December 06, 2015

คนชอบแข่งขันมักจะไม่ยินดีกับคนอื่น



ชื่อโพสจริงๆเป็นแค่ประโยตตัวอย่างที่จะใช้ในโพสนี้บ่อยๆ

จุดประสงค์จริงๆของโพสนี้คือการมาพูดคุยเรื่องตรรกศาสตร์กับดราม่า

ท้าวความก่อน

การเล่นเฟสบุคมันมีประโยชน์อย่างนึงตรงที่ได้สังเกตพฤติกรรมของคนเนี่ยแหละ

หลายๆครั้งมักจะมีเรื่องดีๆเกิดกับเพื่อน
ทีนี้เพื่อนก็เลยมาแชร์บนเฟสบุค

แล้วก็จะมีเพื่อนที่เราสังเกตกลุ่มนึง
มีอะไรดีๆเกิดกับเพื่อนในเฟสบุค ก็จะเข้ามายินดีด้วย
เราคิดว่าคนพวกนี้น่ารักดี

"คนที่ยินดีกับคนอื่นเป็นคนน่ารัก"

แล้วหลังจากนั้นมันจะมีเพื่อนอยู่ประเภทนึง
บุคลิกของคนเหล่านี้เป็นคนขยัน เก่ง ผ่านเรื่องดีๆที่เพื่อนเคยเจอมาอย่างง่ายดาย
เลยอาจจะคิดว่า ไม่น่าจะต้องดีใจขนาดนั้นเลยเข้ามาข่ม ถึงไม่ข่ม แต่ก็ไม่แสดงความยินดี
เราคิดว่าพวกนี้น่าจะเป็นพวกชอบแข่งขัน
เราลองสังเกตดู คนเหล่านี้แทบไม่เห็นคำยินดีหลุดมาเลย

"คนชอบแข่งขันมักจะไม่ยินดีกับคนอื่น"

เอาสองประโยคมารวมกัน
"คนชอบแข่งขันมักจะไม่ยินดีกับคนอื่น"
"คนที่ยินดีกับคนอื่นเป็นคนน่ารัก"

สรุปได้ว่า "คนชอบแข่งขันไม่น่ารัก" ใช่ไหม

ผิดเฟร้ย

ตรรกศาสตร์ตอน ม.4 เคยสอนไว้
จำได้ไหม "ถ้า...แล้ว..."

สมมติว่า ทากามูระ บอกว่า "ถ้าฝนตกแล้วพื้นเปียก"

มีกรณีไหนบ้างที่เราจะบอกได้บ้างว่า ทากามูระพูดผิด

สมมติว่าฝนตกแล้วพื้นเปียก อันนี้ ทากามูระ พูดถูก
สมมติว่าฝนตกแล้วพื้นไม่เปียก อันนี้ ทากามูระ พูดผิด

สมมติว่าฝนไม่ตกแล้วพื้นเปียก อันนี้ ทากามูระ ไม่ผิดนะ
เพราะ ทากามูระ พูดถึงกรณีที่ฝนตก
ถ้าฝนไม่ตกตั้งแต่แรก มันไม่อยู่ในกรณีที่ทากามูระพูดถึง ไปหาเรื่องเค้าไม่ได้

สมมติว่าฝนไม่ตกแล้วพื้นไม่เปียก อันนี้ ทากามูระ ก็ไม่ผิด
เพราะ ทากามูระ พูดถึงกรณีที่ฝนตก
ถ้าฝนไม่ตกตั้งแต่แรก มันไม่อยู่ในกรณีที่ทากามูระพูดถึง ไปหาเรื่องเค้าไม่ได้

"ถ้า A แล้ว B" จะเป็นเท็จ กรณีเดียวเท่านั้น
คือ A เป็นจริง (ฝนตก)
แล้ว B เป็นเท็จ (พื้นไม่เปียก)

