November 14, 2016

รักสิ่งที่ทำอยู่จริงหรือเปล่า

รูปเด็กๆเตะบอลท่าทางสนุกสนาน เราสนุกแบบนั้นกับทุกอย่างที่เราทำได้หรือเปล่า



"พี่อัมว่าไหมครับว่าโลกนี้มันไม่แฟร์"
มีน้องคนนึงถามเราตอนกำลังนั่งกินข้าวกันอยู่

เราก็ถามมันว่ามันหมายความว่ายังไง

มันก็บอกว่า
"สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราใช้เวลากับมันเยอะที่สุด
กลับไม่ใช่สิ่งที่เราชอบทำที่สุด
วันๆเราใช้เวลาเรียนใช้ทำวิจัย
แต่ยังไงมันก็ไม่สนุกเท่ากับการเล่นเกม
แต่ถึงเกมจะสนุกแค่ไหนก็ตาม
เราก็ไม่สามารถจะหากินได้ด้วยการเล่นเกม
ยกเว้นจะเก่งอันดับต้นๆของโลก"

มองดูตัวเอง ซึ่งเลือกที่จะเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ ป.ตรี ยัน ป.เอก
เวลาที่ใช้กับการเรียนและเขียนโปรแกรมรวมกัน 10 กว่าปีแล้ว
เราใช้เวลาในชีวิตกับสิ่งเหล่านี้เยอะ



แล้วสรุปเรารักการเขียนโปรแกรมไหม

คำตอบคือ เราไม่ได้รักการเขียนโปรแกรมนี่หว่า
และเราอาจจะไม่ได้รักวิทย์คอม ขนาดนั้นด้วย

รู้สึกว่าการเขียนโปรแกรมเพราะมันก็สนุกดี ทฤษฏีมันก็น่าสนใจดี
แต่เราไม่ได้ดื่มด่ำกับวิชา กระหายความรู้ เรียนเรื่องใหม่ๆแล้วฟินขนาดนั้น
มาคิดดู สาเหตุที่เรียนวิทย์คอมตั้งแต่แรก เพราะ ชอบเล่นเกม เก่งเลขตอนประถม และขี้เกียจท่องจำ

เมื่อเรารู้ตัวแล้วว่าเราไม่ได้รักการเขียนโปรแกรมขนาดนั้น
เราก็มาดูตัวเองว่า จริงๆแล้วรักอะไรกันแน่

ก็พบว่ามีกิจกรรมอีก 2 อย่างที่น่าจะเข้าข่าย นั่นก็คือ การเตะบอล และการเล่นดนตรี
ความเห็นส่วนตัวคิดว่า การเตะบอลหรือเล่นดนตรี สนุกกว่าเขียนโปรแกรมนะ



แล้วสรุปเรารักการเตะบอลใช่ไหม

เราเล่นบอลจริงจังเป็นอาชีพหรือเปล่า
เราเล่นทุกวันที่มีโอกาสไหม
เราไปเล่นกับคน randomๆ ได้เต็มที่ไหม

ก็เปล่านะ
หรือจริงๆเราไม่ได้รักฟุตบอลขนาดนั้น



แล้วสรุปเรารักดนตรีใช่ไหม

เพราะเราก็เล่นมาตั้งแต่แบบ ป.1 จนตอนนี้ก็ยังเล่นอยู่

แต่ถามว่าฝีมือพัฒนาไหม
อยู่บ้านหยิบเครื่องดนตรีมาเล่นเวลาว่างตลอดไหม

ก็เปล่าอีกแหละ
รู้สึกฝีมืออยู่กับที่ ไม่ได้ตั้งใจซ้อมอะไรจริงๆจังๆให้เก่งขึ้นเลย
เพลง classซง classic ที่เคยพริ้วๆ ก็ลืมไปหมด
ฝีมือเหมือนคงที่มาประมาณ 10 ปีแล้วมั้ง



สรุปว่าเราไม่ได้รักสิ่งที่ทำอยู่เลยใช่ไหมเนี่ย

มันก็ไม่ถึงขนาดนั้น

จริงๆเรารักสิ่งที่ทำอยู่นั่นแหละ
แค่มันไม่ใช่การเขียนโปรแกรม ไม่ใช่เตะบอล แล้วก็ไม่ใช่ดนตรี
แต่เรารักการใช้เวลากับเพื่อน(สนิท)ในการทำกิจกรรมเหล่านี้ต่างหาก



มียกตัวอย่างที่อยากเล่าให้ฟัง เรื่องเตะบอลเนี่ยแหละ

ตั้งแต่เรามาอเมริกา
เพื่อนเตะบอลก็มีประปราย
โผล่มาบ้าง หายไปบ้าง ย้ายที่อยู่บ้าง อะไรงี้

จนถึงเมื่อปีที่แล้วเราแทบจะไม่มีเพื่อนเตะบอลเลย
มีคนไทยเตะอยู่ไม่กี่คนแล้วก็ว่างไม่ตรงกัน

