December 03, 2014

ข้อคิดในชีวิต

เนื่องในโอกาสอายุครบหนึ่งหมื่นปีพอดี (เลขฐานสอง) เมื่อเร็วๆนี้
เลยถือโอกาสเอาสิ่งที่เรียนรู้มาเรื่อยๆมากลั่นกรองอีกที

เท่าที่ดูมันแบ่งได้เป็น 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ สุขภาพ การเงิน การทำงาน

วันนี้ขอเอาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์มาก่อนเพราะรู้สึกว่าสำคัญที่สุด แล้วเดี๋ยวเรื่องสุขภาพ การเงิน การทำงาน จะตามมาทีหลัง




เพื่อนสนิทหนึ่งคน ดีกว่าเพื่อนธรรมดาสิบคน

อธิบาย: เมื่อตอนเราเพิ่งเรียนจบม.ปลาย เราชอบที่จะอยู่ท่ามกลางเพื่อน จะต้องมีเพื่อนหลายกลุ่มมาก แล้วก็เปลี่ยนกลุ่มไปมา เพื่อจะได้สนุกกับทุกกลุ่ม แต่หลังจากมาคิดดูแล้ว เวลาที่เรารู้สึกดีๆ ที่เราย้อนกลับไปคิดแล้วยิ้มกับตัวเองบ่อยๆ ก็คือเวลาที่อยู่กับเพื่อนสนิท

วิธีประยุกต์ใช้: กินข้าวกลุ่มใหญ่ๆ นานๆทีก็สนุกดี เพราะจะได้เจอหน้าที่ไม่ได้เจอกันมานานแล้วก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต แต่เมื่อเราใช้เวลากับคนที่เราสนิทด้วย มันจะรู้สึกถึงความ “เก็ต” อีกฝ่าย มันเป็นความรู้สึกดีและอุ่นใจที่บอกไม่ถูก และบทสนทนากับเพื่อนสนิทมักจะเป็นอะไรดีๆที่จำไปอีกนาน




เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ คนในครอบครัวเราจะตายไปเรื่อยๆ

อธิบาย: คุณยายเราเสียตอนเราอยู่ปี 1 ก่อนหน้านั้นก็มีลูกพี่ลูกน้องเสียจากอุบัติเหตุรถยนต์ จากนั้นเวลาโทรกลับไทย ประมาณปีละครั้ง คุณแม่ก็จะเล่าให้ฟังว่า มีญาติเสียทีละคนทีละคน เป็นคุณยายบ้างคุณตาบ้าง

วิธีประยุกต์ใช้: หาเวลาเจอกับครอบครัวเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าวันไหนที่เค้าจะไม่อยู่




ในการคบกับเพื่อน การสื่อสารสำคัญพอๆกับความจริงใจ

อธิบาย: เรามีเพื่อนคนนึง มันนิสัยดี แล้วก็จริงใจ แต่ด้วยเหตุผลซักอย่าง มันคิดว่า ความจริงใจ = การพูดขวานผ่าซาก ความจริงใจของมันเลยถูกบังไปส่วนนึง สำหรับคนที่มองข้ามเรื่องพวกนี้ได้ก็สนิทกับมัน แต่ว่าถ้ามันพูดนุ่มนวลกว่านี้ มันน่าจะได้เพื่อนสนิทเพิ่มขึ้นอีก

วิธีประยุกต์ใช้: ถ้าไม่ได้รู้สึกขัดกับบุคลิกตัวเองมาก แล้วเห็นความสำคัญของเรื่องเพื่อนมากกว่าเรื่องความเป็นตัวเอง ก็ฝึกพูดให้นุ่มนวลขึ้นบ้าง จะทำให้มีเพื่อนมากขึ้น




อย่าขาวหรือดำ อย่าตัดขาดคนที่เกลียด

อธิบาย: เราเคยเกลียดคนนึง ไม่อยากเจอหน้ามัน สุดท้ายก็มีเรื่องรุนแรงขึ้น แล้วมันก็โดนไล่ออกจากที่ทำงาน ผ่านไปหนึ่งปีเราเจอมันอีกที เราก็ลืมเรื่องพวกนี้ไปแล้วก็ยิ้มทักทายมัน แต่ก็กริบๆ ถ้าตอนนั้นเราไม่ได้แตกหักกับมันเราคงเป็นเพื่อนกันได้มากกว่านี้

