December 03, 2014

ข้อคิดในชีวิต

เนื่องในโอกาสอายุครบหนึ่งหมื่นปีพอดี (เลขฐานสอง) เมื่อเร็วๆนี้
เลยถือโอกาสเอาสิ่งที่เรียนรู้มาเรื่อยๆมากลั่นกรองอีกที

เท่าที่ดูมันแบ่งได้เป็น 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ สุขภาพ การเงิน การทำงาน

วันนี้ขอเอาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์มาก่อนเพราะรู้สึกว่าสำคัญที่สุด แล้วเดี๋ยวเรื่องสุขภาพ การเงิน การทำงาน จะตามมาทีหลัง




เพื่อนสนิทหนึ่งคน ดีกว่าเพื่อนธรรมดาสิบคน

อธิบาย: เมื่อตอนเราเพิ่งเรียนจบม.ปลาย เราชอบที่จะอยู่ท่ามกลางเพื่อน จะต้องมีเพื่อนหลายกลุ่มมาก แล้วก็เปลี่ยนกลุ่มไปมา เพื่อจะได้สนุกกับทุกกลุ่ม แต่หลังจากมาคิดดูแล้ว เวลาที่เรารู้สึกดีๆ ที่เราย้อนกลับไปคิดแล้วยิ้มกับตัวเองบ่อยๆ ก็คือเวลาที่อยู่กับเพื่อนสนิท

วิธีประยุกต์ใช้: กินข้าวกลุ่มใหญ่ๆ นานๆทีก็สนุกดี เพราะจะได้เจอหน้าที่ไม่ได้เจอกันมานานแล้วก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต แต่เมื่อเราใช้เวลากับคนที่เราสนิทด้วย มันจะรู้สึกถึงความ “เก็ต” อีกฝ่าย มันเป็นความรู้สึกดีและอุ่นใจที่บอกไม่ถูก และบทสนทนากับเพื่อนสนิทมักจะเป็นอะไรดีๆที่จำไปอีกนาน




เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ คนในครอบครัวเราจะตายไปเรื่อยๆ

อธิบาย: คุณยายเราเสียตอนเราอยู่ปี 1 ก่อนหน้านั้นก็มีลูกพี่ลูกน้องเสียจากอุบัติเหตุรถยนต์ จากนั้นเวลาโทรกลับไทย ประมาณปีละครั้ง คุณแม่ก็จะเล่าให้ฟังว่า มีญาติเสียทีละคนทีละคน เป็นคุณยายบ้างคุณตาบ้าง

วิธีประยุกต์ใช้: หาเวลาเจอกับครอบครัวเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าวันไหนที่เค้าจะไม่อยู่




ในการคบกับเพื่อน การสื่อสารสำคัญพอๆกับความจริงใจ

อธิบาย: เรามีเพื่อนคนนึง มันนิสัยดี แล้วก็จริงใจ แต่ด้วยเหตุผลซักอย่าง มันคิดว่า ความจริงใจ = การพูดขวานผ่าซาก ความจริงใจของมันเลยถูกบังไปส่วนนึง สำหรับคนที่มองข้ามเรื่องพวกนี้ได้ก็สนิทกับมัน แต่ว่าถ้ามันพูดนุ่มนวลกว่านี้ มันน่าจะได้เพื่อนสนิทเพิ่มขึ้นอีก

วิธีประยุกต์ใช้: ถ้าไม่ได้รู้สึกขัดกับบุคลิกตัวเองมาก แล้วเห็นความสำคัญของเรื่องเพื่อนมากกว่าเรื่องความเป็นตัวเอง ก็ฝึกพูดให้นุ่มนวลขึ้นบ้าง จะทำให้มีเพื่อนมากขึ้น




อย่าขาวหรือดำ อย่าตัดขาดคนที่เกลียด

อธิบาย: เราเคยเกลียดคนนึง ไม่อยากเจอหน้ามัน สุดท้ายก็มีเรื่องรุนแรงขึ้น แล้วมันก็โดนไล่ออกจากที่ทำงาน ผ่านไปหนึ่งปีเราเจอมันอีกที เราก็ลืมเรื่องพวกนี้ไปแล้วก็ยิ้มทักทายมัน แต่ก็กริบๆ ถ้าตอนนั้นเราไม่ได้แตกหักกับมันเราคงเป็นเพื่อนกันได้มากกว่านี้

วิธีประยุกต์ใช้: เกลียดใครอะ เกลียดได้ แต่อย่าทำให้เป็นเรื่องแตกหัก ก็แค่ห่างๆกันไปจนลืมๆ แล้ววันนึงในอนาคตถ้าเจอกัน มันยังมีโอกาสเป็นเพื่อนกันอยู่