เราเลยไปลงแข่งแบบ league สมัครเล่น ทั้งภายในและนอกมหาลัย
ไปซ้อมจริงจังเลยนะ เตะบอลกับกำแพงวันละ 500 ลูกเป็นเวลาเดือนนึงอะไรงี้
ขนาดกลับไทยเพื่อนยังทักเลยว่า ขาใหญ่ขึ้น
ได้แข่ง 10 กว่านัดกับคนเก่งๆเยอะๆ

จากนั้นพอถึงปีใหม่ กลับไทย
เราก็นัดเตะบอลกับเพื่อนโรงเรียนเก่า
ตอนไปเล่นก็คิดว่าคงได้ความรู้สึกที่เดิมๆ
คือ "ฟุตบอลมันสนุก" เหมือนที่เตะผ่านๆมา

แต่มันไม่ใช่ ความสนุกตอนได้เตะบอลกับเพื่อนมันต่างกันฟ้าดิน
เทียบกับการเล่นกับไอ้ฝรั่ง random ที่เจอตามสนามบอล




เราคิดว่าเรารักการเตะบอล
แต่จริงๆแล้ว เรารักการเตะบอลกับเพื่อนสนิทๆมากกว่า

หลังจากไม่ได้เตะบอลกับเพื่อนนานมาก
กลับคราวนี้ได้กลับไปเตะบอลกับเพื่อน ความสนุกมันต่างกันมาก
การที่เราสามารถตะโกนเรียกบอลเพื่อนโดยไม่เขิน
หรือเล่นอะไรแผลงๆ บ้าๆ วิ่งตลกๆ โดยไม่กลัวเพื่อนด่า ฯลฯ
มันทำให้ฟุตบอลสนุกขึ้นประมาณ 1 ล้านเท่า

จนถึงปีนี้ เพื่อนคนไทยก็รู้จักกันมากขึ้นและสนิทขึ้นเรื่อยๆ
จนพอจะแบ่งทีมเล่นกันเองได้เหมือนตอนเด็กๆ
ก็เจอว่า การเล่นกันเอง แม้กระทั่งจะเล่นกับคนเล่นไม่เป็น
แม้กระทั่งจะเล่นเป็นโกล (ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พยายามหนีที่สุด)
มันสนุกกว่า การได้เล่นกับคนเก่งๆแล้วชนะทีมอื่นตอนแข่ง league เยอะเลย

พอรู้ตัวอย่างนี้ มันค่อนข้างจะชัดขึ้นเรื่อยๆในเรื่องอื่นๆด้วย



เราคิดว่าเรารักดนตรี
แต่จริงๆแล้ว เรารักการซ้อมดนตรีกับเพื่อนสนิทๆ

เพราะไอ้จังหวะซ้อมดนตรีด้วยกันเนี่ยแหละ
ไม่ว่าจะเป็นการเล่นผิด เสียงหลง ร้องผิดท่อน ไปหาอะไรกินระหว่างซ้อม
การเดินทางแบกเครื่องดนตรีไปสถานที่แสดง
หรือการอุ้มรุ่นพี่ที่เมากลับคอนโดด้วยกัน ฯลฯ
มันเป็นความทรงจำที่มันค่อนข้างจะติดสมองไปนาน ในทางที่ดีด้วย



เราคิดว่าเรารักการเขียนโปรแกรมหรือไม่ก็สาขาวิทย์คอม
แต่จริงๆแล้ว เรารักการได้ใช้เวลากับเพื่อนสนิทๆ ระหว่างเรียน ระหว่างทำงานต่างหาก

ทุกๆก้าวในชีวิตที่ผ่านมา
เดียร์ซึ่งเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดในชีวิต ก็อยู่ด้วยกันตลอดมา
และก็ยังคงเจอเพื่อนสนิทดีๆใหม่ๆ ทุกที่ที่ไป



ที่พูดมาทั้งหมดนี้ นำมาถึงข้อสรุปการค้นพบที่สำคัญมากๆในชีวิต คือ

ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
เป็นตัวกำหนดความสุขของคนหลายๆคน

แล้วในทางกลับกัน เราได้เห็นคนที่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไม่ดี
แล้วคนเหล่านั้นก็รู้สึกไปว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ว่าจะงานหรือเรียน มันแย่

แล้วข้อคิดนี้เป็นข้อคิดที่ช่วยให้เราตัดสินใจอะไรหลายๆอย่างในชีวิต
ที่ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น

หลายๆคนอาจจะบุคลิกไม่เหมือนเรา
ความสุขที่ได้ อาจจะมาจากแหล่งอื่น

มีคนที่เรารู้จักเค้าก็รักสิ่งที่เค้าทำจริงๆ
ตั้งแต่บอร์ดเกม ยันเขียนโปรแกรม ยันเล่นดนตรี ยันเล่นเกมระดับอาชีพ
เราเห็นว่าพวกนั้น ดูรักสิ่งที่เค้าทำจริงๆ
พวกนี้โคตรเจ๋ง แล้วเราก็นับถือพวกนั้นมาก
เพราะเราไม่น่าจะ passionate กับอะไรบางอย่างได้มากขนาดนั้น