วิธีประยุกต์ใช้: เกลียดใครอะ เกลียดได้ แต่อย่าทำให้เป็นเรื่องแตกหัก ก็แค่ห่างๆกันไปจนลืมๆ แล้ววันนึงในอนาคตถ้าเจอกัน มันยังมีโอกาสเป็นเพื่อนกันอยู่




อย่าเป็นตัวของตัวเอง 100% ถ้าไม่ใช่กับคนสนิท

อธิบาย: เรามีเพื่อนคนนึง ตอนเราเพิ่งเจอมันบ้ามาก เฮฮาเสียงดังๆ เยอะไปนิดนึง เรารู้สึกว่ามันเยอะเกิน เราเลยออกห่างไป เวลาผ่านไปเราถึงได้เห็นความปกติของมันเลยพอรับได้ แต่ถ้ามันปกติตั้งแต่แรก เราคงจะคุยกับมันมากกว่านี้ตั้งแต่แรก

วิธีประยุกต์ใช้: เวลาเพิ่งรู้จักใคร ก็สงบเจี๋ยมเจี้ยมไว้นิดนึง เค้าอาจจะกลายเป็นเพื่อนสนิทเราในอนาคตได้ ถ้าเรารีบเป็นตัวของตัวเองเกินไป อาจจะพลาดโอกาสนั้น




คนเราเปลี่ยนกันได้

อธิบาย: เรามีภรรยาคนนึง (และมีแค่คนเดียวนะ) ก่อนหน้านี้สมัยเป็นแฟนเราเกือบเลิกกันมานับร้อยครั้งได้ สาเหตุเพราะเราเป็นคนนิสัยไม่ค่อยดี เอาแต่ใจ พูดไม่สนใจความรู้สึก แต่ด้วยความที่ว่าเราชอบเค้าจริงๆเราเลยเปลี่ยนนิสัยเราได้ เค้าบอกว่าไม่ต้องพยายามเปลี่ยนหรอก มันไม่ใช่ตัวของตัวเอง แต่สุดท้ายตอนนี้เราเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน (ในทางที่ดีขึ้น) แล้วมันก็เป็นตัวเราเองแล้ว

วิธีประยุกต์ใช้: นิสัยที่ดีๆก็พยายามฝึกไป อย่างเช่น ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนขวางโลก อย่าอ้างว่ามันเป็นตัวเรา เปลี่ยนไม่ได้ ทุกอย่างมันเปลี่ยนได้ รวมไปถึงถ้ามีเพื่อนนิสัยที่เราไม่ชอบก็อย่าไปเกลียดมันมากเกินเพราะมันก๋็อาจจะเปลี่ยนได้




อย่า negative ออกสื่อ

อธิบาย: เช้าวันนึง เราตื่นขึ้นมาอ่านเฟสบุคเพื่อน เจอด่าแฟนตัวเอง public เรารู้สึกหงุดหงิดถึงความผิด logic และการด่าคนที่ตัวเองรัก (ลองนึกภาพเดินตามตลาดเห็นคนด่าของแม่ตัวเอง จะรู้สึกยังไง) เรื่องแย่ๆอื่นก็ควรจะเก็บไว้กับตัวและคนที่สนิทมากๆเท่านั้น (คนที่สนิทมากๆเค้าก็อยากรู้เรื่องพวกนี้เหมือนกัน เพราะเค้าอยากช่วยเหลือ) เรื่องพวกนี้แพร่ให้โลกรู้ไม่มีผลดีหรอก

วิธีประยุกต์ใช้: เวลาโกรธเกลียดใคร เก็บไว้ หรือคุยกับเพื่อนสนิท อย่าให้คนอื่นรู้ถึงแม้ว่าจะพยายามทำให้คลุมเครือแค่ไหนก็ตา




positive ออกสื่อได้

อธิบาย: หลายๆคนมักมีความคิดว่า ถ่อมตัว เรื่องดีๆไม่ต้องประกาศหรอก เหมือนขี้อวด แต่การประกาศแบบถ่อมตัวๆก็ยังได้อยู่ และมีข้อดีอยู่หลักๆคือ ทำให้เรารู้ว่าเพื่อนคนไหนที่ให้ความสำคัญกับเราบ้าง ถ้าเค้ามายินดีด้วย แสดงว่าเค้ารู้สึกดีๆกับเราและติดตามความเป็นไปเราอยู่ ข้อเสียก็แค่ทำให้คนที่เกลียดคนขี้อวดหมั่นไส้ ซึ่งพวกนี้ก็น่าจะไม่ได้เป็นเพื่อนสนิทกันอยู่แล้วถ้ามันหมั่นไส้

