February 19, 2019

เงิน + เวลา + พลังงาน = ฮอร์โมน

(สมการสายรุ้ง ขอบคุณพี่สาวที่ช่วยวาดรูปน่ารักๆให้)

เรามีเพื่อนคนนึง
ทุกครั้งที่มันมาบ้านเราจะต้องหาหนังดูกัน
ทีนี้เนี่ย หนังเรื่องใหม่ๆมันมักจะมายังไม่ถึง netflix
แต่ถ้าเรายอมจ่ายเงิน เราก็เช่าดูได้

แต่ไอ้เพื่อนคนนี้มันไม่เคยจะยอม
รายได้มันมหาศาล แต่มันไม่ยอมเสียเงินนิดๆหน่อยๆมาเช่าหนัง
มันจะต้องไปเสียเวลา โหลดหนังมาฟรี
ซึ่งบางทีคุณภาพก็กากกว่ากันเยอะ

เสร็จแล้วมันก็จะแฮปปี้ที่ได้ดูหนังฟรี
ส่วนเราก็ไม่เข้าใจ เพราะเสียเวลาดูหนังด้วยกันตั้งนาน
เพื่อประหยัดเงิน นิดๆหน่อยๆเนี่ยเหรอ

อีกหนึ่งตัวอย่าง

เราเป็นคนที่ ถ้าขับรถตามคนที่ขับช้า เราจะอยากแซง
ไม่ได้ก้าวร้าวอะไรนะ แค่อยากขับเร็วขึ้นจากประมาณ 80 กม/ชม เป็น 100 กม/ชม

ภรรยาของเราก็ไม่ค่อยจะเข้าใจเราเท่าไร
ถ้าเราขับรถไปใกล้ๆ แค่ 20 กม/ชม ที่เร็วขึ้น
มันทำให้ถึงร้านเร็วขึ้น ไม่เท่าไรเอง

ไอ้เรามันก็เป็นแค่คนสองมาตรฐาน
ไม่เก็ตไอ้เพื่อนที่โหลดหนังฟรี
แต่ตัวเองก็ทำอะไรที่ไม่คุ้มเหมือนกัน

เรามาลองคิดดูดีๆ แล้วก็คิดว่าได้คำตอบละ
มันเป็นเรื่องของการปรับจูนเรื่องหลักๆสามเรื่อง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

เราคิดว่านะ คนเราลงทุน
  1. เงิน
  2. เวลา
  3. พลังงาน
เพื่อที่จะ
  1. เพิ่มฮอร์โมนความสุข หรือ
  2. หลีกเลี่ยงฮอร์โมนความทุกข์

พอคิดงี้ทุกอย่างเริ่มกระจ่าง

กลับมา เรื่องเช่า vs โหลดหนัง
ในหัวของเพื่อน ถ้ายอมเช่า คือ มันแพ้ ฮอร์โมนความทุกข์จะเพิ่ม

แต่ถ้ายอมเสียเวลามันจะรู้สึกชนะ

หรือ พูดอีกอย่าง เงินมีค่ามากกว่าเวลาและพลังงาน

มาดูกรณีขับแซงบ้าง
ถ้าเราไม่เสียพลังงานเพื่อขับแซง เราจะรู้สึกว่า มันไม่ efficient ก็จะมีฮอร์โมนความทุกข์

แต่ถ้าเรายอมเสียพลังงาน (ทั้งๆที่เวลาแทบจะไม่ได้เสีย) เราก็รู้สึก efficient

จากที่สังเกต
สิ่งที่มักจะกำหนดพฤติกรรมของคน คือ เรื่องการหลบความทุกข์ระยะสั้น
ถึงแม้ว่าความสุขระยะยาวมันจะมากกว่า

ถ้าไม่เสียเวลาโหลดหนัง เราจะมีเวลาเล่นเกมกันนานขึ้นกับเพื่อน
ถ้าไม่เสียพลังงานพยายามขับแซง เราจะอารมณ์ดีกว่า เมื่อไปถึงร้านอาหารกับภรรยา

เราพบว่า การเข้าใจสมการนี้มันช่วยได้สองเรื่อง

อย่างแรก คือ เราจะเข้าใจพฤติกรรมของคนอื่นมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นไอ้เพื่อนที่มันงกไปทุกเรื่อง (เสียเงิน ทำให้ความทุกข์เพิ่ม)
หรือไอ้เพื่อนที่มัวแต่เล่นเกม ไม่มาใช้เวลาด้วยกัน (ลงทุนเวลากับเกมให้ความสุขมากกว่า)

อย่างที่สอง คือ มันทำให้เรามองชีวิตเราได้กว้างขึ้น
เวลาเสียเงิน เสียเวลา หรือเสียพลังงาน ไปกับอะไรซักอย่าง
มันทำให้ความสุขระยะยาวจริงขึั้นหรือไม่

เรารู้สึกว่า คนเราไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไรก็ตาม
ก็ต้องเอา เงิน เวลา พลังงาน เข้ามาคิด
และจะต้องลงทุนสามอย่างนี้ระยะยาว

ขอลงเรื่อง คำว่า "ระยะยาว" อีกนิดนึง
คำว่าระยะยาว จริงๆ หมายถึง "ในระยะเวลาที่เหลือในชีวิต"

เช่น ถ้าเราอายุ 30 และกะว่าจะมีชีวิตอีกประมาณ 70 ปี
ถ้าเราลงทุน เงิน เวลา พลังงาน เรียน ป.เอก 10 ปี
เพื่อแลกกับการอยู่แยกกับภรรยา

ถ้าไม่เรียน เราก็มีความสุข


แต่ถ้าเรียน มันจะทำให้เรามีความเติบโต ขึ้นในทุกๆด้าน
ทำให้ อีก 60 ปีหลังเรียนจบ เป็นชีวิตที่มีรสชาติขึ้น
เราก็น่าจะลงทุน



แต่ในทางกลับกัน
ถ้าเป็นมะเร็ง หมอบอกว่า น่าจะไม่เกิน 5 ปี
ถ้าเราเรียน ป.เอก ยังไม่ทันจบก็ตาย

ก็น่าจะเอาทุกอย่างไปลงทุนกับคนที่เรารัก แทนที่จะมานั่งเรียน ป.เอก ใช่ปะ


ก่อนจบ มีเรื่องน่าสังเกตอีกหนึ่งเรื่อง

พลังงาน ใช้เวลาพักผ่อนแล้วก็กลับมา
เวลา ไม่มีทางได้คืนมา คนอายุสั้น หรือ คนแก่ มีเวลาน้อยกว่าคนอื่น
และ เงิน บางทีซื้อเวลาและพลังงานได้
(เช่น การนอนโรงแรมแพงกว่า แต่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวกว่า)

สุดท้ายแค่อยากจะบอกว่า
สิ่งที่ทำให้เกิดความสุข กับ สิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ของแต่ละคนมันไม่เหมือนกันอะ
คนมักจะโดนความทุกข์ขวาง จนลืมคิดไปว่า
จริงๆการเอาเงิน เวลา และ พลังงานไปลงทุนกับอะไรที่เป็นความสุขในระยะเวลาที่เหลือในชีวิต มันคุ้มกว่า