แต่สำหรับคนที่บุคลิกคล้ายๆเรา
ก็มีอะไรที่น่าจะนำไปใช้ได้อย่างนึง
ซึ่งทำให้เราแฮปปี้มาได้ตลอด คือ

ไม่ว่าจะไปไหนทำอะไรก็ตาม ไปเรียน ไปทำงาน
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รักสิ่งนั้น
แต่ถ้าพยายามเน้นสร้างเพื่อนแท้เพิ่มขึ้น
ก็จะทำให้มีความสุขกับสิ่งนั้นมากขึ้นโดยอัตโนมัติได้

อ่านเสร็จแล้ว ก็ไปหาเพื่อนซี้กันเนอะ

April 25, 2016

ทำอย่างไรเมื่อชีวิตมันแย่


วันนี้ขอเอาเรื่องคนอื่นมาแชร์

เรามีเพื่อนคนนึงชื่อเดวิด
เดวิดเคยเป็นเจ้านายเรา
สมัยเราทำงานบริษัทแรกๆ
(เราเคยพูดถึงเดวิดในโพสเก่านี้)

หลังจากทั้งเราทั้งเดวิดเปลี่ยนงาน
ชีวิตเราก็โคจรมาเจอกันอีกในฐานะเพื่อน แทนที่จะเป็นเจ้านายกับลูกน้อง

เดวิดแต่งงานกับผู้หญิงที่ชื่อเจ็น
สองคนนี้ตั้ง start up ด้วยกัน
บริษัทนี้เขียนโปรแกรมเพื่อเข้าไปช่วยโรงพยาบาลหรือโรงงานให้ลดของเสียมลพิษ
เพราะสองคนนี้รักสิ่งแวดล้อมมาก

เราได้เห็นด้านดีๆของเดวิดมากมาย
และยังเห็นว่าสองคนนี้รักกันจริง
น่าจะเกิดมาเพื่อกันและกันเลยทีเดียว

หลังจากเราย้ายเมืองมาเรียนต่อก็ยังติดตามสองคนนี้อยู่เรื่อยๆ
บางทีเราก็ขับรถไปเยี่ยมสองคนนี้กับลูกๆ

จนวันหนึ่ง

เราเห็นบนเฟสบุคของเจ็นว่าเดวิดเข้าโรงพยาบาลเป็นอะไรไม่รู้
แต่เจ็นเป็นคนที่เข้มแข็งมาก กำลังใจดี
โพสเค้าก็เต็มไปด้วยความคิดด้านบวก
ว่าเดวิดเป็นคนแข็งแกร่ง เดี๋ยวก็ลุกขึ้นมาทำงานต่อได้

แต่ทุกอย่างในชีวิตก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง

สรุปว่า เดวิดเสียชีวิตด้วยอายุ 40 กว่าๆ
เจ็นอยู่กับลูก 4 คนให้เลี้ยงตามลำพัง

บริษัท start up เจ๊ง เพราะไม่มีคนเขียนโปรแกรม
เจ็นตกงาน ต้องขายบ้าน แล้วไปนอนบ้านเพื่อน

เราได้ไปงานศพเดวิด เป็นงานศพที่เศร้ามากๆ
เราได้เห็นลูกที่เสียพ่อไป และได้เห็นผู้หญิงที่เสียผู้ชายที่รักไป

เราก็บริจาคเงินช่วยงานศพ ฯลฯ
และเสนอความช่วยเหลือเจ็นเท่าที่จะทำได้
แล้วก็ติดตามทางเฟสบุคอยู่เรื่อยๆเพราะเป็นวิธีหลักๆที่เจ็นใช้ติดต่อคนรู้จัก

จนเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมารู้สึกว่าเจ็นก็ได้งานประจำงานใหม่แล้ว
ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ start up ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิม
แต่เจ็นก็สามารถกลับมาเลี้ยงดูครอบครัวได้อีกแล้ว

ลูกๆของเจ็นก็ดูเหมือนจะโตขึ้นมาเป็นเด็กปกติ มีจิตใจดี
ล่าสุด ลูกคนนึงเรี่ยไรเงิน เพื่อจะได้เอาเงินไปซื้ออาหารมาทำให้ขอทานไร้บ้านกิน

แต่ที่เด็ดที่สุดก็คือ โพสเมื่อเร็วๆนี้
ประโยคที่เราชอบที่สุดคือ

"หลังจากการสูญเสียครั้งนั้น เป้าหมายเดียวเท่านั้น ในปีแรกคือแค่ให้อยู่รอดก็พอ"

เจ็นไม่ได้หวังว่าชีวิตจะกลับมาดีเหมือนเดิม
ไม่ได้หวังว่า start up จะสามารถดำเนินต่อได้