มีการตีความอีกอย่างที่สามารถทำได้ ตามหลักตรรกศาสตร์คือ กลับด้าน
การพูดว่า "ถ้า A แล้ว B" มีความหมายเดียวกันกับ "ถ้าไม่ B แล้วไม่ A"
จะตีความยังไงก็ได้ ถูกต้องเหมือนกัน

ฉะนั้นถ้าประโยคของ ทากามูระ สามารถตีความได้อย่างถูกต้องตามหลักตรรกศาสตร์ว่า
"ถ้าพื้นไม่เปียก (ไม่ B) แล้วแสดงว่าฝนไม่ได้ตก (ไม่ A)"



พูดมาทั้งหมดนี้เราลองกลับไปดูตัวอย่างแรกกัน

ถึงแม้ว่า ภาษาไทยอาจจะไม่ได้ใช้คำว่า "ถ้า...แล้ว..." ตรงๆ
แต่หลายๆครั้งคนก็ต้องการสื่ออย่างนั้น

"คนชอบแข่งขันมักจะไม่ยินดีกับคนอื่น"

ตีความได้ว่า "ถ้าเป็นคนชอบแข่งขัน แล้วมักจะไม่ยินดีกับคนอื่น"
และถ้าตีความกลับด้านแบบถูกกฎ
ตีความได้ว่า "ถ้ามักจะยินดีกับคนอื่น แล้วแสดงว่าไม่ได้เป็นคนชอบแข่งขัน"

อีกประโยค
"คนที่ยินดีกับคนอื่นเป็นคนน่ารัก"

เราตีความว่า "ถ้าเป็นคนที่ยินดีกับคนอื่น แล้วแสดงว่าเป็นคนน่ารัก"
และถ้าตีความกลับด้านแบบถูกกฎ
ตีความได้ว่า "ถ้าเป็นคนไม่น่ารัก แล้วจะไม่ยินดีกับคนอื่น"



หลายๆครั้ง คนเรามักจะสับสัน
เข้าใจประโยค "ถ้า...แล้ว..."
เป็นประโยค "... ก็ต่อเมื่อ ..."

บางคนได้ยิน "ถ้ายินดีกับคนอื่น แล้วเป็นคนน่ารัก"
แล้วตีความผิดๆว่า "คนจะยินดีกับคนอื่น ก็ต่อเมื่อเป็นคนน่ารัก"
หรือ "คนที่ยินดีกับคนอื่น เป็นคนน่ารักเท่านั้น ไม่มีคนประเภทอื่น"

ทีนี้เวลาตีความ "A ก็ต่อเมื่อ B"
ตามกฎตรรกศาสตร์ตีความได้หลายแบบ
ตีความว่า "B ก็ต่อเมื่อ A" ก็ได้ (คนน่ารัก จะยินดีกับคนอื่น) ก็ได้
ตีความว่า "ไม่ B ก็ต่อเมื่อไม่ A" (คนไม่น่ารัก จะไม่ยินดีกับคนอื่น) ก็ได้
ตีความว่า "ไม่ A ก็ต่อเมื่อไม่ B" (คนไม่ยินดีกับคนอื่น ไม่น่ารัก) ก็ได้

เวลาตีความแบบนี้ ก็เกิดดราม่าได้เยอะแยะ
เพราะมันมีวิธีตีความในแง่ลบได้ หลายวิธีกว่า

ทั้งๆที่เจ้าของประโยค ตั้งใจจะพูดว่า "ถ้า...แล้ว..." เฉยๆ

พอคนตีความผิดๆก็เลยเกิดการถกเถียงที่ไม่จำเป็นขึ้นมา
แล้วการถกเถียงที่ไม่จำเป็น ก็เป็นหนึ่งที่มาของดราม่านั้นเอง



