองก็ไม่แย่เหมือนกันนะ

(หน้าร้อนกับหน้าหนาว อุณหภูมิต่างกันใช้ได้)

ทำงานไป 9 เดือนรู้สึกว่าไม่ได้พบความสนุกตื่นเต้นเรียนรู้กับงานที่ทำ
ก็เลยลาออก แล้วไปทำงาน startup ที่บอกด้านบน

แต่สิ่งนึงที่สังเกตุได้ที่นั่นก็คือ
คนที่นั่นเป็นคนครอบครัวซะส่วนใหญ่
อาจจะเป็นเพราะนั่นคือประชากรส่วนใหญ่ของเมืองที่อยู่ (เมือง milwaukee รัฐ wisconsin)

ครอบครัวที่ว่าก็เป็นแบบ "ครอบครัวมาตรฐานอเมริกัน"
พวกที่ทำงาน 8 โมงเช้า แล้วพอถึง 4 โมงเย็นก็ไปรับลูกที่โรงเรียน
ชอบดูอเมริกันฟุตบอล และคุยแต่เรื่องอเมริกันฟุตบอลในห้องพักเที่ยง

น้อยคนอย่างเช่นเรา ทำงาน 9 โมงกลับ 5 โมง
ช่วง 4-5 โมงเย็นคือแทบจะไม่เหลือใครแล้ว

ไม่มีความเครียดจากการทำงานแม้แต่น้อย
ไม่มีอะไรเร่ง ไม่มีใครอยู่ดึกให้เรารู้สึกผิดด้วย

สิ่งที่ชอบที่สุด

สิ่งที่เราชอบที่สุดจากการทำงานที่ fedex
ก็คือ ความตัดขาดจากงานได้โดยสิ้นเชิงหลังจากเลิกงานเนี่ยแหละ
คือ ในทีมไม่มีใครทำงานนอกเวลางานเลยจริงๆ
หลังเลิกงานเรากลับบ้านไปดูทีวี เล่นเกม สบายใจมาก

(เป็นเมืองแห่งเบียร์)
เปรียบเทียบกับขณะนี้เราทำงานจากบ้าน
แล้วพองานเยอะตลอด
มันอดไม่ได้ที่จะคิดเรื่องงานหลังเวลาเลิกงาน หรืออย่างแรกตั้งแต่ตื่นนอน
บวกกับว่ามันก็มีคนในทีมที่ทำงานหนักๆ
เราก็รู้สึกผิดเวลาไม่ได้ทำงานอะไรงี้
ทั้งๆที่หัวหน้าก็ย้ำแล้วว่า ไม่ได้คาดหวังให้ใครทำงานนอกเวลา แต่มันก็อดเช็คอีเมลไม่ได้

จริงๆมันอาจจะเป็นเพราะโควิด มากกว่าเรื่องการทำงานที่ google
แต่เราก็เทียบประสบการณ์จากความรู้สึกโดยรวมแหละ

เออ แต่ตอนทำงาน ป เอก คือมันก็เหมือนว่าเวลางานคือ 24 ชม.
แต่ก็ไม่ได้รู้สึกผิด หรือคิดเรื่องงานตลอดนะ
อาจจะเพราะ deadline ที่ไม่ชัดเจนของ ป เอกก็ได้
แล้วก็อาจจะเป็นเพราะตอนเรียน ป เอก ไม่มีอารมณ์เพื่อนในทีมที่ทำงานนอกเวลา
เพราะไม่มีเพื่อนในทีมอยู่แล้ว ทำอะไรคนเดียวตลอด


เปรียบเทียบกับการทำงานที่ประเทศไทย
(ห้อง test ที่รอยเตอร์)


และสุดท้ายที่พลาดไม่ได้
ก็คือการเปรียบเทียบกับประสบการณ์ทำงานที่ไทย

หลังจากเราเรียนจบ ป ตรี เราก็ทำงานที่รอยเตอร์นะ
(ซึ่งมันเปลี่ยนชื่อเป็น thomson reuters แล้วก็เปลี่ยนเป็น refinitiv)

ถือเป็นบริษัทฝรั่งแต่เป็นสาขาในประเทศไทยนะ
สิ่งที่แตกต่างกับประสบการณ์อื่นๆ (ซึ่งอยู่ที่อเมริกาทั้งหมด) อย่างชัดเจนที่สุด
คือ เพื่อนร่วมงาน สังคมที่ทำงาน และสังคมนอกที่ทำงาน
ก็เลยคิดว่าการเปรียบเทียบนี้อาจจะไม่ได้เปรียบเทียบเรื่องตัวงานซะทีเดียว
แต่เป็นการเปรียบเทียบชีวิตโดยรวมขณะที่ทำงานที่นั่นซะมากกว่า

จังหวะนั้นคือเป็นนักศึกษาจบใหม่
หลักๆที่เข้ารอยเตอร์ เพราะ ไม่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ที่อื่น
รอยเตอร์สัมภาษณ์และให้ offer เร็วมาก

จริงๆ ถ้าวางแผนดีๆ มันสัมภาษณ์หลายๆที่ได้
แต่ตอนนั้นเป็นเด็กเพิ่งจบตรี ไม่รู้กลไกของสังคมการทำงานเท่าไร