หลังจากเหตุการณ์แย่ๆทั้งหมด
เจ็นมีเป้าหมายเล็กๆเพียงอย่างเดียว คือ อยู่รอด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความอดอยาก หรืออยู่รอดทางจิตใจ

แล้วเขาก็ทำจนได้

เราคิดว่าเรื่องนี้มันให้กำลังใจคนได้ดีมากเลยนะ

ถ้าวันนึงฃีวิตเกิดแย่ขึ้นมา มีเรื่องให้เครียด
เราว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้ ก็คือ ตั้งเป้าเหมายเล็กๆ แล้วทำมันให้ได้

ไม่ต้องรอให้เป็นเรื่องแย่ๆเรื่องใหญ่ในชีวิตก็ได้
แค่เรื่องแย่ๆเล็กๆ เราก็สามารถข้ามมันไปได้
เช่น
ถ้าเล่นบอลกาก ก็กลับมาตั้งเป้าหมายว่า พรุ่งนี้จะซ้อม 30 นาที
ถ้าโดนอาจารย์ด่า ก็กลับมาตั้งเป้าเหมายว่า พรุ่งนี้จะตื่นเช้ากว่าเดิมวันนึงเพื่อทำงานเพิ่มขึ้นวันนึง
ถ้าอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ก็ตั้งเป้าหมายว่า เราจะอีเมลถามคนที่รู้เรื่อง 5 คน ไปคุยกับพวกนั้น คนละ 1 ชั่วโมงเผื่อจะรู้เรื่องขึ้น
ถ้าอกหัก ก็ตั้งเป้าหมายว่า จะไม่กินเหล้าจนเละเทะเป็นเวลา 1 เดือน
ถ้าสอบตก ก็จะตั้งเป้าหมายว่า เราจะผ่านอย่างน้อยหนึ่งวิชา
ถ้ามีปัญหากับคนใกล้ชิด ก็กลับมาตั้งเป้าหมายว่า อีก 24 ชั่วโมง จะไม่ใช้อารมณ์
ถ้าเพื่อนทำให้ผิดหวัง ก็กลับมาตั้งเป้าหมายว่า เราจะลองให้อภัยมันอีก 5 ครั้ง

เมื่อสมัยที่ลูกพี่ลูกน้อง(ซึ่งรักเหมือนพี่จริงๆ) ของเดียร์(ภรรยาเรา) เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุรถยนต์
เดียร์เสียใจมาก
ตอนนั้นเราตั้งเป้าหมายว่า เราจะพยายามร่าเริ่งเข้มแข็ง 1 ปี
ผ่านไปประมาณ 2 เดือน เดียร์ก็กลับมายิ้มเหมือนเดิมได้
เราก็สามารถทนเห็นเดียร์เสียใจได้ 2 เดือน เพราะเราตั้งเป้าหมายที่เรามุ่งมั่นจะทำไว้แล้ว

พูดเหมือนง่าย แต่ก็ทำยากอยู่
แต่ถ้าใครรู้สึกว่าชีวิตมันยากขึ้นมา มีเรื่องแย่ๆ
ลองกลับมาหายใจลึกๆ
แล้วตั้งเป้าหมายเล็กๆดูว่า จะทำอะไรให้สถานการณ์มันดีขึ้นได้ นิดดดดดดดดดดนึง

แล้วทุกอย่างมันจะดีขึ้นนะ

March 16, 2016

วิธีสื่อสารให้ดีกว่าคนอีก 80 % ง่ายๆ



จะเล่าเรื่องให้ฟังเรื่องนึง

เราเคยเป็นผู้ช่วยสอน (เรียกว่า TA) วิชาหนึ่งในมหาวิทยาลัย
หน้าที่ของเราก็คือให้นักศึกษามาถามคำถามเกี่ยวกับการบ้าน ฯลฯ ได้

ทีนี้เค้ามีอารมณ์ประมาณบอร์ด pantip ที่เอาไว้ถามตอบเกี่ยวกับเนื้อหาวิชา

ถึงแม้ว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของ TA และโปรเฟสเซอร์ที่จะต้องเข้าไปตอบคำถาม
(ถึงไม่เข้าไปตอบเลย ก็ถือว่าไม่ได้ทำผิดหน้าที่ตามกฎของคณะ)
แต่มันเป็นเรื่องดีที่จะพยายามเข้าไปตอบคำถามให้มากที่สุด
เพราะมีนักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่

มีวันนึงคะแนนสอบมิดเทอมออก
หลังจากนั้นเด็กก็จะเข้ามาถามว่ามีสิ่งที่เรียกว่า cut off ไหม

cut off มันคือการทำนายเกรดจากคะแนนมิดเทอม
เช่น ถ้ามิดเทอมได้ 50/100 นักศึกษามักจะได้เกรด B

ตั้งแต่เกิดมาเราเพิ่งจะเคยได้ยินคำว่า cut off ครั้งแรก
เราเลยคิดว่าปล่อยให้ TA คนอื่นตอบดีกว่า เพราะตอนนั้นเราไม่รู้จริงๆว่ามันคืออะไร