ทีนี้ลองมาดูกรณี ฮอนดะ พูดคุยกับ ซานกีฟ กันดู

ตัวอย่าง 1

ฮอนดะ: "เฮ้ย ซานกีฟ กูไม่ค่อยเห็นมึงยินดีกับคนอื่นเท่าไรเลย"
ฮอนดะ: "คนชอบแข่งขันมักจะไม่ยินดีกับคนอื่น"
ซานกีฟ: "มึงจะบอกว่ากูชอบแข่งขันเหรอ"
(คุยกันเสร็จ ฮอนดะกับซานกีฟ ต่อยกัน)

ซานกีฟ ตีความผิด สับสน "ถ้า แล้ว" กับ "ก็ต่อเมื่อ" เกิดดราม่า
ที่ฮอนดะพูดตีความได้แค่ว่า
"ถ้า เป็นชอบแข่งขัน แล้ว มักจะไม่ยินดีกับคนอื่น"
"ถ้า มักจะยินดีกับคนอื่น แล้วเป็นคนไม่ชอบแข่งขัน"
มันเอามาเชื่อมกันให้เป็น ซานกีฟชอบแข่งขันไม่ได้

ซานกีฟ ลอจิกผิด
ไม่มีประโยคไหนที่ขึ้นต้นด้วย "ถ้าเป็นคน ไม่ยินดีกับคนอื่น แล้ว ..."

ตัวอย่าง 2

ฮอนดะ: "เฮ้ย ซานกีฟ กูไม่ค่อยเห็นมึงยินดีกับคนอื่นเท่าไรเลย"
ฮอนดะ: "คนชอบแข่งขันมักจะไม่ยินดีกับคนอื่น"
ฮอนดะ: "คนที่ยินดีกับคนอื่น เป็นคนน่ารัก นะเว่ย"
ซานกีฟ: "มึงจะบอกว่ากูไม่น่ารักเหรอ"
(คุยกันเสร็จ ฮอนดะกับซานกีฟ ต่อยกัน)

ซานกีฟ ตีความผิด สับสน "ถ้า แล้ว" กับ "ก็ต่อเมื่อ" เกิดดราม่า
ที่ฮอนดะพูดตีความได้แค่ว่า
"ถ้า เป็นคนชอบแข่งขัน แล้ว มักจะไม่ยินดีกับคนอื่น"
"ถ้า มักจะยินดีกับคนอื่น แล้วเป็นคนไม่ชอบแข่งขัน"
"ถ้า มักจะยินดีกับคนอื่น แล้วเป็นคนน่ารัก"
"ถ้า เป็นคนไม่น่ารัก แล้ว มักจะไม่ยินดีกับคนอื่น"
วิธีการตีความข้างบน มันเอามาเชื่อมกันว่า "ถ้าเป็นคนไม่ยินดีกับคนอื่น แล้วเป็นคนไม่น่ารัก" ไม่ได้

ฉะนั้น สำคัญมาก เรื่องการตีความประโยคคนอื่น
เราเชื่อว่า ถ้าคนเราแค่แยก "ถ้าแล้ว" กับ "ก็ต่อเมื่อ" ออก
จะลดดราม่าไปได้เยอะเลยทีเดียว



อะ ทีนี้ สมมติว่าเราตีความถูกแล้ว
คราวนี้แหละ ทำยังไงถึงจะถกเถียงให้มีประโยชน์ได้

สำหรับ "ถ้า A แล้ว B" เรารู้สึกว่ามีการถกเถียงที่เกิดประโยชน์ได้หลายๆทาง

กลับมาดูตัวอย่าง "ถ้าเป็นคนชอบแข่งขัน แล้วมักจะไม่ยินดีกับคนอื่น"
การถกเถียงที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ คือ การแก้ประโยคให้มัน "กระชับ" ขึ้น

เราจะเถียงได้ในกรณีที่ "เป็นคนชอบแข่งขัน (A) แต่ดันยินดีกับคนอื่น (ไม่ B)"