อย่าเป็นตัวของตัวเอง 100% ถ้าไม่ใช่กับคนสนิท

อธิบาย: เรามีเพื่อนคนนึง ตอนเราเพิ่งเจอมันบ้ามาก เฮฮาเสียงดังๆ เยอะไปนิดนึง เรารู้สึกว่ามันเยอะเกิน เราเลยออกห่างไป เวลาผ่านไปเราถึงได้เห็นความปกติของมันเลยพอรับได้ แต่ถ้ามันปกติตั้งแต่แรก เราคงจะคุยกับมันมากกว่านี้ตั้งแต่แรก

วิธีประยุกต์ใช้: เวลาเพิ่งรู้จักใคร ก็สงบเจี๋ยมเจี้ยมไว้นิดนึง เค้าอาจจะกลายเป็นเพื่อนสนิทเราในอนาคตได้ ถ้าเรารีบเป็นตัวของตัวเองเกินไป อาจจะพลาดโอกาสนั้น




คนเราเปลี่ยนกันได้

อธิบาย: เรามีภรรยาคนนึง (และมีแค่คนเดียวนะ) ก่อนหน้านี้สมัยเป็นแฟนเราเกือบเลิกกันมานับร้อยครั้งได้ สาเหตุเพราะเราเป็นคนนิสัยไม่ค่อยดี เอาแต่ใจ พูดไม่สนใจความรู้สึก แต่ด้วยความที่ว่าเราชอบเค้าจริงๆเราเลยเปลี่ยนนิสัยเราได้ เค้าบอกว่าไม่ต้องพยายามเปลี่ยนหรอก มันไม่ใช่ตัวของตัวเอง แต่สุดท้ายตอนนี้เราเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน (ในทางที่ดีขึ้น) แล้วมันก็เป็นตัวเราเองแล้ว

วิธีประยุกต์ใช้: นิสัยที่ดีๆก็พยายามฝึกไป อย่างเช่น ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนขวางโลก อย่าอ้างว่ามันเป็นตัวเรา เปลี่ยนไม่ได้ ทุกอย่างมันเปลี่ยนได้ รวมไปถึงถ้ามีเพื่อนนิสัยที่เราไม่ชอบก็อย่าไปเกลียดมันมากเกินเพราะมันก๋็อาจจะเปลี่ยนได้




อย่า negative ออกสื่อ

อธิบาย: เช้าวันนึง เราตื่นขึ้นมาอ่านเฟสบุคเพื่อน เจอด่าแฟนตัวเอง public เรารู้สึกหงุดหงิดถึงความผิด logic และการด่าคนที่ตัวเองรัก (ลองนึกภาพเดินตามตลาดเห็นคนด่าของแม่ตัวเอง จะรู้สึกยังไง) เรื่องแย่ๆอื่นก็ควรจะเก็บไว้กับตัวและคนที่สนิทมากๆเท่านั้น (คนที่สนิทมากๆเค้าก็อยากรู้เรื่องพวกนี้เหมือนกัน เพราะเค้าอยากช่วยเหลือ) เรื่องพวกนี้แพร่ให้โลกรู้ไม่มีผลดีหรอก

วิธีประยุกต์ใช้: เวลาโกรธเกลียดใคร เก็บไว้ หรือคุยกับเพื่อนสนิท อย่าให้คนอื่นรู้ถึงแม้ว่าจะพยายามทำให้คลุมเครือแค่ไหนก็ตา




positive ออกสื่อได้

อธิบาย: หลายๆคนมักมีความคิดว่า ถ่อมตัว เรื่องดีๆไม่ต้องประกาศหรอก เหมือนขี้อวด แต่การประกาศแบบถ่อมตัวๆก็ยังได้อยู่ และมีข้อดีอยู่หลักๆคือ ทำให้เรารู้ว่าเพื่อนคนไหนที่ให้ความสำคัญกับเราบ้าง ถ้าเค้ามายินดีด้วย แสดงว่าเค้ารู้สึกดีๆกับเราและติดตามความเป็นไปเราอยู่ ข้อเสียก็แค่ทำให้คนที่เกลียดคนขี้อวดหมั่นไส้ ซึ่งพวกนี้ก็น่าจะไม่ได้เป็นเพื่อนสนิทกันอยู่แล้วถ้ามันหมั่นไส้

วิธีประยุกต์ใช้: มีอะไรดีๆเกิดกับชีวิต ประกาศไปเลย คนรอบข้างเราก็จะรู้สึกดีไปด้วย




เพื่อนสนิทเป็นแฟนกันได้ แต่งงานกันได้

อธิบาย: มีหลายคนที่เราคุยด้วย ชอบใช้คำว่า friend zone เหมือนแบบ เป็นเพื่อนกันแล้วจะจีบไม่ได้เดี๋ยวเวลาเลิกกัน จะมองหน้ากันไม่ติด เราไม่เห็นด้วย วิธีเลิกกันด้วยดีมีเยอะแยะ ในทางกลับกันเราก็แต่งงานกับเพื่อนสนิท แล้วเราก็รู้จักเพื่อนอีกสองคนที่แต่งงานกับเพื่อนสนิท