ผ่านไป 1 สัปดาห์ กระทู้นั้นยังไม่มีใครตอบ
นักเรียนเริ่มฉุนทนไม่ไหว
ก็เริ่มด่า TA รวมไปถึงโปรเฟสเซอร์ว่า
"จริงๆพวกนั้นอะ ไม่ได้สนหรอกว่าเราจะเรียนรู้เรื่องไม่รู้เรื่องยังไง"
ตัดพ้อ บ่น ต่างๆนานา

เราเห็นว่าบรรยากาศเริ่มไม่ดีเราเลยไปตอบตรงๆว่า

"การที่พวกเราไม่ตอบต้องทำให้พวกคุณรู้สึกแย่มากแน่ๆเลย
ต้องขอโทษด้วย
ถ้าจะให้พูดตรงๆ เราไม่เคยได้ยินคำว่า cut off มาก่อน
เราก็เลยไม่รู้จะตอบยังไง ตอนนี้เราก็กำลังหาคนที่รู้อยู่ว่ามันคืออะไรกันแน่"

เท่านั้นแหละ ก็เริ่มมีนักศึกษาเริ่มออกมาตอบว่า
"โอเค ไม่รู้จริงๆก็ไม่เป็นไร ขอบคุณที่ออกมาตอบ อย่างน้อยเราก็รู้ว่ามีคนอ่าน"



ที่เล่ามาทั้งหมดนี่อยากจะโยงเข้าเรื่องนึง

มีหนึ่งทักษะที่จะทำให้คนเรา มีความน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจได้
ง่ายๆเลยเพียงหนึ่งทักษะคือ

ตอบทุกอย่าง


เรื่องนี้มักจะเกี่ยวกับการสื่อสารที่ไม่ได้ต้องตอบกันเดี๋ยวนั้น
เช่น อีเมล กระทู้แบบ pantip เฟสบุค หรือ ไลน์

เราพบว่าคนส่วนใหญ่มักจะไม่ตอบทุกคำถาม
น่าจะประมาณ 80% เลย

มีอีกแค่ประมาณ 20% ที่ตอบตลอด

เราสังเกตว่าการที่คนที่ตอบทุกอย่าง มันทำให้ดูเป็นคนมีความรับผิดชอบ

ไม่ใช่แค่นั้น เรารู้สึกอีกด้วยว่า คนเหล่านี้ให้ความเคารพผู้อื่น
เคารพเวลากับพลังงานที่ผู้อื่นสื่อสารไป

แค่การตอบง่ายๆแท้ๆ ไม่ได้ทำงานร่วมกัน ไม่ได้รู้จักกันจริงๆเท่าไร เลย
แต่ดันทำให้เกิดความรู้สึกด้านบวกพวกนี้ได้

อันนี้อาจจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ชอบตัดสินกันด้วยอะไรเล็กๆภายนอก
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ใช่ไหม ว่าไอ้เรื่องพวกนี้มันสำคัญ

เมื่อคนที่ตอบเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นคนมีความรับผิดชอบและให้ความเคารพผู้อื่น
คนเหล่านี้ก็จะดูน่าเชื่อถือ น่าไว้ใจ ขอความช่วยเหลือได้

ซึ่งเรื่องความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจเป็นสิ่งสำคัญมาก
โดยเฉพาะเรื่องการเรียนและการทำงาน

ถ้ามีนักเรียนถามอะไรที่ไม่รู้ ก็ตอบว่าไม่รู้ เดี๋ยวจะช่วยถามคนอื่นให้ หรือ ลองไปถามคนนั้นได้ไหม

ถ้ามีเพื่อนนัดไปงานเลี้ยงรุ่นเดือนหน้า ไม่ชัวร์ว่าไปได้ไหม ก็ตอบว่าไม่ชัวร์ ขอตอบใกล้ๆได้ไหม (ตอนใกล้ๆก็ต้องตอบด้วยนะ)

ถ้ามีคนมาถามว่าเชียร์บอลทีมไหน ไม่อยากตอบ ก็บอกว่าไม่ได้เชียร์

ถ้าลูกน้องมาถามอะไรที่ต้องใช้เวลาตอบนานแต่เราไม่ว่าง ก็ตอบว่า เดี๋ยวมีเวลาว่างช่วยมาตามใหม่ได้ไหม

บางอย่างถึงแม้ไม่ใช่คำถามก็ตอบได้

ถ้ามีคนบอกว่าพัสดุจะไปถึงวันจันทร์ ก็ตอบว่า รับทราบ

ถ้ามีคนปล่อยมุกฝืด ก็บอกไปว่า ไอ้บร้า

ถ้ามีคนส่ง 9gag แมวเต้น มาให้ ก็บอกไปว่า แม่งยอดวะ แมวอะไรวะ

ถ้ามีเพื่อนทักมาว่า เชี่ยเพิ่งได้กลับบ้านตอนตี 3 ก็ตอบไปว่า โหหหห โหดอะ

ฯลฯ

ไปลองกันดูนะ โดยเฉพาะที่เรียน ที่ทำงาน ฝึกไม่ยากเลย
ทำจนเป็นนิสัยแล้วจะดูยอดขึ้นมาทันที :)