แต่เข้าแล้วเรียกว่าไม่เสียใจซักนิดนะ

ตอนนั้นรอยเตอร์เค้าพยายามจ้างนักศึกษาจำนวนมาก
เป็นบริษัทที่แบบ เหมาเช่าตึกแถวสีลมหลายๆชั้น
ก็จะมีคนวัยเดียวกันเข้าไปพร้อมกันเป็นสิบๆคน (ไม่แน่อาจจะร้อย)

(เพื่อนรุ่นเดียวกันจากธรรมศาสตร์ก็หลายคนแล้ว)

ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยก็
ก็คือเหมือนมี freshmen เข้าไปพร้อมกันเยอะๆ
แล้วทุกคนจะอยู่ในโหมด พร้อมทำความรู้จักเพื่อนใหม่
มันก็เลยสนุกไปหมด

ตอนนั้นก็เขียนโปรแกรมบน microsoft มีอะไรที่ไม่เก็ตไม่เข้าใจไม่เห็นภาพรวมแบบเยอะมาก
เพราะโปรแกรมที่เขียนตอนอยู่มหาวิทยาลัยมันแตกต่างกับโลกความจริงซะเหลือเกิน
สิ่งที่เรียนรู้ตอนนั้นที่ยังติดมาถึงตอนนี้ คือ การทำงานเป็นทีมนั่นแหละ

ทีมย่อยที่เราอยู่มีคนประมาณ 10 คน
ซึ่งเป็นส่วนนึงของทีมใหญ่ที่มีน่าจะ 100 คน
รู้สึกว่าแทบทุกคนคือ friendly และเป็นกันเอง

(พี่ๆในทีม)

แถมยังได้เจอเพื่อนสนิทใหม่ที่นี่หลายคนด้วย
มีเพื่อนกินข้าวเที่ยงทุกวัน (ตอนเรามาเรียนหรือทำงานที่อเมริกา นานๆทีจะมีเพื่อนกินข้าวด้วย)
หลังเลิกงานบางทีก็ไปกินข้าวเย็นกับเพื่อนที่ทำงานอะไรงี้

ที่สำคัญมากๆ ได้เข้าไปร่วมชมรมเล่นดนตรีในนั้น
และก็ได้เจอพี่และเพื่อนสนิท ที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นมากๆ
เล่นกันจนมีเครื่องดนตรีเก็บไว้ที่ทำงาน จะได้เอาไปซ้อมกันในห้องประชุมใหญ่

ทุกครั้งที่มีนัดซ้อมจะเป็นวันที่อยากไปทำงานเป็นพิเศษ
(จริงๆคืออยากไปรอเวลาเลิกงานเพื่อจะได้ไปซ้อม)

(เพื่อนๆในวงดนตรี)

เวลามีพวกระดับใหญ่ๆมาเยี่ยมจากรอยเตอร์สาขาอื่น
พวกชมรมดนตรีก็มักจะได้ไปเล่นดนตรีสดเป็นฉากหลังระหว่างที่เค้ากินข้าวกัน
เคยไปเล่นบนเรือ cruise แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วก็  central world (พื้นที่เล็กๆฝั่งที่รถไฟฟ้าผ่าน)
เอ๊ะหรือตอนนั้นมันเรียก world trade center วะ

สิ่งที่ชอบที่สุด

อันนี้ตอบได้ค่อนข้างง่าย
โดยรวมคิดว่าสิ่งที่ชอบที่สุดจากการทำงานที่รอยเตอร์ คือ สังคมที่ทำงานนะ
จนป่านนี้ยังไม่เจอสังคมที่ทำงานที่คล้ายรอยเตอร์เลย นึกถึงแล้วยิ้มทุกครั้ง

ในมุมมองของเรา คนไทยนิยมเกาะกลุ่มกัน
ส่วนทางอเมริกาคนมีเป็นตัวของตัวเองมากกว่า

ซึ่งการเกาะกลุ่ม มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
คิดว่า ถ้าเข้ากลุ่มที่ถูก จะมีความสุขมาก
ถ้าเข้ากลุ่มที่ผิด จะมีความทุกข์มาก

ในทางกลับกัน ถ้ามีความเป็นอิสระสูงไม่เข้ากลุ่ม ก็ไม่สุขมากไม่ทุกข์มาก


สรุป


ตั้งแต่จบ ป ตรี แล้วเริ่มงานแรก จนถึงตอนนี้ โห ประมาณ 15 ปีแล้วนะเนี่ย
เพื่อนๆต่างก็มีเส้นทางชีวิตของตัวเอง
มีกิจการของตัวเองบ้าง หรือเป็นใหญ่เป็นโตในบริษัทบ้าง

เส้นทางที่เราเลือก จบตรี ทำงาน เรียน โท ทำงาน เรียน เอก แล้วก็ทำงานสลับกัน
ก็เป็นอีกเส้นทางนึงที่เวลามองกลับไป ก็รู้สึกว่า เออ มันก็มีสีสันดีนะ
ก็เลยเอามาเล่าให้ฟัง

จะว่าไปทุกๆที่ที่เราเคยทำงาน ก็มีความทรงจำดีๆค่อนข้างเยอะอยู่
แต่ละที่มีสิ่งที่เราชอบที่สุดค่อนข้างต่างกันไป

ยินดีด้วยที่อ่านจบ 🤣🤣🤣
ถ้ามีคำถามอะไรก็ทักมาในเฟสบุ๊คเพจละกันนะ