วิธีประยุกต์ใช้: มีอะไรดีๆเกิดกับชีวิต ประกาศไปเลย คนรอบข้างเราก็จะรู้สึกดีไปด้วย




เพื่อนสนิทเป็นแฟนกันได้ แต่งงานกันได้

อธิบาย: มีหลายคนที่เราคุยด้วย ชอบใช้คำว่า friend zone เหมือนแบบ เป็นเพื่อนกันแล้วจะจีบไม่ได้เดี๋ยวเวลาเลิกกัน จะมองหน้ากันไม่ติด เราไม่เห็นด้วย วิธีเลิกกันด้วยดีมีเยอะแยะ ในทางกลับกันเราก็แต่งงานกับเพื่อนสนิท แล้วเราก็รู้จักเพื่อนอีกสองคนที่แต่งงานกับเพื่อนสนิท

วิธีประยุกต์ใช้:  ถ้าชอบเพื่อนจริง (แล้วเค้ายังไม่มีแฟน) ก็จีบไปเหอะ




เรียนรู้ที่จะทนกับความหน่วง

อธิบาย: ในการเป็นเพื่อนกัน มักจะมีเวลาที่ความสัมพันธ์มันจะหม่นๆ แบบโกรธๆกันแต่ยังไม่พร้อมจะคุยกัน ยิ่งเพื่อนเยอะ ก็ยิ่งมีโอกาสอย่างนี้เยอะ แล้วถ้าเป็นคนความอดทนต่ำก็จะทนสถานการณ์นี้ไม่ไหว ก็จะพยายามเคลียร์ให้เสร็จๆ ซึ่งบางทีถ้าเคลียร์เร็วเกินไปจะทำให้แตกหักได้ แต่ถ้ารอไปเรื่อยๆยังมีโอกาสกลับมาสนิทกันได้

วิธีประยุกต์ใช้: เวลามันหน่วงๆมันจะเครียด ต้องฝึกที่จะรับมือกับความเครียดนี้ให้ได้ เพราะมันจะมีเรื่อยๆ ถ้ามันไม่ทำลายสุขภาพหรือทนไม่ไหวจริงๆ ก็ทนต่อไป หลายๆอย่างมักจะดีขึ้น




การกลัว drama ทำให้โอกาสเจอเพื่อนดีๆน้อยลง

อธิบาย: ก่อนเรามาอเมริกา เราได้ข่าวว่า คนไทยที่อเมริกาดราม่าเยอะ พอไปถึงมหาลัยเราก็พยายามหลีกเลี่ยงการเข้ากลุ่มกับคนไทย เราก็ไปสนิทกับพวกไต้หวันพวกฝรั่ง ซึ่งก็ดี ไม่ได้อะไร แต่พอมาอยู่ปีสองเราบังเอิญเตะบอลแล้วเจอคนไทย มันก็ชวนไป potluck แล้วเราก็เริ่มเข้ากลุ่มคนไทยตั้งแต่ตอนนั้น ต้องยอมรับว่ามีดราม่าบ้าง แต่ก็ได้เพื่อนดีๆออกมาจากนั้นเยอะเลย

วิธีประยุกต์ใช้: อย่ากลัวดราม่าถ้ามันจะเพิ่มโอกาสเจอคนดีๆ




ถ้าเพื่อนมีแฟน เมีย หรือลูก ให้ทำใจว่าเค้าจะหายไปจากชีวิตเราระยะนึง และอาจจะไม่สนิทเท่าเมื่อก่อน

อธิบาย: เพื่อนสนิทเราคนนึงตอนป.ตรี มันเคยไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด เสร็จแล้วซักพักมันก็หายไป สรุปว่ามันมีแฟน แล้วมันก็หายไปเลย มีอะไรมันก็ไม่เล่าให้ฟัง

เพื่อนสนิทเราอีกคนนึงมีแฟนเหมือนกัน เจอกันอยู่บ่อยๆ พอมีลูก มันก็ไม่ว่างเหมือนเดิมแล้ว

เพื่อนสนิททั้งสองคนไม่ผิด เพราะ เค้าหายไปเพื่อดูแลคนที่เค้ารักที่สุด แต่เราก็ต้องอย่าคาดหวังว่าทุกอย่างจะเหมือนเดิมได้

วิธีประยุกต์ใช้: ทำใจเวลาเพื่อนสนิทมีแฟนหรือลูก ถ้าโชคดีมีเพื่อนสนิทหลายๆคนก็เยี่ยมเลย เพราะจะได้ไปหาคนอื่นเวลาเพื่อนคนนี้หายไป