February 14, 2016

ฉันเครียดที่สุด ฉันมีความสุขที่สุด




ฉันเครียดที่สุด


เคยอ่านจากกระทู้ที่ไหนซักที่

มีคนเป็นโรคซึมเศร้า เครียดเพราะเรื่องเงินเดือนน้อย
จากนั้นก็มีคนเข้ามาพยายามสอนว่า มีคนแย่กว่ามึงเยอะ มึงอะดีแล้วที่ยังมีงาน

แต่หนึ่งในคนที่มาตอบก็แสดงความเข้าใจเจ้าของกระทู้
เข้ามาอธิบายให้คนอื่นฟังว่า ด้วยการยกตัวอย่างคนคิดฆ่าตัวตายว่า
คนคิดฆ่าตัวตาย เค้าไม่มานั่งสนใจหรอกว่า ชีวิตคนอื่นแย่กว่าเค้าแค่ไหน
สิ่งที่อยู่ในหัวของเค้ามีแต่เรื่องของตัวเองวนไปวนมา

คนเป็นโรคซึมเศร้าก็เช่นกัน

แต่เอาเข้าจริงๆ มันไม่ได้หยุดแค่นั้น

ทุกๆคน (ใช้คำว่าคนส่วนใหญ่ดีกว่า น่าจะมีนักบุญที่ไม่สนใจเรื่องเครียดของตัวเองอยู่ในโลกนี้) ล้วนแต่หมกมุ่นกับเรื่องเครียดของตัวเองทั้งนั้น

เรื่องนี้เราเรียนรู้จากคนรอบข้างนี่เอง

ด้วยเส้นทางชีวิตที่เราเลือกและรสนิยมการทำกิจกรรมในเวลาว่าง
ทำให้เรามาอยู่ในสังคมที่ อายุเรามากกว่าคนรอบข้างประมาณ 10 ปี
เพื่อนสนิทๆด้วยทั้งหลายในปัจจุบันเป็นคนที่เรียน ป.ตรีอยู่

หลายๆครั้งเราพยายามบอกเด็กพวกนี้ว่า
ชีวิตนะมันไม่ได้มีแต่เรื่องเรียนกับเกรด
อย่าเครียดเรื่องเกรดมาก
บริษัทดีๆเค้าไม่ได้ดูเรื่องเกรดมากเท่าไรหรอก

พยายามปลอบเค้าด้วยการบอกว่า เนี่ยจริงๆมันไม่ได้แย่

แต่จริงๆแล้วในหัวของคนที่เครียดเรื่องเกรด
เรื่องเกรดเป็นเรื่องที่แย่มากๆๆๆๆๆๆๆ สมควรแก่การเครียดแล้ว

วิธีช่วย วิธีคุยกับคนเหล่านี้ ก็คือแสดงความเห็นใจล้วนๆ แล้วอย่าไป "ข่ม" ความเครียดของเค้า
การที่คนคนนึงเครียด
แล้วไปบอกเค้าว่า ชีวิตข้างหน้าเครียดกว่านี้อีกเยอะ
ไม่ทำให้คนฟังรู้สึกดีขึ้น

คำถามที่ตามมาก็คือ อ้าวแล้วอย่างนี้ ถ้าเราต้องการสอนใครซักคน จะสอนยังไงอะ
อันนี้สามารถไปอ่านโพสเก่าๆได้ 2 โพสคือ
1. วิธีการโน้มน้าวใจคน
2. วิธีการให้คำแนะนำที่ดีเพื่อให้เพื่อนคบกันต่อไป

ถ้าขี้เกียจอ่าน สรุปง่ายๆก็คือ
อยู่ๆอย่าไปพยายามสอนคนที่กำลังเครียด
ให้เราเน้นช่วยรับฟัง ช่วยเห็นอกเห็นใจคนเหล่านั้นก่อน
เค้าจะเกิดความไว้ใจเรา
เวลาเค้าไว้ใจเราเรื่อยๆถึงจุดหนึ่ง เค้าก็จะมาคุยกับเรา ขอคำแนะนำเราเอง
ถ้าเค้าเห็นว่าเราเป็นคนมีความสุข ไม่ค่อยเครียด วันนึงเค้าก็จะมาถามเราเองว่าทำยังไง
ถึงตอนนั้นระหว่างที่ให้คำแนะนำเค้าไปก็สอนๆไปพร้อมๆกันได้


ฉันมีความสุขที่สุด


เมื่อเรามองถึงความเครียดแล้ว
เราก็น่าจะมามองอีกฝั่งหนึ่งของกระจก ก็คือความสุขใช่ไหม