วิธีประยุกต์ใช้:  ถ้าชอบเพื่อนจริง (แล้วเค้ายังไม่มีแฟน) ก็จีบไปเหอะ




เรียนรู้ที่จะทนกับความหน่วง

อธิบาย: ในการเป็นเพื่อนกัน มักจะมีเวลาที่ความสัมพันธ์มันจะหม่นๆ แบบโกรธๆกันแต่ยังไม่พร้อมจะคุยกัน ยิ่งเพื่อนเยอะ ก็ยิ่งมีโอกาสอย่างนี้เยอะ แล้วถ้าเป็นคนความอดทนต่ำก็จะทนสถานการณ์นี้ไม่ไหว ก็จะพยายามเคลียร์ให้เสร็จๆ ซึ่งบางทีถ้าเคลียร์เร็วเกินไปจะทำให้แตกหักได้ แต่ถ้ารอไปเรื่อยๆยังมีโอกาสกลับมาสนิทกันได้

วิธีประยุกต์ใช้: เวลามันหน่วงๆมันจะเครียด ต้องฝึกที่จะรับมือกับความเครียดนี้ให้ได้ เพราะมันจะมีเรื่อยๆ ถ้ามันไม่ทำลายสุขภาพหรือทนไม่ไหวจริงๆ ก็ทนต่อไป หลายๆอย่างมักจะดีขึ้น




การกลัว drama ทำให้โอกาสเจอเพื่อนดีๆน้อยลง

อธิบาย: ก่อนเรามาอเมริกา เราได้ข่าวว่า คนไทยที่อเมริกาดราม่าเยอะ พอไปถึงมหาลัยเราก็พยายามหลีกเลี่ยงการเข้ากลุ่มกับคนไทย เราก็ไปสนิทกับพวกไต้หวันพวกฝรั่ง ซึ่งก็ดี ไม่ได้อะไร แต่พอมาอยู่ปีสองเราบังเอิญเตะบอลแล้วเจอคนไทย มันก็ชวนไป potluck แล้วเราก็เริ่มเข้ากลุ่มคนไทยตั้งแต่ตอนนั้น ต้องยอมรับว่ามีดราม่าบ้าง แต่ก็ได้เพื่อนดีๆออกมาจากนั้นเยอะเลย

วิธีประยุกต์ใช้: อย่ากลัวดราม่าถ้ามันจะเพิ่มโอกาสเจอคนดีๆ




ถ้าเพื่อนมีแฟน เมีย หรือลูก ให้ทำใจว่าเค้าจะหายไปจากชีวิตเราระยะนึง และอาจจะไม่สนิทเท่าเมื่อก่อน

อธิบาย: เพื่อนสนิทเราคนนึงตอนป.ตรี มันเคยไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด เสร็จแล้วซักพักมันก็หายไป สรุปว่ามันมีแฟน แล้วมันก็หายไปเลย มีอะไรมันก็ไม่เล่าให้ฟัง

เพื่อนสนิทเราอีกคนนึงมีแฟนเหมือนกัน เจอกันอยู่บ่อยๆ พอมีลูก มันก็ไม่ว่างเหมือนเดิมแล้ว

เพื่อนสนิททั้งสองคนไม่ผิด เพราะ เค้าหายไปเพื่อดูแลคนที่เค้ารักที่สุด แต่เราก็ต้องอย่าคาดหวังว่าทุกอย่างจะเหมือนเดิมได้

วิธีประยุกต์ใช้: ทำใจเวลาเพื่อนสนิทมีแฟนหรือลูก ถ้าโชคดีมีเพื่อนสนิทหลายๆคนก็เยี่ยมเลย เพราะจะได้ไปหาคนอื่นเวลาเพื่อนคนนี้หายไป




สื่อสารแบบนุ่มนวล

อธิบาย: เราออกจากบ้านไปเจอผู้คนมากมาย เรามีภาษาของเราที่ใช้คุยกับคนอื่น การจะสื่อสารข้อความหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายปฏิบัติอะไรซักอย่าง เช่น ให้ช่วยเรื่องงาน หรือให้ลดพฤติกรรมแย่ๆ วิธีที่วิจัยมาได้ผลคือการสื่อสารแบบนุ่มนวล (มีหนังสือเรื่องนี้อยู่ แนะนำแล้วแนะนำอีก)

มีคนเคยบอกว่าการสื่อสารแบบรุนแรงอาจจะได้ผลในบางกรณี (เช่น ผู้นำประเทศตะวันออกกลาง) แต่จากประสบการณ์ ถ้าเป้าหมายคือการสร้างเพื่อนและความรู้สึกดีๆ ควรใช้การสื่อสารแบบนุ่มนวล

วิธีประยุกต์ใช้: ไปซื้อหนังสือเล่มนั้นมาอ่าน




โอเค จบสิ่งที่เรียนรู้ไปหนึ่งหัวข้อ เดี่ยวที่เหลือ เรื่อง สุขภาพ การเงิน และการทำงาน น่าจะรวมในโพสเดียวได้เลย แล้วเจอกานนน