สื่อสารแบบนุ่มนวล

อธิบาย: เราออกจากบ้านไปเจอผู้คนมากมาย เรามีภาษาของเราที่ใช้คุยกับคนอื่น การจะสื่อสารข้อความหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายปฏิบัติอะไรซักอย่าง เช่น ให้ช่วยเรื่องงาน หรือให้ลดพฤติกรรมแย่ๆ วิธีที่วิจัยมาได้ผลคือการสื่อสารแบบนุ่มนวล (มีหนังสือเรื่องนี้อยู่ แนะนำแล้วแนะนำอีก)

มีคนเคยบอกว่าการสื่อสารแบบรุนแรงอาจจะได้ผลในบางกรณี (เช่น ผู้นำประเทศตะวันออกกลาง) แต่จากประสบการณ์ ถ้าเป้าหมายคือการสร้างเพื่อนและความรู้สึกดีๆ ควรใช้การสื่อสารแบบนุ่มนวล

วิธีประยุกต์ใช้: ไปซื้อหนังสือเล่มนั้นมาอ่าน




โอเค จบสิ่งที่เรียนรู้ไปหนึ่งหัวข้อ เดี่ยวที่เหลือ เรื่อง สุขภาพ การเงิน และการทำงาน น่าจะรวมในโพสเดียวได้เลย แล้วเจอกานนน

June 10, 2014

วิธีการโน้มน้าวใจคน

คิดว่าหลายๆคนเกิดมาน่าจะเคยพยายามโน้มน้าวใจใครหรือโดนใครพยายามโน้มน้าวใจ

บางทีก็สำเร็จ บางทีก็ไม่สำเร็จ

ช่วงนี้มีเวลาว่าง เลยกลั่นกรองออกมาได้เป็นข้อๆ จะไล่ทีละข้อ แล้วให้ตัวอย่างด้วย

เราคิดว่านะ การจะโน้มน้าวใจใครซักคน (ขอใช้ชื่อ เบคแคม) ต้องมี 4 ข้อ นี้

1) ข้อมูลถูก
เราต้องเอาข้อมูลเจ๋งๆมาโชว์ไอ้เบคแคม แล้วข้อมูลต้องไม่ตอแหลด้วย

2) logic ไม่มีบั๊ก
จากนั้น เราต้องเอาข้อมูลจากข้อ 1 มาโยงเข้ากับผลประโยชน์ที่ไอ้เบคแคมจะได้รับ ให้สมเหตุสมผล

3) ภาษาไม่รุนแรง
วิธีการสื่อสารกับไอ้เบคแคมต้องไม่ใช้ภาษารุนแรง
ภาษารุนแรงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย
แต่ตัวอย่างคร่าวๆ เช่น เหี้ย สัส กาก หรือแม้แต่ “555555555 อยากจะขำ” ก็ยังถือว่ารุนแรงอยู่
หรือแม้แต่ภาษากายที่ไม่ได้ออกมาเป็นคำพูด เช่นการ โพส link หรือ รูปภาพใส่ ที่ทำให้คนฟังรู้สึกโง่หรือผิด ก็ถือว่าเป็นภาษาที่รุนแรง

4) รอปาฏิหาริย์
เราควบคุมได้แค่ข้อ 1-3 จากนั้นต้องรอเหตุการณ์เด็ดๆมาเปลี่ยนชีวิตไอ้เบคแคม ไม่งั้นอยู่เฉยๆมันมักจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

จบไป 4 ข้อ ขอยกตัวอย่างซัก 2 ตัวอย่างดีกว่า

กรณี 1 ชวนไอ้เบคแคมเลิกดูดหรี่ (ภาษาวิบัติสำหรับคำว่า สูบบุหรี่)

1) ข้อมูลถูก
เราต้องเอาข้อมูลที่ว่า บุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอดจากแหล่งที่เชื่อได้ให้ไอ้เบคแคมดู

2) logic ไม่มีบั๊ก
การบอกว่า บุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด ไม่ได้แปลว่า การไม่สูบบุหรี่ทำให้ไม่เป็นมะเร็งปอด
(คร่าวๆคือ A -> B ไม่ได้แปลว่า ~A -> ~B
หรือในกรณีนี้ แปลว่า คนไม่สูบบุหรี่ แต่ทำงานโรงงานบุหรี่ก็เป็นมะเร็งปอดได้)
แต่เราสามารถเสนอว่า คนที่แก่ตายโดยไม่ได้เป็นมะเร็งปอด ไม่สูบบุหรี่
(อันนี้เพราะว่า A -> B กับ ~B -> ~A มันเหมือนกัน)