หลักการเดียวกันเลย

เคยมีเพื่อนประสบความสำเร็จ step เล็กๆในชีวิตไหม
เช่น "เอาเว้ย เค้ารับฝึกงานแล้วเว่ย" หรือ "ไชโย สอบผ่าน certificate แล้ว"
แม้มันจะเป็นความสำเร็จเล็กๆที่ไม่ใช่แบบ ผลงานที่เป็นที่ยอมรับระดับโลก หรือเป็นสร้างสิ่งมีชีวิตหนึ่งให้เกิดขึ้นมาให้เห็นโลก
แต่เป็นก้าวเล็กๆที่จะนำไปสู่เรื่องดีๆต่อไปในอนาคตได้

อันนี้เราสามารถดักคนพูดผิดได้ง่าย เพราะ การ "ข่ม" เรื่องดีใจมันชัดกว่า การข่มเรื่องเครียด

สำหรับตัวอย่าง ได้รับเข้าบริษัทตำแหน่งฝึกงาน
จะมีคนตอบประมาณว่า "ตกลงบริษัท (ที่เจ๋งกว่า) เค้าไม่รับเหรอ"
หรือแม้แต่ "ยินดีต้อนรับสู่ชีวิตการทำงาน" ที่ฟังดูไม่มีพิษมีภัย แต่เป็นการ ข่ม นัยๆ ว่าตัวเองนะอยู่ตรงนี้มาก่อน

ในจังหวะนี้ คนที่ดีใจกำลังคิดว่า เรื่องดีใจของเขานะสำคัญที่สุด
เราในฐานะเพื่อนที่ดี มีหน้าที่เดียวก็คือ "เย่!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!" ใส่แล้วก็จบ

ทำอย่างนี้แล้วเพื่อนมันก็จะมาเล่าเรื่องดีๆให้เราฟังเยอะ
แล้วสมองมันก็จะจับคู่เรากับเรื่องดีๆ
พอถึงวันนึงมันก็อาจจะขอคำแนะนำ เช่น อยากรู้เรื่องการใช้ชีวิตวัยทำงานให้เหมาะสม
ถึงตอนนั้นค่อยสอน ค่อย "ข่ม" ว่า การฝึกงานมันแค่เริ่มต้น แต่เดี๋ยวสอนให้ว่าทำยังไงต่อไป


สรุปก็คือ


คนเราทุกคน ก็จะมีเรื่องเครียดเรื่องมีความสุขเล็กๆน้อยๆเข้ามาเรื่อยๆ
แม้ว่าเรื่องพวกนั้นจะเป็นเรื่องเล็กๆ จากการมองด้วยความเป็นกลาง
แต่เรื่องนั้นก็คือเรื่องใหญ่ของคนเหล่านั้น
เราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับคนรอบข้างกันเป็นสังคม
การให้ความสำคัญกับเรื่องแย่หรือเรื่องดีของคนอื่นเป็นทักษะที่สำคัญมากในการดำเนินชีวิตและการสร้างเพื่อน

เอาหละ ได้เวลาไปปลอบใจ และ แสดงความยินดี กับคนรอบข้างละ

January 13, 2016

ทำอย่างไรเมื่อไม่มีเวลาทำงานพอ


เราติดตาม blog ที่ชื่อ Anontawong’s Musing มาซักพัก เป็นรุ่นพี่ที่ทำงานเก่า
จุดเด่นของ blog นี้คือหนึ่งปีที่ผ่านมา พี่รุตม์ (คนเขียน) มีโพสใหม่ให้อ่านกันทุกวัน
แต่ละโพสก็เจ๋งดี แถมมีความหลากหลายด้วย ลองเข้าไปอ่านกันดูนะ


เมื่อเร็วๆนี้ พี่รุตม์โพสเรื่องวิธีการเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่ง
ว่าจะทำยังไงให้มั่นใจว่า เราได้ทำงานที่สำคัญทุกวัน
ประกอบไปด้วยว่า ให้ทำงานนั้นก่อน ให้ทำสั้นๆพอ และให้รางวัลตัวเองหลังจากทำแล้ว


ชอบมาก


ก็เลยนำเข้ามาสู่เนื้อหาหลักของโพสนี้ที่ก็คือ
จะทำอย่างไรเมื่อเรา “ไม่มีเวลาทำงานพอ”


ในโลกแห่งความเป็นจริง งานเรามักจะถูกขัดจังหวะด้วยสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น meeting หรือการที่เพื่อนชวนกินข้าวเที่ยง หรือการที่มีคนนัดทำกิจกรรม ฯลฯ


ซึ่งถ้าเป็นคนที่จัดการเวลาตัวเองเก่งๆ จะสามารถวางแผนในแต่ละวัน หรือในแต่ละสัปดาห์ให้หลบเรื่องเหล่านี้ได้