อาจจะเถียงว่า
"การคิดว่าคนชอบแข่งขัน ไม่ยินดีกับเพื่อน มันหว่านเกินไปว่ามันจะไม่ยินดีด้วยตลอดไป
เรามีเพื่อนชอบแข่งขัน มันก็ยินดีกับเพื่อนนะ
ควรจะพูดหว่านให้น้อยกว่านี้หน่อย พูดให้มันกระชับขึ้น เช่น
คนชอบแข่งขัน ผ่านเรื่องน่ายินดีมาเยอะกว่าคนอื่น (ก็เลยไม่ตื่นเต้นกับความสำเร็จคนอื่นเท่ากับคนทั่วไป)"

หรืออาจจะเถียงว่า
"การคิดว่าคนชอบแข่งขันทุกคนเหมือนกัน มันหว่านเกินไปว่า คนชอบแข่งขันเป็นเหมือนกันทุกคน
ควรจะพูดหว่านให้น้อยกว่านี้หน่อย พูดให้มันกระชับขึ้น เช่น
คนที่อยากเอาชนะคนอื่นด้วยทุกวิถีทาง มักจะไม่ยินดีด้วยกับคนอื่น"



มาถึงขั้นนี้แล้ว ทุกคนที่อ่านคงจะพร้อมไปตีความประโยคของคนอื่นแบบถูกต้อง
พอตีความแล้วเท็จ ก็สามารถถกเถียงให้เกิดประโยชน์ได้

ผิดเฟร่ย

ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถจะมาถกเถียงได้ทุกเมื่อ

สมมติว่าวันนึงเกิดชอบ ผู้หญิงคนนึงขึ้นมา ก็จีบซะ
วันนึงผู้หญิงคนนั้นเป็นเมนส์ ฮอร์โมนแปรปรวน
ถ้าผุ้หญิงคนนั้นเกิดพูดประโยคอะไร ที่ลอจิกมัน "ไม่กระชับ" ขึ้นมา
ผู้ชายคนไหนที่พยายามถกเถียงเพื่อให้เกิดผลประโยชน์
ขอนับถือในความกล้าหาญ แล้วขออวยพรให้ผู้หญิงคนนั้นไม่ขอเลิกนะ

มนุษย์มีสมอง สมองมีส่วนใช้เหตุผลและความรู้สึก
ถึงแม้ว่าเราจะตีความถูก แล้วประโยคที่ฝ่ายตรงข้ามพูดออกมาผิดแค่ไหนก็ตาม
ถ้าเราเห็นว่า ความสัมพันธ์ของเรากับคนคนนั้นสำคัญกว่า การถกเถียงให้เกิดความรู้ (แต่อาจจะทำให้อีกฝ่ายเสียความรู้สึกได้)
ก็ยับยั้งช่างใจไว้นิดนึง อย่าไปถกเถียงนะ



สุดท้ายนี้ ขอสรุปว่า

การที่เราตีความประโยคที่คนอื่นพูดออกมาให้ถูก
รู้จักแยกแยะ "ถ้า...แล้ว..." กับ "...ก็ต่อเมื่อ..." ได้
เท่านี้ก็ลดดราม่าไปได้เยอะแล้ว เพราะวิธีตีความที่ถูกต้องตามกฎตรรกศาสตร์มันน้อยลง
พอมีวิธีตีความน้อยลง ก็แปลว่ามีโอกาสตีความในแง่ลบได้น้อยลง

แต่ถ้าตีความถูกแล้ว ยังไม่เห็นด้วยกับประโยคนั้นอยู่ดี
การถกเถียงก็ทำให้เกิดประโยชน์ได้ เพราะ ได้ความรู้เพิ่ม
ซึ่งความรู้ที่เพิ่ม ก็มักจะเป็น การกระชับความคิดที่มันหว่านกว้างเกินไป

แต่เราก็ยังต้องคำนึงในใจไว้เสมอว่า
คนเรามันมีอารมรณ์ด้วย ไม่ได้เป็นมนุษย์เหตุผลเสมอไป
จะถกเถียงให้เกิดผลประโยชน์ ดูกาละเทศะด้วย