3) ภาษาไม่รุนแรง
ถ้าไปบอกไอ่เบคแคม ว่า “กุไม่รู้ว่ามึงโง่หรืออะไรถึงได้ไม่เลิกบุหรี่” มันคงไม่อยากฟัง
ถ้าบอกว่าประมาณว่า “นี่ๆ กูเป็นห่วง อยากให้มึงสุขภาพแจ่มๆ เราจะได้อยู่ด้วยกันนานๆ กุว่าถ้ามึงเลิกบุหรี่ได้จะเจ๋งมาก” ฟังดูลื่นหูกว่าเป็นไหนๆ
การใช้ภาษาไม่รุนแรง เคยเขียนไว้ใน blog เอาเก่า (ใครสนใจอ่านได้ที่นี่)

4) รอปาฏิหาริย์
จากนั้นก็ถึงเวลารอ เพราะว่าทุกคนไม่ใช่อยู่ๆ พูดอะไรแล้วจะเปลี่ยนนิสัยเค้าได้
ลองนึกดูขนาดพ่อแม่ที่เรารัก สั่งสอนเรามา หลายๆครั้งเรายังไม่เชื่อฟังเลย
เอาอะไรกับคนรู้จัก หรือ เพื่อนอะ
มันจะต้องเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนชีวิต เช่น พ่อตายด้วยมะเร็งปอด หรือว่า มีลูก อย่างนี้ อาจจะทำให้เบคแคมตัดสินใจเลิกบุหรี่ได้

อะจบตัวอย่างแรก

กรณีที่ 2 (สำหรับไอ้พวกเนิร์ด)

หลายๆคนคงเคยได้ยิน agile
คร่าวๆ agile เป็นแนวคิดที่ทำให้เขียนโปรแกรมได้ดี ตรงตามวัตถุประสงค์ “ลูกค้า” มากขึ้น
ถ้าอยากชวนไอ้เบคแคมที่เพิ่งเรียนจบ เอาแนวคิด agile เข้าไปใช้ในการเขียนโปรแกรมมากขึ้นจะโน้มน้าวยังไง

1) ข้อมูลถูก
เอาข้อมูลมาโชว์
เนี่ยบริษัท A B C D E ตอนแรกไม่ได้เอาหลักการ agile มาใช้เท่าไร ลูกค้าพอใจแค่ 20 %
พอเอาหลักการ agile มาใช้เยอะขึ้น ลูกค้าพึงพอใจ 50%

2) logic ไม่มีบั๊ก
ถ้าบริษัท A B C D E ไม่ได้คล้ายบริษัทที่เบคแคมทำอยู่ ก็ไม่ได้มีความน่าจะเป็นเท่าไรที่ agile จะใช้ได้กับบริษัทเบคแคม
แต่ถ้าบริษัท A B C D E มีความคล้ายกับบริษัทที่เบคแคมทำอยู่ เป็นการแสดง logic ที่ถูกต้องน่าเชื่อถือขึ้น

3) ภาษาไม่รุนแรง
ลองไปพูดใส่เบคแคมว่า “มึงไม่ใช้ continuous integration กุปวดหัวแทน” ดูสิ
ถ้าเบคแคมไม่รู้ว่าไอ่ศัพท์หรู continuous integration นั่นแปลว่าอะไร มันจะรู้สึกเหมือนโดนดูถูก
น่าจะพูดประมาณว่า “เคยลองนี่ยัง continuous integration เป็นอย่างนึงที่ทำง่ายๆเลย แล้วเห็นผลลัพธ์ที่ดีเร็วมากเลย”

4) รอปาฏิหาริย์
จากนั้นก็รอ
เบคแคม อาจจะเชื่อขาดใจ แต่ว่า ยังไม่มีโอกาสได้เอาไปใช้ หรือว่ายังไม่เห็นภาพ
แต่ถ้าวันนึง เจ้านายเบคแคมบอกว่า “เอาละ เดือนนี้เรามาลองอะไรใหม่ๆ มีใครจะเสนออะไรไหม” ละก็
เบคแคมอาจจะมีโอกาสได้ลอง แล้วก็รู้ว่ามันดี

สุดท้ายนี้เรามาเลี้ยงแมวกันเถอะนะๆๆๆ (ขาดข้อ 1, 2, 4)