แต่หลายๆครั้ง เรื่องพวกนี้ก็มักจะบานปลายหรือไม่คาดฝันขึ้นมา


หรือในกรณีส่วนตัวซึ่งให้ความสำคัญกับความสุขกับคนรอบข้างมากกว่าความสุขจากการทำงาน
อะไรก็ตามที่เป็นการใช้เวลากับเพื่อน จะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเสมอ
ทำให้การทำงาน ต้องโคจร รอบๆเวลาที่เหลืออยู่


แล้วสุดท้ายเราแทบจะไม่มีเวลาที่ต่อเนื่องก้อนใหญ่ๆ ไว้ทำงานจริงๆ


สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาบ่อยๆ
เมื่อเกิดขึ้น เรามักจะคิดว่า วันนี้ผ่านไปอีกแล้ว หมดเวลาอีกแล้ว


แต่จริงๆ เวลามันไม่ได้หายไปหรอก


เวลามันอยู่ตามซอกๆหลืบๆตะหาก


จริงๆแล้ว วันนึงเรามีเวลา 20 นาทีตรงนี้บ้าง 30 นาทีตรงนี้บ้าง รวมกันมันก็ได้เป็นชั่วโมงๆอยู่
แค่ไม่ใช่ชั่วโมงๆ ที่ต่อเนื่องเท่านั้นเอง


จากประสบการณ์เรียนบ้างทำงานบ้างสลับๆกันไปมาเป็นเวลา 15 ปี
โดยเฉพาะการทำงานที่จะต้องจัดการเวลาและตั้งเป้าหมายตัวเอง ไม่เห็นเจ้านายทุกวัน เช่น project เดี่ยว หรือ ทำงานใน start up หรือ การทำวิจัย
เราก็ได้ถูกฝึกทักษะอันนึงขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว แต่เป็นประโยชน์มากๆอันนึง ก็คือ ทักษะการหางานเล็กๆทำ


เรามักจะมีงานที่จะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
แต่เรามักจะมีเวลาว่าง 30 นาทีประปรายตามจุดต่างๆของวัน


มาถึงตรงนี้ก็มีทางเลือกอยู่


อย่างแรกก็คือไม่ทำเลย รอไปทำตอนทีหลัง ดึกๆ เมื่อมีเวลาทำงานเป็นก้อนใหญ่ๆ
เสร็จแล้วตอนดึก ก็เจออะไรที่เบี่ยงเบนความสนใจอีก เช่นกินข้าวอิ่ม ยังไม่มีอารมณ์ทำงานเต็มๆ 1 ชั่วโมง หรือ โทร facetime กับที่บ้านซึ่งอยู่คนละฟากโลก ก็จะทำให้ย้ายไปทำวันพรุ่งนี้แทน


หรือ หางานเล็กๆทำ ภายในเวลาน้อยๆที่มี

ซึ่งการหางานเล็กๆทำ มีสองแบบ


อย่างแรกก็คือ ย้ายงานชิ้นเล็กๆที่ตั้งใจจะทำอยู่แล้วมาทำตอนนั้น เช่น การจ่ายค่าน้ำค่าไฟ หรือการอ่านบทความสั้นๆที่เก็บไว้หนึ่งบทความ ดูบทเรียนบน coursera ซักหนึ่งตอน หรือแม้แต่การงีบ 30 นาทีก็เป็นการเพิ่มพลังงานในการทำงานอื่นทีหลัง (ว่าจะเขียนเรื่องการงีบระหว่างทำงานเร็วๆนี้)


อย่างที่สองก็คือ สร้างงานชิ้นเล็กๆขึ้นมาเอง ด้วยการแตกงานใหญ่ๆออกให้เป็นงานเล็กๆ เช่น


แทนที่จะเขียน blog ทั้งโพส ก็วางแผนการเขียน ว่าจะยกตัวอย่างอะไรบ้าง flow จากหัวข้อนึงสู่หัวข้อนึงจะทำยังไง เขียนหัวข้อแต่ละ paragraph ที่จะเอามาขยายต่อเตรียมไว้ หารูปที่จะเอามาลงเตรียมไว้


แทนที่พยายามอ่านบทความทางวิชาการให้เข้าใจทั้งหมด ก็อ่าน introduction กับ summary เท่านั้น ที่เหลือมาอ่านทีหลัง


แทนที่เราจะหาเวลาเขียนโปรแกรม 2-4 ชั่วโมง ให้อยู่ใน flow เราเอา 30 นาที มา refactor code บางส่วน หรือเขียน unit test เพิ่มเติม หรือเขียน document


การแตกงานย่อยๆมีประโยชน์ก็คือ


ฉะนั้น ใครที่คิดว่า วันนึง เวลาทำงานมันไม่พอ
ลองดูดีๆ ว่ามันมีเวลาว่างตรงนี้ตรงนั้น ตามซอกหลืบหรือไม่
บางที 20-30 นาที ถ้าเราใช้ความคิดสร้างสรรค์ซักนิด เราหางานที่ทำภายในเวลาน้อยๆได้ทั้งนั้นแหละ